31 พ.ค. 2020 เวลา 00:30 • ข่าว
ความรับผิดเกี่ยวกับการขับรถชนผู้อื่น...ความเสี่ยงใกล้ตัวที่อาจเกิดกับใครก็ได้
เมื่อวานนี้มีข่าวเกี่ยวกับการขับรถชนเด็กที่รถจักรยานล้มตรงจุดกลับรถถึงแก่ความตาย และอีกเหตุการณ์คือการขับรถเมล์ชนที่พักรอตรงป้ายรถเมล์ถล่มทับชายชราได้รับบาดเจ็บสาหัส ทั้งสองเหตุการณ์นี้ ผู้ขับคงไม่ได้ตั้งใจ หรือภาษากฎหมายคือ "ไม่มีเจตนา" หรือ "ขาดเจตนา" ที่จะขับรถไปชนคนให้ต้องถึงแก่ความตายหรือได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด แต่ถึงแม้ไม่ได้ตั้งใจหรือไม่ได้เจตนา ก็ยังมีอาจจะต้องรับผิดอยู่ดี นอกจากมีความรับผิดทางอาญาแล้ว ยังมีความรับผิดทางแพ่ง หรือภาษากฎหมายคือมีการ "ละเมิด" ที่ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ด้วย
เริ่มกันที่ความรับผิดทางอาญา
1. กรณีขับรถชนคนตายเป็นความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 291 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท"
กรณีนี้จะเห็นได้ว่าอาจจะต้องทั้งรับโทษจำคุก "และ" เสียค่าปรับด้วย ทั้งสองอย่าง ซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่าต้องรับโทษทั้งสองอย่าง เพราะกฎหมายใช้คำว่า "และ"
2. กรณีขับรถชนป้ายจนถล่มทับคนบาดเจ็บสาหัสเป็นความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 300 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
แต่กรณีนี้จะเห็นได้ว่าอาจจะได้รับโทษจำคุกอย่างเดียวก็ได้ หรือเสียค่าปรับอย่างเดียวก็ได้ หรืออาจจะต้องรับทั้งโทษจำคุกหรือเสียค่าปรับทั้งสองอย่างก็ได้ ขึ้นกับดุลพินิจของศาลที่จะลงโทษตามพฤติการณ์ที่เหมาะสม เพราะกฎหมายใช้คำว่า "หรือ"
ส่วนจะต้องรับผิดทางอาญาจริงตามข้อหาหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องไปพิสูจน์กันแต่ละคดี เพราะเหตุการณ์คล้ายๆกันอาจมีรายละเอียดของคดีแตกต่างกันได้
ภาพจาก https://www.shutterstock.com/image-photo/upset-driver-after-traffic-accident-167990879?id=167990879&irgwc=1&utm_medium=Affiliate&utm_campaign=Curly+Eskimo&utm_source=13749&utm_term=photo-search-top
ต่อมาคือความรับผิดทางแพ่ง ที่บอกว่าละเมิดนั้น... ละเมิดคืออะไร ?
มาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
แปลว่าหากใครไปทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายไม่ว่าจะถึงตาย ได้รับบาดเจ็บต่ออร่างกาย เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย หรือเกิดความเสียหายในเสรีภาพ หรือ่ความเสียหายในทรัพย์สิน หรือเกิดความเสียหายต่อสิทธิอย่างอื่น คนที่ก่อความเสียหายนั้น จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่ได้กระทำลงไป ไม่ว่าจะตั้งใจกระทำหรือไม่ได้ตั้งใจกระทำแต่เป็นเพราะประมาทก็ตาม
และในกรณีของการละเมิดที่เกิดจากการการขับรถยนต์นั้นมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะเลยว่าเป็นความรับผิดเด็ดขาด (Strict Liability) ได้แก่
มาตรา 427 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง
ซึ่งหมายความว่า คนที่ขับรถ (หรือถ้าไม่ใช่คนขับก็คือคนที่นั่งควบคุมการขับไปด้วย เช่น กรณีเจ้านายนั่งรถไปกับคนขับรถและกำกับการขับรถนั้น) ซึ่งรถก็คือยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล หากขับไปก่อให้เกิดความเสีย ดังเช่นสองเหตุการณ์ดังกล่าว คือขับชนคนถึงแก่ความตาย หรือขับชนที่พักรอตรงป้ายรถเมล์ถล่มทับคนได้รับบาดเจ็บสาหัส ผู้ขับก็ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
แต่ในคดีแพ่งนี้ก็มีข้อยกเว้นที่อาจไม่ต้องรับผิดชอบ ถ้าหากผู้ขับจะพิสูจน์ได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจาก 2 กรณีดังต่อไปนี้
1. เหตุสุดวิสัย ซึ่งมาตรา 8 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ความหมายว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น
จะเห็นได้ว่า เหตุสุดวิสัยอาจเป็นเหตุจากธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า น้ำท่วม หรืออาจเกิดจากการะทำของมนุษย์หรือเหตุอื่นก็ได้ เช่น ขับรถหลบรถที่ล้ำสวนทางมาจึงชนรถที่จอดข้างทาง ส่วนกรณีใดที่จะเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ ศาลจะเป็นผู้พิจารณาเป็นรายกรณีตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละคดีไป
2. ความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง เช่น ผู้ตายกระโดดตัดหน้ารถ
แต่ถ้าไม่เข้าข้อยกเว้นสองกรณีนี้แล้ว ผู้ขับจะต้องรับผิดต่อการละเมิดตามมาตรา 427 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย
โฆษณา