ศิลปะ จิตวิญญาณ และ ประวัติศาสตร์
เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2435 เด็กชายคนหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้น ณ เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลีและถูกตั้งชื่อว่า "คอร์ราโด เฟโรชี”
เมื่อเด็กชาย คอร์ราโด เฟโรชี เติบโตขึ้นจึงได้เข้าศึกษาในระดับชั้นประถมและมัธยมเหมือนเด็กทั่วไปแต่แล้วความสนใจในวิชาสายแขนงศิลปะนั้นมีมาก จนทำให้ไม่สนใจในวิชาสามัญทั่วไป แต่มักหนีโรงเรียนไปดูช่างปั้นช่างเขียนรูปตามสตูดิโอในนครฟลอเรนซ์อยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งได้รู้จักกับศิลปินมีชื่อเสียงหลายท่านและได้ไปขอเป็นลูกมือของศิลปินเหล่านั้น แม้บิดามารดาจะไม่พอใจเพราะต้องการให้ คอร์ราโด เฟโรชี เจริญรอยตามทางด้านการค้ามากกว่า
แต่แล้ว คอร์ราโด เฟโรชี ได้พิสูจน์ตนเองให้บิดามารดาเห็นในอัจฉริยะภาพทางศิลปะ และได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนศิลปะแห่งมหานครฟลอเรนซ์ ( The Academy of Fine Art Florence ) ด้วยการสนับสนุนจากศิลปินอาวุโสโดยไม่คิดเงิน
หลังจาก คอร์ราโด เฟโรชี ศึกษาหลักสูตรวิชาช่างอยู่ 7 ปี หลังจบการศึกษา ต่อมาจึงสอบแข่งขันคัดเลือกเข้าเป็นอาจารย์ในสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งฟลอเรนซ์ได้ ในอายุเพียง 23 ปี
—————————————————
ในขณะเดียวกันนนั้นอีกฝั่งหนึ่ง ประเทศสยาม ในสมัย ร.4-ร.5 ได้มีช่างชาวตะวันตกหลายท่านได้ เริ่มเข้ามาทำงานแก่ราชสำนักสยามบ้างแล้ว และในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการพัฒนาประเทศสยามให้เป็นไปตามแบบอย่างประเทศทางตะวันตก จึงมีช่างชาวตะวันตกโดยเป็นชาวอิตาเลี่ยนเสียส่วนใหญ่ จึงเข้ามารับงานทั้งงาน จิตรกรรม ปฎิมากรรม และสถาปัตยกรรม
ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ต้องการหาช่างปั้นมาช่วยราชการเพื่อเป็นแนวทางและฝึกฝนชาวสยามให้มีความรู้ถึงศิลปะตะวันตกรวมทั้งให้ชาวสยามสามารถปั้นรูปได้ตามแบบอย่างตะวันตก ทางรัฐบาลประเทศอิตาลีจึงได้เสนอศาตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรชี ผู้ซึ่งมีความเพรียบพร้อมทางด้านคุณวุฒิและผลงานให้ทางการสยามได้พิจารณา
เมื่อปี พ.ศ.2466 ศาตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรชี ในวัยหนุ่ม 33 ปี พร้อมครอบครัวได้เดินทางมาสู่ประเทศสยาม และได้เริ่มงานในตำแหน่งช่างปั้น กรมศิลปากร กระทรวงวัง โดยมีสวัสดิการเงินเดือน 800 บาท และค่าเช่าบ้าน 80 บาท
เมื่อแรกเริ่มงานในประเทศสยามนั้นไม่ได้ราบรื่นนัก เนื่องจากชาวสยามในกรมศิลปากร ยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในทักษะและฝีมือของศาตราจารย์ชาวอิตาเลี่ยนผู้นี้เท่าใดนัก แต่ด้วยความขยันและจริงจังต่อการงานมาก รวมทั้งได้แสดงความสามารถให้ผู้บังคับบัญชาได้เห็นและยอมรับ ด้วยการปั้นพระรูปของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นรูปเฉพาะพระเศียรจนสร้างความพอใจให้เจ้ากรมศิลปากรในขณะนั้นอย่างมาก
มีการเชิญเจ้านายหลายท่านมาร่วมรับประทานอาหารที่ไม่เชื่อมั่นในฝีมือของศาตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรชี ก็ร่วมรับประทานอาหาร พร้อมชมพระรูปของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เจ้านายหลายท่านต่างตกตลึงและสอบถามว่าผู้ใดเป็นคนปั้น
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงชี้ไปทาง ศาตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรชี และตรัสว่า
“ก็นั่งอยู่นี่ไง คอร์ราโด เฟโรชี”
ตั้งแต่นั้นมาเจ้านายจึงยอมรับในฝีมือของ คอร์ราโด เฟโรชี ศาตราจารย์ชาวอิตาเลี่ยนผู้นี้ รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงนำพระรูปนั้น ไปถวายให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตร พระรูปนั้นเป็นที่ชอบพระราชหฤทัย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทูลว่า
“นายคอร์ราโด เฟโรชี บอกว่า ถ้าจะให้เหมือนตัวจริงมากกว่านี้ ต้องปั้นจากตัวจริง ไม่ใช่ปั้นจากรูปถ่าย”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯให้ศาตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรชี เข้ามาในวังและปั้นพระรูปของพระองค์โดยพระองค์ทรงประทับเป็นแบบให้ด้วยพระองค์เอง ซึ่งในเวลาต่อมาได้ปั้นเต็มพระองค์ขนาดเท่าพระองค์จริง พระรูปนั้นนำไปประดิษสถาน ณ ปราสาทพระเทพบิดร
และต่อมาพระรูปนี้เป็นต้นแบบและได้ปรับเปลี่ยนขยายขนาดเป็นสามเท่า นำไปประดิษสถาน เพื่อเป็นพระบรมราชานุเสาวรีย์ ที่มุมสวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร
ปี พ.ศ.2469 ศาตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรชี ได้รับการแต่งตั้งเป็นอาจารย์สอนวิชาปฎิมากรรมในตำแหน่งอาจารย์ช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา การสอนนั้นต้องใช้ภาษาไทย และศาตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรชี ก็พูดได้ไม่ชัดนักแต่ก็พอพูดให้นักเรียนเข้าใจได้โดยไม่มีปัญหา
ในการปฎิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันเต็มความสามารถซึ่งทุ่มเทให้กับประเทศสยาม ศาตราจารย์จึงเริ่มมองเห็นจุดที่ควรจะพัฒนาของวงการศิลปะต่อไปในประเทศสยามแห่งนี้ แนวคิดหลัก คือ การเปิดการเรียนการสอนวิชาช่างปั้นและช่างหล่อ แบบตะวันตกขึ้นในประเทศสยาม เพื่อให้ช่างชาวสยามได้มีความสามารถสร้างงานขึ้นเองได้โดยไม่ต้องพึ่งศิลปินชาวตะวันตกดั่งเช่นแต่ก่อน เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณของชาติได้เป็นอันมาก
จนในปี พ.ศ. 2477 โรงเรียนปราณีตศิลปกรรม ได้ก่อตั้งขึ้นโดยกระทรวงธรรมการ รวมทั้งการผลักดันให้ความร่วมมือของกรมศิลปากรและมีผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะด้านต่างๆในประเทศ ซึ่งมีศาตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรชีเป็นผู้วางหลักสูตรให้มีมาตรฐานเช่นเดียวกับยุโรป ในช่วงแรกเปิดสอนวิชาศิลปะ เพียงแค่ 2 สาขา คือ สาขาจิตรกรรมและสาขาปฏิมากรรม
ในปี พ.ศ.2478 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนศิลปากร โดยเพิ่มสาขาวิชาเข้าไป คือ นาฎดุริยางค์และศิลปะอุตสาหกรรม จนเริ่มผลิตบุคคลากรที่มีคุณภาพเข้าทำงานในกรมศิลปากรมาพัฒนากิจการปั้นหล่อให้เจริญขึ้น
จนในปี พ.ศ.2486 รัฐบาลได้มีคำสั่งให้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรรวมทั้งตราพระราชบัญญัติสถาปนา มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีศาตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรชี เป็นผู้อำนวยการสอนและดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรก
การสอนวิชาศิลปะแบบตะวันตกจึงเริ่มก่อร่างเป็นปึกแผ่น หลักการการสอนของมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้สืบเนื่องมาจากหลักสูตรแบบฟลอเรนซ์สคูล การสอนต่างๆจึงมีแนวทางที่สืบต่อมาจากไมเคิลแองเจโลแบบที่ศิลปินอิตาลีได้เรียน โดยพื้นฐานที่นักศึกษาจะได้จากสถาบันนี้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่ปฎิบัติได้ทั้งงานเขียนและงานปั้น
———————————————
เมื่อโลกต้องตกอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 และผลกระทบนั้นก็มาถึงไทยในที่สุด ญี่ปุ่นได้ยกกองทัพบุก และเมื่ออิตาลีซึ่งเดิมเป็นฝ่ายอักษะเดียวกับญี่ปุ่น ยอมแพ้ให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ญี่ปุ่นจึงสั่งควบคุมตัวศาตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรชี ชาวอิตาเลี่ยนไว้ในฐานะเชลยศึกฝ่ายศัตรู
แต่ชั้นเชิงของรัฐบาลไทยได้เจรจาทางการทูตกับญี่ปุ่นเพื่อขอทำการควบคุมตัวศาตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรชี ไว้เอง และรัฐบาลไทยจึงทำการเปลี่ยนสัญชาติให้ศาตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรชี มารับสัญชาติไทยเพื่อเป็นการคุ้มครองไม่ให้ต้องเป็นเชลยศึกและสามารถดำเนินชีวิตปฎิบัติงานราชการต่อไปในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ที่ชื่อว่า นาย ศิลป์ พีระศรี
ช่วงหลังสงครามโลกเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ในประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก และนี่คืออีกอุปสรรคหนึ่งที่พิสูจน์ความตั้งมั่นของศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้บุกเบิกวงการศิลปะ
ศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ขายบ้าน ขายรถ ใช้ชีวิตอย่างคับแค้น และใช้จักรยานปั่นมาสอนนักศึกษา พร้อมกระเป๋าซิบสีดำเล็กๆที่บรรจุแซนวิชและกล้วยน้ำว้าปิ้งมารับประทาน จนนักศึกษาเริ่มสังเกตุด้วยความเป็นห่วง ศาสตร์จารย์บอกว่า
"ไม่ต้องเป็นห่วง อาหารพวกนี้อิ่มนานดี ไม่มีปัญหา พวกเธอไม่ต้องเป็นห่วงฉัน”
เมื่อปัญหาความแร้นแค้นทางค่าครองชีพถูกแก้ไขไม่ได้ ศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หลังที่ได้วางรากฐานทางด้านการศึกษาแล้ว จึงจำเป็นต้องพาครอบครัวกลับอิตาลีหลายครั้งหลายครา รวมทั้งสาเหตุที่ทางประเทศอิตาลีได้เปิดโอกาสทางอาชีพที่ให้ค่าครองชีพมากกว่า แต่ด้วยภาระหน้าที่ที่ยังคงคั่งค้างอย่างมากมายศาสตราจารย์จึงไม่อาจทิ้งไว้เบื้องหลังได้ พร้อมด้วยเหล่านักศึกษาที่รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลไทยว่าจ้างศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ให้กลับมาทำงานต่อ
“ฉันคิดถึงประเทศไทย คิดถึงลูกศิษย์ ฉันรักเมืองไทย ฉันเกิดผิดไป ฉันน่าจะเกิดเป็นคนไทย..."
จนในที่สุด พ.ศ. 2492 ทางรัฐบาลไทยได้ทำหนังสือขอร้องและทำสัญญาเพิ่มค่าครองชีพให้ศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี สามารถอยู่ได้โดยไม่ลำบาก นี่คือเสียงเรียกหาจากลูกศิษย์ที่กังวานไปถึงอิตาลี
และนี่คือการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ต้องแยกทางกับภรรยาและลูกๆ เพื่อกลับมาประเทศไทยอย่างโดดเดี่ยว เพื่อทำงานและทำตามปณิธานที่มุ่งหมายไว้ให้สำเร็จ
อย่างไรแล้วยังมีอะไรอีกมากให้ ศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้ฟันฝ่าต่อไป การดำเนินชีวิตปรับตัวให้ได้กับระบบบริหารงานราชการของทางรัฐบาลไทยที่แตกต่างกับชาวตะวันตก อีกทั้งแนวคิดของผู้ปกครองที่ไม่สนับสนุนให้บุตรหลานได้เรียนศิลปะ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนทุนทรัพย์ของนักเรียนที่เข้ามาศึกษาแม้ผู้ที่เข้ามาฝึกร่ำเรียนอบรมกับ ศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ไม่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายเพราะทางราชการได้ส่งเสริมเพิ่มบุคลากรทางด้านช่างปั้นและช่างหล่อให้มีมาตรฐาน
แต่ถึงอย่างไรก็ต้องใช้เงินในการซื้อค่าอุปกรณ์ศิลปะโดยผู้เรียนต้องจัดหามาเอง จนเป็นเหตุผลให้นักเรียนหลายคนต่างคิดลาออกกลางคัน แต่ศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้พยายามช่วยเหลือและดูแลเป็นอย่างดีราวกับพ่อคนหนึ่ง หากไม่มีเงินซื้อสี ศาสตราจารย์ก็จะจัดหาซื้อมาให้ สอนให้รักษาของอย่างดี ประหยัด ใช้อุปกรณ์ของอย่างจำเป็นมัธยัสถ์
ด้วยการมองเห็นคุณค่าที่ไม่อาจมองข้าม ศาตราจารย์ศิลป์ได้เขียนตำรา บทความทางวิชาการไว้จำนวนมาก ไม่เพียงแต่สอนวิชาศิลปะตะวันตกให้แก่บรรดาลูกศิษย์ เมื่อศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้ค้นคว้าศิลปะไทยอย่างลึกซึ้ง จนทราบได้ว่าไทยมีบรมครูทางด้านศิลปะไทยที่มีความสามารถอย่างทรงคุณค่า จนเห็นว่าควรจะรักษาขนบธรรมเนียมรากเง่า มิควรให้ถูกทำลายไป
ครั้งหนึ่งศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กล่าวกับลูกศิษย์ที่ชอบศิลปะทางตะวันตกว่า
“ หากชอบศิลปะตะวันตก ก็อย่าทิ้งศิลปะไทย จงรักษาไว้ “
การสอนลูกศิษย์ให้รักศิลปะไทยไม่แพ้ศิลปะตะวันตก หล่อหลอมให้ฝังรากลึกความรักในแง่ศิลปะของชาติไทย จัดสรรค์ผลงานให้ออกมาในรูปแบบงานร่วมสมัยที่มีรากของความเป็นตะวันออกอย่างเต็มเปี่ยมรวมทั้งอธิบายและปลูกจิตสำนึกให้คนไทยมองเห็นคุณค่าของศิลปะไทยโบราณมากขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันให้ลูกศิษย์ได้ศึกษาต่อในต่างประเทศและนำศิลปะไทยเผยแพร่ออกไปในระดับสากล
ศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับมอบหมายจากทางรัฐบาลให้ออกแบบปั้นและควบคุมงานหล่อพระราชานุเสาวรีย์และอนุเสาวรีย์สำคัญของไทยในกาลต่อมาแทบจะทุกชิ้น.......
———————————————
ในบั้นปลายชีวิต ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้แต่งงานใหม่กับนางมาลินี เคนนี่ ในปี พ.ศ. 2502 และครองชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข นางมาลินี เคนนี่เป็นเหมือนกำลังใจ ให้ศาสตราจารย์ศิลป์ ทำงานประสิทธิ์ประสาทวิชาแด่ลูกศิษย์อีกหลายรุ่น
“ ถ้าทุกคนรักฉัน คิดถึงฉัน จงไปทำงาน ” คำที่ศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มักพูดเสมอในวันเกิดของท่าน
เมื่อ วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ในขณะที่ศาตราจารย์พักรักษาตัวด้วยโรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่ ที่โรงพยาบบาลศิริราช ท่านได้นำงานศิลปะของนักเรียนทำการตรวจและให้คะแนน ก่อนที่จะเข้าห้องรับการผ่าตัด....และนั่นคือวาระสุดท้ายของชีวิต
ศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่อนิจกรรมด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว......
"ถ้าฉันตาย นายรักฉัน นายจงทำงาน"
ในทุกๆปี วันที่ 15 กันยายนของทุกปี คือวันคล้ายวันเกิดของศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรีและ ศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ไม่เคยตายไปจากใจชาวศิลปากร จะมีงานรำลึกบริเวณลานอนุเสาวรีย์ศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จนกระทั่งเสียงเพลง Santa Lucia ดังกังวาลขึ้นในยามค่ำคืน..........
ผู้เสียสละในดินแดนที่ไม่ใช่บ้านเกิดของตน และอุทิศชีวิตบนดินแดนนั้น จารึกบนผืนแผ่นดินไทย และสร้างศิลปินประดับไว้ให้แก่ประเทศ
หากผลัดวันประกันพรุ่ง “พรุ่งนี้....ก็สายเสียแล้ว” คำที่ศาตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทยฝากไว้ คำที่สามารถใช้ได้กับผู้คนทุกวงการ
———————————————————