1 มิ.ย. 2020 เวลา 10:33
ป่าสนเขา (Coniferous/ Pine Forest)🌲🌲🌲
ป่าสนเขา เป็นป่าไม่ผลัดใบ จำแนกเป็นสนสองใบ และสนสามใบที่เป็นไม้เด่นๆ ป่าประเภทนี้ค่อนข้างโล่ง พื้นล่างปกคลุมด้วยพื้นหญ้า ในเมืองไทยพบป่าชนิดนี้กระจายอยู่เป็นหย่อม ๆ สลับกับป่าดิบเขาและป่าดิบแล้ง (ยกเว้นภาคใต้) จะมีในที่สภาพอากาศเย็นยาวนานพอสมควรแต่ไม่ชื้นจัดจนเกินไป และดินที่มีความเป็นกรดจัด
เราจึงมักเห็นป่าสนเขาในพื้นที่สูงตามภูเขาได้ตั้งแต่ระดับความสูง 50-1,800 ม. จากระดับน้ำทะเล พบกระจายตั้งแต่จังหวัดเชียงรายลงมาจนถึงตาก เพชรบุรี เทือกเขาเพชรบูรณ์จนถึงจังหวัดชัยภูมิ
ป่าสนเขาในประเทศไทยมี 2 ประเภทคือ
1.ป่าสนผสมก่อ (Pine-Oak subtype) พบบนพื้นที่สูงเกิน 1,000 ม.
2.ป่าสนผสมเต็งรัง (Deciduous dipterocarp with pine subtype) พบในพื้นที่ต่ำกว่า 1,000 ม. และมีการกระจายมากกว่าป่าสนผสมก่อ พบในสภาพป่าที่สมบูรณ์
โดยทั่วไปป่าสนผสมเต็งรังมักจะเกิดไฟป่าเป็นประจำ จึงทำให้เปลือกของต้นสนมีความหนาและทนไฟได้ดี นอกจากนี้พืชพื้นล่างยังพัฒนาฝังตาเจริญไว้ใต้ดินเพื่อป้องกันความร้อนจากไฟป่าอีกด้วย
ด้วยสภาพป่าที่ค่อนข้างโล่ง จึงไม่ค่อยพบสัตว์ป่าที่อาศัยในป่าชนิดนี้ ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ป่าที่เข้ามาใช้ประโยชน์จะเป็นสัตว์ป่าขนาดเล็ก อย่างกระต่าย ตุ่น กระรอก เป็นต้น ส่วนสัตว์ใหญ่อย่าง เลียงผา กวางป่า หมูป่า อาจจะเข้ามาใช้ประโยชน์บ้างหรืออาจใช้เป็นเส้นทางผ่าน นอกจากนี้ป่าสนเขายังเป็นแหล่งกล้วยไม้ที่สำคัญของประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะเอื้องกาจก เอื้องช้างน้าว เอื้องกุหลาบแดง เป็นต้น
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
- หนังสือนิเวศวิทยาป่าไม้
Content writer/Graphic designer : Chadaporn.S
โฆษณา