Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
In My Humble Opinion
•
ติดตาม
30 พ.ค. 2020 เวลา 08:05 • สุขภาพ
สงครามยังไม่จบ
การต่อสู้กับโควิด-19 ในครั้งนี้ มีคนมากมายเปรียบเทียบกับการทำสงคราม นอกจากสงครามระหว่างมนุษยชาติกับเชื้อไวรัสแล้ว ก็ยังมีสงครามระหว่างเผ่าพันธุ์มนุษย์ด้วยกันเอง ที่เห็นชัดเจนก็ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน
ดังนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบกับการทำสงครามระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา จะมีแง่มุมไหนที่น่าคิดบ้าง
ยุทธศาสตร์ที่แตกต่าง
จีนได้สร้างความตื่นตะลึงให้กับโลกเป็นอันมาก ในการที่ใช้ยุทธการปิดล้อม โดยการปิดเมืองอู่ฮั่นและมณฑลเหอเป่ยซึ่งเป็นแหล่งต้นตอของการระบาด เพราะน่าจะเป็นครั้งแรกของโลกที่ทำการ lockdown กลุ่มประชากรจำนวนมหาศาลขนาดนี้ พร้อมกับการสร้างโรงพยาบาลขึ้นมาใหม่ในเวลาเพียงสองสัปดาห์ บางคนบอกว่าที่จีนทำได้เพราะปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ แต่แท้จริงแล้วจีนทำได้เพราะระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากกว่า พร้อมทั้งการนำเทคโนโลยีด้าน IT มาช่วย ถึงตอนนี้ต้องบอกว่าจีนประสบผลสำเร็จตามที่คาดหวัง และวิธีการที่จีนใช้กลายเป็นต้นแบบให้หลายๆ ประเทศใช้ตาม
ในขณะเดียวกัน แม้ว่าจะมีเวลาพอสมควรกว่าที่เชื้อโควิด-19 จะไปถึง โลกตะวันตกทั้งยุโรปและอเมริกากลับปล่อยเวลาทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย เพราะไปคิดเอาเองว่า โรคนี้ก็เหมือนไข้หวัดธรรมดา บางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรคิดไปถึงยุทธศาสตร์การใช้ภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ herd immunity ก่อนที่จะกลับลำภายหลัง หรือ บางประเทศก็ยังคงใช้อยู่ เช่น สวีเดน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้ยุโรปและอเมริกากลายเป็นศูนย์กลางการระบาดใหม่และมีคนตายอย่างมากมาย กลับเป็นเพราะการตัดสินใจที่ช้า ไม่ทันการณ์ของผู้นำประเทศ ทำให้มีผู้ป่วยที่ท่วมท้นเกินกว่าที่ทรัพยากรในระบบสาธารณสุขจะรับไหว ในที่สุดก็ต้องกลับมาใช้วิธีการที่ชาติตะวันออกทำมาก่อน เช่น physical distancing หรือ การใส่หน้ากาก และก็ได้ผลจริงๆ คือชะลอการระบาดลงได้
อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่า จีนสามารถจำกัดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จนถึงศูนย์รายก่อนจะผ่อนคลายมาตรการ ในขณะที่ ชาติตะวันตกนั้น ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจำนวนพอสมควร แต่ทนแรงกดดันด้านเศรษฐกิจไม่ไหวต้องผ่อนคลายมาตรการหลายอย่าง ดังนั้น จะยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ไปเรื่อยๆ ในอัตราที่ระบบสาธารณสุขจะรองรับไหว
อย่าเพิ่งนับศพทหาร
คำพูดที่ว่า “สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร” ย้ำเตือนว่าอย่าประมาทเด็ดขาด ชัยชนะในเบื้องต้นอาจแปรเปลี่ยนเป็นความพ่ายแพ้ในตอนจบก็เป็นได้
จีนแม้ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคเป็นอย่างดี แต่อย่าลืมว่าสัดส่วนประชากรจีนที่ยังไม่ติดเชื้อและน่าจะยังไม่มีภูมิคุ้มกันมีสูงอย่างยิ่ง หมายความว่าการระบาดระลอกที่สองหรือสาม อาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ หากมีการเล็ดรอด หรือการเปิดประเทศเมื่อใด โรคก็พร้อมจะระบาดเมื่อนั้น นั่นหมายความว่า จีนจะต้องเข้มงวดกับการปิดประเทศไปเรื่อยๆหรือ ปัจจัยสำคัญน่าจะอยู่ที่วัคซีน หากผลิตได้เร็วจะเป็นตัวชี้ขาดชัยชนะอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคำถามเกี่ยวกับวัคซีนที่ยังไม่รู้คำตอบอยู่อีกมาก เช่น จะป้องกันได้จริงหรือไม่ จะมีผลข้างเคียงรุนแรงหรือไม่ ภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้นานแค่ไหน
ถ้ามองในแง่เลวร้ายที่สุด หรือ worst case scenario ก็คือ ผลิตวัคซีนไม่ได้หรือไม่มียาที่รักษาได้ผล จีนรวมทั้งประเทศที่ใช้แนวทางเดียวกัน อาจจะตกที่นั่งลำบาก เพราะเมื่อสถานการณ์ดำเนินไปเรื่อยๆ นานเข้า ประเทศตะวันตกที่ดูเหมือนเพลี่ยงพล้ำในช่วงแรกจะมีสัดส่วนของประชากรที่มีภูมิคุ้มกันมากพอที่จะไม่เกิดการระบาดใหญ่ และสามารถเดินหน้าสร้าง productivity ได้อย่างเต็มที่
จีนอาจจะชนะศึกแต่แพ้สงครามก็เป็นไปได้
อย่างไรก็ตาม หากย้อนเวลาได้ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็คงยังเลือกวิธีการแบบจีน เพราะชีวิตไม่ว่าอย่างไรก็มีคุณค่าเสมอ
บันทึก
9
4
1
9
4
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย