4 มิ.ย. 2020 เวลา 01:56 • การศึกษา
เปิดแอร์ทั้งวัน … แอร์! จะพังไหม
ขอบคุณภาพจาก www.pexels.com
เอาจริงๆ มันก็พูดยากนะ เพราะมีหลายประเด็นที่เราต้องนำมาพิจารณาด้วย ผมจะพาคุณไปดูทีละประเด็นนะ
ประเด็นที่ 1 แอร์เก่า/แอร์ใหม่
คำว่า “แอร์ใหม่” ผมหมายถึง แอร์ที่ซื้อมาช่วงประมาณ 10-20 ปีหลัง บริษัทแอร์ส่วนใหญ่ออกแบบให้ราคาถูกลง ขนาดเล็กลง ต้นทุนก็ต้องต่ำลงด้วย ทำให้ส่งผลกระทบถึงอายุการใช้งานในปัจจุบันน้อยกว่าแอร์ในสมัยก่อน
ถ้าจำได้ โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าน่าจะมีประสบการณ์ใช้แอร์กันมาหลายคน แอร์สมัยนั้นจะแข็งแรง ทนทานมาก ใช้งานได้ไม่ต่ำกว่า 25-30 ปี เรียกว่า ซื้อแอร์ทีหนึ่งก็ลืมกันได้เลย ไม่ต้องซื้อใหม่ล่ะ เพราะแอร์ไม่พังซักที แต่ปัญหาหลักของแอร์ในสมัยนั้น คือ เสียงดังมาก โดยเฉพาะคอมเพรสเซอร์ เนื่องจากสมัยนั้นยังใช้คอมเพรสเซอร์แบบลูกสูบ ที่สำคัญปัญหาอีกอย่างคือ กินไฟสูง ด้วย
ดังนั้น ถ้าเป็นแอร์รุ่นใหม่ จะทนทานกับการใช้งานหนักๆ ได้น้อยกว่า แอร์ในสมัยก่อน พอสมควร แต่ก็จะได้คุณสมบัติใหม่มาด้วย คือ เสียงเงียบ และประหยัดไฟ เรียกว่า ได้อย่างเสียอย่าง
ขอบคุณภาพจาก www.pexels.com
ประเด็นที่ 2 โอกาสพังเร็วขึ้น
เนื่องจากเวลาออกแบบ วิศวกรออกแบบ จะต้องกำหนดจำนวนชั่วโมงการใช้งานเอาไว้เป็นหลักการว่า ควรต้องใช้งานได้ไม่ต่ำกว่ากี่ชม. แล้วก็เลือกวัสดุที่ตอบโจทย์ดังกล่าว
ปัจจุบันแอร์ส่วนใหญ่น่าจะใช้ได้ประมาณ 10 ปี ก็จะเริ่มทรุดโทรม เริ่มต้องซ่อมบำรุงกันเยอะล่ะ ดังนั้นบางคนก็เลือกที่จะไม่ซ่อม เพราะค่าซ่อมบางครั้งก็ไม่คุ้มเท่าซื้อเครื่องหใม่เลยดีกว่า เพราะได้ประกันเพิ่มมาด้วย ซ่อมไปก็ไม่รู้จะใช้งานได้อีกนานแค่ไหน
ถ้าแอร์ใช้งานได้ 10 ปี เราต้องรู้ว่าเขากำหนดที่การใช้งานกี่ชั่วโมงต่อวัน … ตรงนี้ผมไม่แน่ใจนะครับ … เดาว่า น่าจะอยู่ที่ 8-10 ชม.ต่อวัน
ถ้าคิดแบบเร็วๆนะ เอาเป็นว่า ถ้าเปิดแอร์ 8 ชม.ต่อวัน จะใช้ 10 ปี
ดังนั้น ถ้าเปิดแอร์ทั้งวัน หรือ 24 ชม.ต่อวัน ก็น่าจะใช้งานได้ประมาณ 3-4 ปี หลังจากนั้นแอร์อาจจะพังหรือไม่พังก็แต่ แต่มีแนวโน้มที่แอร์จะเสียเมื่อไหร่ก็ได้ บางวันเปิดแอร์อยู่ดีๆ ก็อาจจะหยุดทำงานไปเลยก็ได้ ทำให้เราไม่สะดวกสบายในช่วงเวลาดังกล่าว
ประเด็นที่ 3 แอร์แบบอินเวอร์เตอร์
ถ้าเป็นคอมเพรสเซอร์แบบเดิม ก็จะเข้าตามประเด็นที่ 2 แต่ถ้าคอมเพรสเซอร์เป็นแบบอินเวอร์เตอร์ ก็จะแตกต่างกันนิดหน่อย
เนื่องจากคอมเพรสเซอร์แบบอินเวอร์เตอร์ เขาจะทำงานไม่หยุด เขาจะทำงานต่อเนื่อง เพียงแค่ปรับรอบการทำงานให้ เร็วขึ้นหรือช้าลง ตามปริมาณความร้อนที่เกิดขึ้นในห้อง
ดังนั้น คอมเพรสเซอร์ที่เป็นแบบอินเวอร์เตอร์ ก็จะทนทานต่อการทำงานนานๆได้มากกว่า คอมเพรสเซอร์แบบเดิม
โฆษณา