Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ทนายน้อยหน่า
•
ติดตาม
31 พ.ค. 2020 เวลา 08:44 • การศึกษา
"เงินกับกฎหมายครอบครัว
ตอนการจัดการสินสมรสร่วมกัน"
ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงว่าทรัพย์สินใดเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรส ในตอนนี้จะมากล่าวถึงการจัดการสินสมรสร่วมกันตามกฎหมาย ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติในเรื่องนี้ไว้ดังนี้
มาตรา 1476 "สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(4) ให้กู้ยืมเงิน
(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(6) ประนีประนอมยอมความ
(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง"
มาตรา 1476/1 "สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติในมาตรา 1465 และมาตรา 1466 ในกรณีดังกล่าวนี้ การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส
ในกรณีที่สัญญาก่อนสมรสระบุการจัดการสินสมรสไว้แต่เพียงบางส่วนของมาตรา 1476 การจัดการสินสมรสนอกจากที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรสให้เป็นไปตามมาตรา 1476"
มาตรา 1480 "การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่งห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น"
จะเห็นว่าการจดทะเบียนสมรส กฎหมายให้ความสำคัญของการใช้ชีวิตร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความซื่อสัตย์เพราะกฎหมายห้ามสมรสซ้อนอีกทั้งยังเรียกค่าเสียหายจากชู้ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการเงินทองทรัพย์สินร่วมกัน แต่คู่สมรสก็ต้องหูไวตาไวด้วยเพราะกฎหมายให้เวลาในการเพิกถอนนิติกรรมได้ในเวลาไม่เกิน 1 ปีนับแต่รู้ อีกทั้งถ้านิติกรรมไปกระทบสิทธิ์บุคคลภายนอกที่สุจริตเสียค่าตอบแทนก็เพิกถอนไม่ได้
ตัวอย่างเช่น คู่สมรสแอบขายบ้านพร้อมที่ดินที่เป็นสินสมรสแล้วมีคนมาซื้อต่อโดยที่ชื่อในโฉนดเป็นชื่อของคู่สมรสเพียงคนเดียว คนที่ซื้อไม่มีทางรู้เลยว่าเป็นสินสมรสและซื้อแบบจ่ายเงินตามราคาตลาดด้วย แต่ถ้าคู่สมรสแอบยกให้กิ๊กแบบนี้เป็นการให้โดยเสน่หา สามารถฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการโอนได้
อย่างไรก็ตามถ้าสามีภรรยาอยู่กันด้วยความไม่ซื่อสัตย์ ไม่ให้เกียรติซึ่งกันและกันชีวิตก็ยากจะมีความสุข
เท่าที่มีลูกความมาปรึกษาก็มีหลายกรณี เช่นต่างฝ่ายหมดรักกันถึงขั้นทำร้ายร่างกายกันแต่อีกฝ่ายไม่ยอมหย่า กรณีแบบนี้แนะนำว่าให้แจ้งความเพื่อใช้เป็นเหตุในการฟ้องหย่าได้
บางกรณีก็เช่นอีกฝ่ายไม่มีทรัพย์สมบัติเลยแต่ตนเองมีทรัพย์สินหลายสิบล้านก็ไม่อยากหย่าเพราะต้องแบ่งสินสมรสกึ่งหนึ่งแต่อยากไปใช้ชีวิตกับคนรักใหม่ กรณีแบบนี้ก็ต้องอาศัยการเจรจาว่าจะแบ่งทรัพย์สินให้อีกฝ่ายอย่างไรถึงจะเต็มใจหย่าเพราะถ้าหมดรักกันแล้วและตนเองไปใช้ชีวิตกับคนรักใหม่ อีกฝ่ายย่อมฟ้องหย่าได้นอกจากจะฟ้องแบ่งสินสมรสได้กึ่งหนึ่งแล้วยังฟ้องเรียกค่าเสียหายจากคนรักใหม่ของคู่สมรสได้อีกด้วย
สรุปก็คือก่อนจะตัดสินใจแต่งงานกันและต้องการจดทะเบียนสมรสเพื่อเป็นหลักประกันว่าต่างฝ่ายต่างเต็มใจใช้ชีวิตร่วมกันโดยไม่คิดจะมีใครใหม่อีกแล้วก็ให้ดูเรื่องการจัดการทรัพย์สินด้วย เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีหน้าที่ต่อครอบครัวเดิมของตนเอง เช่น บางคนต้องส่งน้องเรียนหนังสือ ต้องส่งเงินให้พ่อแม่ ดังนั้นเรื่องเงินทองหลังแต่งงานต้องคุยให้รู้เรื่องก่อนแต่ง หรือเช่นถ้าไม่อยากให้เงินเดือนตัวเองกลายเป็นสินสมรสหลังแต่งงานก็ทำสัญญาก่อนสมรสได้ ดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้ในตอนที่ 1 ตามลิ้งนี้
https://www.blockdit.com/articles/5ecbfd123e70b1180d862ff2
#ทนายน้อยหน่า
31 พฤษภาคม 2563
#สนุกกับกฎหมายวันละนิดชีวิตง่ายขึ้น
#FinanceAndLaw
ขอบคุณภาพจาก pexels
บันทึก
3
6
3
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย