30 พ.ค. 2020 เวลา 08:20
เคล็ดลับในการเขียนบทความวิชาการ
ยุคของของความรวดเร็วทางวิชาการและการเชื่อมต่อเป็นเครือข่ายทั่วโลก นักวิชาการต้องพัฒนาตนเองทั้งหลักวิชาการและการสื่อสารสังคม การเขียนบทความวิชาการที่ดีและรวดเร็วนั้นไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป ผู้เขียนควรคำนึงดังนี้
 
1. เป็นพหูสูต อ่านมาก ฟังมาก และวิเคราะห์ให้มากตามไปด้วย การมีแนวคิดในการเขียนบทความวิชาการจะต้องมีบรรยากาศและแรงกระตุ้นให้เกิดการเขียน ซึ่งเป็นแรงขับภายในที่สืบเนื่องจากภาวะล้นของความรู้ (knowledge overload) ถ้าอยู่ในบรรยากาศเดิมๆ ทำงานประจำ สอนหนังสือ กลับบ้าน ก็ไม่อาจจะหาแนวคิดดีๆ หรือแรงบันดาลใจในการเขียนได้
2. พยายามตัดสิ่งรบกวนในการเขียนบทความวิชาการ เช่น การจัดกลุ่มนินทา (อิอิ) การจัดกลุ่มกิน การทำงานโดยไม่เรียงลำดับความสำคัญ การทำอะไรที่ตามกระแส พยายามมีสติและทบทวนงานวิชาการว่าสิ่งใดสามารถนำมาถ่ายทอดให้เป็นความรู้สู่สังคมได้
3. มีความรู้ที่มากพอและลึกซึ่งในงานวิชาการที่ตนสนใจ การเขียนบทความดีๆ จึงมักเริ่มต้นจากการอ่านบทความดีๆ เช่นกัน อ่านไป วิเคราะห์ไป อย่าสักแต่ว่าอ่านไปเรื่อยๆ เพราะการอ่านอย่างวิเคราะห์วิจารณ์จะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงความรู้และนำไปสู่การสร้างโจทย์วิจัยของตนเองได้ และเมื่อทำวิจัยเสร็จแล้วก็จะต้องนำข้อค้นพบมาเขียนเป็นบทความเผยแพร่ต่อไปได้
4. การเขียนบทความต้องเข้าใจง่ายตามหลักวิชาการ แต่อย่างไรก็ตามหลายคนอาจเป็นกังวลกับการเขียนว่าจะผิด จะซ้ำซ้อน จะล้าสมัย ฯลฯ ซึ่งเป็นหลากหลายเหตุผลที่คนทั่วไปมักจะไม่ยอมเขียนบทความ การเขียนบทความเป็นทักษะที่ต้องได้รับการพัฒนา เขียนมากก็ผิดมาก เขียนมากก็เรียนรู้มาก เขียนมากก็ย่อมเก่งขึ้นเรื่อยๆ
5. เรียนรู้การใช้เครื่องมือที่ช่วยในการเขียนบทความ การใช้โปรแกรมและแหล่งเรียนรู้ต่างๆ พยายามเขียนเอง พิมพ์เอง และตรวจสอบก่อนนำเสนอตีพิมพ์
6. หากบรรยากาศที่ดีในการสร้างแรงบันดาลใจในการเขียน เพราะงานเขียนต้องใช้สมาธิเป็นอย่างมาก ขัดเกลาทั้งเนื้อหาและภาษาเป็นอย่างดี อีกทั้งต้องมีเวลากับการเขียนอย่างต่อเนื่อง
7. ลงมือเขียนบทความได้แล้ว !! อย่ามัวแต่อ่านอย่างเดียว
โฆษณา