30 พ.ค. 2020 เวลา 07:20 • การศึกษา
4 สิ่งประดิษฐ์จีนยุคใหม่ สู่โลกที่ไฉไลกว่าเดิม
ถ้าย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่า สิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ 4 อย่างที่ทำให้คนจีนภาคภูมิใจก็คือ เข็มทิศ กระดาษ ดินปืน และแท่นพิมพ์ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีอิทธิพลเฉพาะในประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบกว้างไกล ทำให้เกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยีไปทั่วโลก
เข็มทิศใช้กับการสำรวจทางทะเล การผลิตกระดาษและแท่นพิมพ์กลายเป็นการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ส่วนดินปืนทำให้เกิดความก้าวหน้าในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหาร
ในยุคปัจจุบัน ยังมีอีก 4 สิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนจีนและเปลี่ยนชีวิตคนทั้งโลกไปด้วยเช่นกัน แม้ว่าสิ่งประดิษฐ์เหล่านั้นจะไม่ใช่จีนเป็นผู้ประดิษฐ์ หรือคิดค้นเป็นรายแรกของโลก แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า จีนนำมาพัฒนาต่อยอดและใช้จนคนทั้งโลกต้องยอมรับ และปรับเปลี่ยนตามกันแทบไม่ทัน ไปดูกันว่าจะมีอะไรบ้าง
รถไฟความเร็วสูง
รถไฟความเร็วสูง ที่เชื่อมโยงคนทั่วประเทศ จะเห็นได้ว่ายุคนี้ คนจีนที่อยู่นอกเมืองจำนวนมากนั่งรถไฟฟ้าเข้ามาทำงานในเมืองได้อย่างสบาย ๆ รวดเร็วทันเวลา ไม่ต้องแออัดยัดเยียด หรือเสียเงินเสียทองซื้อคอนโดแคบ ๆ แพง ๆ อยู่ในเมือง
ตามคำนิยายของ EU รถไฟความเร็วสูงหมายถึง รถไฟที่สามารถวิ่งด้วยความเร็วอย่างน้อย 250 กม. / ชม.บนรางแบบใหม่ หรือวิ่งด้วยความเร็วอย่างน้อย 200 กม. / ชม. บนรางแบบเก่า แต่ของใครเร็วกว่าไม่ใช้ประเด็น ประเด็นคือ ตามบันทึกขององค์กรการรถไฟโลก (Worldwide Rail Organisation) บริการรถไฟความเร็วสูงครั้งแรกของโลก คือ รถไฟชินคันเซ็นของญี่ปุ่น ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 1964 แต่จีนเปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2008 (สายปักกิ่ง – เทียนจิน) เมื่อครั้งเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก
จักรยานแชร์ริ่ง หรือแอปพลิเคชั่นยืมจักรยาน
แอปพลิเคชั่นแชร์จักรยาน มีหลักการง่าย ๆ ว่า ใคร ๆ ก็ใช้จักรยานได้ เพียงแค่มีแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ก็สามารถปลดล็อกจักรยานที่จอดไว้ให้ตามที่ต่าง ๆ พอใช้เสร็จก็ใช้แอปพลิเคชั่นล็อกจักรยานจอดคืนไว้ตรงไหนก็ได้ ที่ไม่กีดขวางการจราจร เพื่อให้คนอื่น ๆ ที่มีแอปพลิเคชั่นเดียวกันมาใช้งานต่อได้
วิธีการนี้ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการติดตาม สะท้อนภาพการเป็นสังคมของการแบ่งปัน (Sharing Economy) แถมยังช่วยลดมลภาวะ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่สำคัญราคาถูก เพียงชั่วโมงละ 1 หยวน หรือประมาณ 5 บาท จึงเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาก และเป็นต้นแบบที่นำไปใช้ในประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น สิงคโปร์ และ สหราชอาณาจักร
ถึงแม้จักรยานแชร์ริ่งจะเป็นพาหนะบ้านคู่เมืองจีน แต่ว่า!! จริงๆแล้วแนวคิดนี้เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ในช่วงทศวรรษที่ 1960 โดย Provo (กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม) ภายใต้ชื่อโครงการ “White Bicycle Plan” ซึ่งเวลานั้นทางตำรวจเกรงว่าจะกระตุ้นให้เกิดการลักขโมยในสังคมมากขึ้น โครงการดังกล่าวจึงต้องยุติไป อย่างไรก็ดี.. เรื่องของเทคโนโลยีเช่า – จอดได้ทุกที่ผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือเป็นแนวคิดซึ่งริเริ่มโดยบริษัทจักรยานแชร์ริ่งยักษ์ใหญ่อย่าง MOBIKE กับ OFO เป็นที่แรก
การค้าบนโลกออนไลน์
e-commerce หรือร้านค้าปลีกออนไลน์ เป็นการปฏิวัติระบบค้าขาย ที่ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน หรือถ้ามี ก็เป็นการเพิ่มช่องทางให้ขายของได้มากขึ้น สามารถทำการค้าได้จากทุกที่ แม้กระทั่งเกษตรกรหรือชุมชนในต่างจังหวัด ก็สามารถขายผักผลไม้หรือสินค้าพื้นเมืองผ่านระบบออนไลน์ ไปให้คนที่อยู่ต่างถิ่นทั่วประเทศ หรือส่งออกไปขายต่างประเทศก็เยอะแยะ
ทุกวันนี้ กระแสการซื้อของออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างสูงในจีน ทำให้ธุรกิจประเภทนี้ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ชาวบ้านในต่างจังหวัดจึงมีช่องทางทำมาหากินได้มากขึ้น แถมมาด้วยอาชีพบริการส่งของออนไลน์ที่เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ช่วยเพิ่มงาน เพิ่มเงิน กระจายรายได้มากมาย
หากพูดถึงอีคอมเมิรซ์สมัยนี้ใครๆก็ต้องคิดถึงแพลต์ฟอร์มTaobao Tmall JD จนเกิดเป็นความเข้าใจผิดไปแล้วว่า #แจ็คหม่าเป็นผู้คิดค้นอีคอมเมิรซ์โลก ทั้งที่ความจริงแนวคิดต้นกำเนิดของธุรกิจนี้มากจากนายไมเคิล อัลดริช เมื่อปี 1979 เขาใช้เทคโนโลยี "วิดีโอเทคส์" (Videotex)” ซึ่งเกิดจากการเชื่อมต่อทีวีธรรมดาเข้ากับคอมพิวเตอร์ของร้านค้าในพื้นที่ผ่านสายโทรศัพท์เพียงเท่านั้น!! ซึ่งอีคอมเมิร์ซแบบในปัจจุบันเกิดขึ้นช่วงปี 1990 หลังจากที่ Amazon และ eBay เปิดให้บริการเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
2
การใช้จ่ายบนอินเตอร์เน็ต หรือการจ่ายเงินผ่าน qr code
e-payment หรือธุรกรรมการเงินออนไลน์ ที่ทำให้คนจีนกระโดดข้ามหลาย ๆ ประเทศไปสู่สังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society เป็นยุคที่ใครจะไปไหน ก็ไม่ต้องพกกระเป๋าสตางค์ แค่มีมือถือ จะกินจะซื้ออะไร ก็ใช้นิ้วจิ้มหน้าจอสั่งได้ จ่ายค่าบริการได้ ไม่ต้องแตะเงินสด
จีนเป็นสังคมไร้เงินสดแห่งแรกของโลก แต่ไม่ใช่ประเทศแรกที่ใช้จ่ายผ่านโมบายเพย์เมนท์นะจ้ะ เพราะโมบายเพย์เมนท์เกิดขึ้นครั้งแรกในฟินแลนด์เมื่อปี 1997 จากการรายงานของสื่อท้องถิ่นฯ ระบบดังกล่าวถูกคิดค้นโดยบริษัทเทเลคอมฟินแลนด์เพื่อให้ประชาชนจ่ายเงินค่าตู้เพลงและตู้กดน้ำด้วยการโทรเข้าตู้โทรศัพท์ ในขณะที่บางคนก็บอกว่าการชำระเงินผ่านมือถือครั้งแรก คือ "แอปเปิลเพย์" ของบริษัทแอปเปิล อย่างไรก็ตาม.. ตอนนี้โมบายเพย์เมนท์ของจีนก็ก้าวหน้ากว่าชาติอื่นไปแล้ว มือถือเครื่องเดียวก็ใช้จ่ายได้ทั้งในและต่างประเทศ แถมยังไม่มีค่าธรรมเนียมแอบแฝงอีก
4 สิ่งที่แพร่หลายในจีนตอนนี้ เป็นตัวอย่างของนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ที่มีการพัฒนาขึ้นใหม่ ๆ ทุกวัน ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ได้กระทบแค่จีนเท่านั้น แต่มีผลไปทุกที่ทั่วโลก แต่จีนเลือกที่จะปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลง และถือเป็นความท้าทาย เป็นโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง มาสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศได้อย่างกลมกลืนกับสภาพสังคม โดยสามารถพัฒนาชีวิตประชาชนได้ทุกระดับ
เรียกได้ว่า จีนเปลี่ยนเพราะปรับตัว ยุคนี้หากใครไม่ปรับ ใครไม่เปลี่ยน ก็ต้องปวดตับ ขยับตัวสู่โลกอนาคตได้ลำบาก อาจตกขบวนไม่สามารถแข่งขันหรืออยู่กับโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวันได้
และถ้าจีนไม่เลือกที่จะปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง เราก็คงไม่ได้เห็นจีนยืนอยู่บนเวทีโลกอย่างยิ่งใหญ่ ในฐานะหนึ่งในมหาอำนาจ ที่ซีกโลกตะวันตกเกรงใจอย่างทุกวันนี้
โฆษณา