31 พ.ค. 2020 เวลา 20:32
เรื่องเล่าย้อนยุค
(ตอนที่ 5)
สวัสดีครับ เพื่อนๆ
ขอส่งความสุขด้วยเรื่องราวที่ค่อยๆเข้มข้น ขึ้นเรื่อยๆ พร้อม คลิปเพลงสั้น ..
“คุณเจ้าขา” เพลงใหม่ครับ
คุณหนูพา ได้เขียนเนื้อร้อง “แบบเพลงแก้ ของผู้หญิง” ผมจึงได้ใส่ทำนองในท่อนนึง ใน Mood ของ “The Musical” ตามเนื้อที่ว่า
“...คุณเจ้าขา
คิดถึงกัน...บ้างไหม?
ฝากดวงใจ...ล่องลอยไป
บนฟ้าไกล...”
“หลับตาลงครั้งใด... อบอุ่นใจหนักหนา...
อีกไม่นานถึงครา...
ที่เราพบกันใหม่...”
สุขสันต์วันจันทร์นะครับ :)
ความเดิมตอนที่แล้ว: คุณหนูพา ฟื้นคืนสติ โดยการดูแลของคุณหนูพิม และคุณหนูพลอย ที่เรือนคัดสรร, ภายหลังเมื่อรับประทานอาหารกันแล้ว เจ้าคุณสันติจึงขอให้คุณหลวง ช่วยตีระนาด ให้ทุกคนได้ชมฝีมือ ทางระนาดของวังบูรพา ใน “เพลงลาวแพน” ซึ่งคุณหลวงก็สามารถบรรเลงเพลงนี้ได้อย่างชั้นครู ที่เข้าถึงอารมณ์ อย่างที่สุด...
เจ้าคุณสบอารมณ์ และชวนคุณหลวงให้กลับมาที่หอนั่ง เพื่อเข้าสู่ “การขานเรียกนามผู้ที่ผ่านการคัดสรร ..”
ปากกาขนนกของหม่อมท่าน
บทที่ 1: อรุณรุ่ง
ตอนที่ 5 ไกรสร
ในระหว่างที่ เด็กๆ ทุกคนกำลัง ตื่นเต้น ล้อมวงอยู่ที่หน้าหอนั่ง …
ใจจดใจจ่อ ..ฟังเจ้าคุณสันติ และครูช้อย ขานเรียกชื่อเด็กๆ ผู้ที่มีคุณสมบัติ เหมาะสม พร้อมที่จะนำไปฝากตัว เป็นข้าหลวงตัวน้อย ในแต่ละตำหนักนั้น…
คุณหนูพา กลับนั่งสำรวม และสงบเสงี่ยม ..อยู่ข้างๆ พี่หนูพิม พี่หนูพลอย อย่างเรียบร้อยกว่าปกติ...
แต่ก็ยัง แอบหลิ่วตา มองดูคุณพีระ… เป็นระยะๆ
คุณพีระ ยังเป็นคุณพีระที่ใจเย็น นั่งทอดหุ่ย สบายๆ กับทุกเรื่อง … อยู่เช่นเดิม
ภาพที่ปรากฏ คือ ภาพอันคุ้นตา ..ที่สายตาคุณพีระ นั้นมองทอดยาวออกไปทางริมน้ำ ดูอะไรต่ออะไร ที่ผ่านไปมาอย่างเพลิดเพลิน…
มิได้อุทธรณ์ ร้อนใจ กับการถูกคัดสรรในครั้งนี้
แต่อย่างใด...
คุณพีระ
จนคุณหนูพา ต้องก้มหน้า เอามือปิดปาก หัวเราะเบาๆ พร้อมกับส่ายหน้า แล้วรำพึงว่า
“ เป็น…คุณเป็ดเจ้าขา คนเดิม ที่ไม่เคยเปลี่ยนจริงๆ เลยนะเจ้าคะ ฮิฮิ “
และถึงแม้ว่า พี่หนูพลอย จะพยายามระมัดระวังกิริยา เพื่อให้เห็นว่า เรียบร้อย…
แต่เมื่อพี่หนูพลอยเหลือบไปเห็นหนูพา ที่เอามือปิดปากหัวเราะคิกคัก… ก็อด ที่อยากจะร่วมวงสนุกด้วยไม่ได้
จึงกระซิบถามว่า “ หัวเราะขำ สิ่งใดอยู่รึ หนูพา… เล่าให้พี่ฟังบ้างสิ”
พร้อมกับกระเถิบมาใกล้ๆ
“ หนูพานึกขำ คุณพีระ อยู่เจ้าค่ะ พี่หนูพลอย…”
หนูพาตอบ พลางชำเลือง มองไปที่คุณพีระ อีกครั้ง..
ก็พบว่า คุณพีระ กำลังยิ้มกว้าง สบตาหนูพา และพี่หนูพลอย… พร้อมกับทำท่า พยักหน้าบุ้ยปาก ขยิบตา ไปทางข้างๆ ของหนูพา…
จนเมื่อหนูพา กับพี่หนูพลอย หันมองตาม …ทิศของ ท่าใบ้คุณพีระ..
ก็พบกับภาพพี่หนูพิมกำลังเขม่นตาจ้อง ทั้งสามคน เหมือนพญาครุฑ ที่กำลังจ้องโฉบจิกพญานาคน้อย อย่างไรอย่างนั้น…
หนูพา พี่หนูพลอย คุณพีระ ต่างสะดุ้งเฮือก และรีบก้มหน้ามองพื้นทันที …กลั้นหัวเราะกัน จนตัวสั่นเบาๆ พร้อมกับ ฟังเจ้าคุณสันติ ขานเรียกรายชื่อ ต่อไป…
ท่านเจ้าคุณสันติเรียกขานรายชื่อ เด็กๆ ที่ผ่านการคัดสรร ครานี้ มากกว่าทุกคราวที่ผ่านมา...
โดยครั้งนี้จะมีถึงยี่สิบคน
..ซึ่งจนถึงในขณะนี้ ก็ได้ขานไล่ทีละลำดับ…
ผ่านไปจนถึงลำดับที่สิบสาม...
“รายนามที่สิบสาม สิบสี่และ สิบห้า คือ คุณหนูเนตร (เนิ้ต) คุณหนูดี และ คุณหนูฆฤณ (กรีน)…
ทั้งสามคน ได้ผ่านการคัดสรรพิเศษ โดยมีแหม่มมารี แคมป์เบลล์ผู้เป็นกัลยาณมิตร ของครูช้อย เป็นผู้เขียนจดหมายรับรองลงตราประทับ จากคริสตจักรเพรสไบทีเรียน ในมณฑลพายัพ ว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนเหมาะสม ควรให้นำเข้าไปฝากตัวเป็น”ข้าหลวงน้อย”
ในคุ้มหลวงกลางเวียง นครเชียงใหม่ ได้ตามวันและเวลาอันเป็นมงคลที่กำหนดไว้แล้ว…”
“รายนาม ที่สิบหก คือ คุณหนูนา ผู้ที่ได้ผ่านการคัดสรรพิเศษ โดยมีแหม่มแฮเรียต ภรรยาหมอเฮ้าส์ผู้เป็นมิตรแท้ของครูช้อย เป็นผู้เขียนจดหมายรับรองลงตราประทับ “โรงเรียนวังหลัง” รับรองคุณหนูนาว่า เป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม ครบถ้วน ควรให้นำไปฝากตัวเป็นข้าหลวงรับใช้ในตำหนักเสด็จท่าน ได้ตามวัน และเวลาอันเป็นมงคลที่กำหนดไว้แล้ว…”
“ รายนาม ที่สิบเจ็ด และสิบแปด คือ คุณหนูพิม คุณหนูพลอย… ทั้งสองคน ได้ผ่านการคัดสรรจากครูช้อย โดยมีคุณสมบัติครบถ้วน เหมาะสมทั้งปวง ให้นำเข้าไปฝากตัวรับใช้ในตำหนักเสด็จ ท่าน ได้ ตามวันและเวลาอันเป็นมงคลที่กำหนดไว้แล้ว…” เจ้าคุณสันติเอ่ยเรียกเสียงดังกังวาล พร้อมยิ้มอย่างมีเมตตา มองมาที่ทั้งสอง..
พี่หนูพลอย เขย่าแขนพี่หนูพิมดีใจ อย่างที่สุด จนแทบจะเปล่งเสียงร้องออกมา… จนพี่หนูพิมต้องปรามเบาๆว่า “… เบาๆ หน่อย หนูพลอย… ขอพี่ฟังต่อสักนิดเถิด ว่าหนูพาจะอยู่ตำหนักไหน…”
หนูพาจึงสะกิดแขน พี่หนูพิมเบาๆ ก่อนพูดว่า
“…หนูพา ยังไม่ได้รับการคัดสรรในครั้งนี้ เจ้าค่ะ …พี่หนูพิม”
พี่หนูพิม และพี่หนูพลอย จึงหันกลับมามองหนูพา ที่กำลังฝืนยิ้มกว้าง ...ทั้งๆที่เริ่มจะมีน้ำตาเอ่อเกาะอยู่ขอบตาเพิ่มขึ้นทีละนิดจนสังเกตเห็นได้… “ ไม่ต้องห่วงหนูพา นะเจ้าคะ…หนูพาอยู่ที่นี่กับครูช้อย และหม่อมท่านได้เจ้าค่ะ “
“ หนูพา… จะเป็นเด็กดี ตั้งใจเรียนกับครูช้อย และรีบตามพี่หนูพิม พี่หนูพลอยไป นะเจ้าคะ ”
พี่หนูพิม มองตาหนูพา พลางพูดว่า
“ หนูพา พูดอะไรอย่างนั้น … ใครบอกหนูพากัน …ถ้าจะไป เราสามพี่น้องต้องไปด้วยกัน …พี่ทั้งสองไม่ยอมทิ้งหนูพาไปแน่ๆ …”
หนูพา ยิ้มอย่างตื้นตั้น และพูดตอบว่า “ หนูพารัก และเชื่อฟังคุณพี่ทั้งสอง เสมอมา … แต่ครานี้ ขอพี่หนูพิม พี่หนูพลอย เชื่อหนูพา นะเจ้าคะ…ขอคุณพี่ทั้งสอง ไปกับท่านเจ้าคุณ ไม่ต้องห่วงหนูพา… และรับของสิ่งนี้ไว้ด้วย นะเจ้าคะ…”
หนูพาพูดพลางก็หยิบ เหรียญรูปร่างประหลาดที่ได้จากหม่อมทินกร ออกมา ยื่นใส่มือของพี่หนูพิม พี่หนูพลอย…
และก่อนที่พี่หนูพิมจะ กล่าวตอบใดๆ …หนูพาก็โผเข้ามากอดแน่น พลางกระซิบว่า. “หนูพารัก คุณพี่ทั้งสอง และเจ้าคุณพ่อ… มากยิ่งกว่าชีวิตของหนูพา เจ้าค่ะ”
“ขอคุณพี่ทั้งสอง เชื่อหนูพา เถิดนะเจ้าคะ”
พี่หนูพิมโอบกอดหนูพาไว้ และลูบผมของน้องสาวคนเล็กเบาๆ ปลอบ อย่างทะนุถนอม ขณะที่พี่หนูพลอย ก็ยกสไบขึ้นมาซับน้ำตา และโอบกอดทั้งสองคนด้วยความรัก เช่นกัน
.
.
เสียงดังกังวาลของเจ้าคุณสันติ ยังคงเรียกรายนามที่ สิบเก้า ต่อไป คือ “คุณไกรสร” …
แต่เมื่อถึงรายชื่อสุดท้าย รายชื่อ ที่ ยี่สิบ …
ท่านเจ้าคุณกลับชะงัก นิ่งเงียบ สายตาจับจ้องอ่าน ข้อความ ในมือ ทวนไปมา สองสามครั้ง …แล้วจึงเอ่ยว่า “ ขอเชิญ คุณหลวง ช่วยขยับมาหารือกัน สักครู่หนึ่งเถิด “
“ ขอรับ ท่านเจ้าคุณ “ คุณหลวงตอบรับ พลางขยับเข้าไปนั่งใกล้ ท่านเจ้าคุณ
ท่านเจ้าคุณสันติ จึงยื่น หนังสือจดหมายรายนาม ผู้ผ่านการคัดสรร ที่ได้รับการประทับตรารับรอง ให้คุณหลวง พลางกล่าวว่า “ เมื่อผม เปิดตรวจรับจดหมายเมื่อวาน ยังเห็นรายชื่อ เพียงยี่สิบคน…”
“…มาวันนี้ รายชื่อที่ยี่สิบ กลับปรากฏชื่อ ผู้ที่ผ่านการคัดสรรเป็น สองชื่อ รวมเป็นยี่สิบเอ็ดคน…พร้อมมีตราประทับ อย่างอัศจรรย์… ขอเชิญคุณหลวง ช่วยตรวจสอบให้ด้วยเถิด “
คุณหลวงค่อยๆหยิบ จดหมายนั้นมาพินิจพิเคราะห์ และเมื่อพิจารณาถึงลักษณะหมึกที่ปรากฏในภายหลังนั้น…คุณหลวงจึงพนมมือขึ้น…ก่อนตั้งจิตระลึกถึงครูบาอาจารย์ หม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) พลางกุมสร้อยพระสมเด็จปิลันทน์ วัดระฆัง ก่อนจะบริกรรมพระคาถา … และกระจายลมแห่งพระพุทธคุณ เป่าเบาๆไปจนทั่วกระดาษจดหมายนั้น…
การอัศจรรย์จึงปรากฏให้เห็น ว่า ชื่อทั้งสอง ในรายชื่อที่ยี่สิบ นั้น กลับกลายเป็นสีทองระยิบระยับ และกำจรกระจายฟุ้ง ด้วยกลิ่นดอกไม้หอม อันมีลักษณะพิเศษ…
และชื่อทั้งสอง ก็ปรากฏลอยนูนเด่นออกมา อย่างชัดเจน…
ในขณะนั้นเอง พี่หนูพิม และหนูพาที่กำลังกอดกันอยู่นั้น ก็รู้สึกถึง ความร้อนอุ่นๆ ที่กระจายออกมาจาก ตรงบริเวณชายผ้าเหน็บของหนูพา…
หนูพาจึงรีบคลี่ หยิบสิ่งนั้นออกมาดู อย่างรวดเร็ว แล้วจึงพบว่า...ปากกาขนนก ที่หม่อมทินกร ให้หนูพาไว้นั้น มีความระยิบระยับ และ ประโยคที่สลักว่า “This too shall pass” ก็ดูคล้ายจะลอยเด่นออกมา อยู่ชั่วขณะหนึ่ง ก่อนจะกลับสู่สภาพปกติ..
เสียงประกาศรายชื่อที่ยี่สิบ ก็ถูกประกาศ แทรกมา ด้วยเสียงดังกังวานใส จาก คุณหลวงว่า “... รายนาม ที่ยี่สิบและยี่สิบเอ็ด คือ คุณหนูพีระ และ คุณหนูพา… ทั้งสองคน ได้ผ่านการคัดสรรโดย หม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) ซึ่งทั้งสอง มีคุณสมบัติครบถ้วน เหมาะสมทั้งปวง ให้นำเข้าไปฝากตัวรับใช้ในตำหนักเสด็จ ท่าน ได้ ตามวันและเวลาอันเป็นมงคลที่กำหนดไว้แล้ว…”
ปากกาขนนก
หนูพา มองหน้าพี่หนูพิมนิ่ง อึ้ง สักครู่หนึ่ง...
จนพี่หนูพิมยิ้มให้ แล้วพยักหน้า “ใช่แล้วจ้ะ..”
หนูพา หายตะลึง และยิ้มจนตาหยี พลางกอดพี่หนูพิม พี่หนูพลอยแน่น และ ดีใจจนพูด ซ้ำๆว่า “.. หนูพาได้ไปกับพี่หนูพิม พี่หนูพลอย และคุณพีระ จริงๆนะเจ้าคะ...”
“ หนูพาอยากจะกอดหม่อมท่าน ตอนนี้จริงๆ เลยเจ้าค่ะ...”
“ขอบพระคุณ หม่อมทินกรของหนูพา มากเลย นะเจ้าคะ..” หนูพา ยิ้มทั้งน้ำตา พลางหันไปทาง ...คุณพีระที่กำลังมองมาที่คุณหนูพา และกำลัง ยกแขนขึ้นปาดน้ำตาลูกผู้ชาย..
เมื่อเช็ดเสร็จ...คุณพีระก็รีบหันกลับไปมองทางริมน้ำอีกครั้ง พร้อมรอยยิ้มบางๆ ที่มุมปาก..
.
.
เมื่อประกาศรายชื่อสุดท้ายแล้ว...คุณหลวง จึงยื่นจดหมายคืนให้กับ เจ้าคุณสันติ.. พร้อมยื่นหน้า กระซิบบอก เจ้าคุณสันติ เบาๆว่า ...
“ เราคงต้องจับตา เจ้าหนุ่มไกรสร คนนี้ ใกล้ชิดขึ้น แล้วละขอรับ ท่านเจ้าคุณ..”
เจ้าคุณสันติทำสีหน้าครุ่นคิด ..จากนั้น จึงหยิบจดหมายนั้น ขึ้นพิจารณารายชื่ออีกครั้ง ..แล้วพบว่า ตัวอักษรชื่อ คุณพีระ และคุณหนูพา เป็นคล้ายดั่งหมึกสีทอง ระยิบนูน พร้อมส่งกลิ่นหอมของดอกไม้อย่างประหลาด ...
แต่ในขณะที่ อักษรชื่อ ของคุณไกรสร กลับเปลี่ยนเป็น สีแดง คล้ายดั่งโลหิตที่แห้งกรัง ติดคมหอกคมดาบ.. และมีกลิ่นไอ บางอย่างพุ่งออกมาปะทะ .. จนคุณหลวงต้องผงะห่าง ออกชั่วครู่หนึ่ง พลางถามคุณหลวงว่า
“นี่หรือ ที่คนโบราณ เรียกกันว่า อักษรโลหิต ใช่ไหม คุณหลวง .. “
คุณหลวงนิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง จึงค่อยๆ ตอบว่า
“..กระผมคงต้องขอไปหารือ กับสมเด็จพุฒาจารย์ ที่วัดระฆัง ถึงอักษร นี้ ก่อนนะขอรับ ..แต่ไอของอักษรโลหิตนี้ คงเทียบได้กับ เมื่อครั้งกวีศรีปราชญ์ หรือ เจ้าอนุวงศ์ เขียนทาลงบนแผ่นดิน นั่นเอง ขอรับ..”
เจ้าคุณสันติ พยักหน้ารับ อย่างเข้าใจ และมองตามคุณหลวงที่กำลังจ้องไปที่ แผ่นหลัง ของ คุณไกรสร ที่ถูกเจ้าทองดี ประคองเดินหายไปกลับกลุ่ม ผู้ที่ได้รับการคัดสรรคนอื่นๆ..
.
.
“ เลือดที่มือคุณไกรสร .. ออกมากเหลือเกิน นะขอรับ.. หยุดเดิน ขอให้ผมทำแผลให้ก่อนนะขอรับ...” เจ้าทองดี ถามไถ่ ด้วยความเป็นห่วงเป็นใย...
“รีบเดินขึ้นเรือน กันเร็วขึ้นแต่อย่าให้มีพิรุธนะ ..ทองดี..คุณหลวงท่านนี้ มีวิชาแก่กล้านัก.. เราต้องรีบแจ้ง ให้แม่จ่ายทราบโดยเร็ว” คุณไกรสรก้มหน้าลงพูดด้วยเสียงเบาต่ำ กับทองดี และเร่งฝีเท้าเดินแทรกนำหน้าหายเข้าไปในกลุ่มผู้ที่ได้รับสรร วันนี้...
จบบทที่ 1 ตอนที่ 5
#เกร็ดเพิ่มเติม,
#หม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด)
-หม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ มีพระนามเดิมว่าหม่อมเจ้าทัด เป็นพระโอรสในพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหลวงเสนีบริรักษ์ กับหม่อมบุญมา,
-เป็นน้องชายต่างมารดา ของ “หม่อมทินกร”, และเป็นน้องชายต่างมารดาอีกคนหนึ่งของ “หม่อมเจ้าทับ”
-ได้ผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วไปเล่าเรียนกับพระมหาโต ที่วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร จนอายุครบอุปสมบทในปี พ.ศ. 2385
-ต่อมาในปี พ.ศ. 2415 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังฯ แทนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่มรณภาพลง,
หม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด)
#พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแตงกรมหลวงเสนีบริรักษ์,
-เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าทองอิน กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข กับเจ้าครอกทองอยู่, ทรงเป็นผู้คุมกองทัพที่มากความสามารถ เห็นได้จากผลงานการทำสงครามที่เวียงจันทน์, ในสงครามครั้งนั้น “หม่อมเจ้าทับ” ผู้เป็นโอรส ได้ติดตามพระบิดาและกองทัพไทยที่ยกไปตีเวียงจันทน์เมื่อพ.ศ. 2369 ตรงกับในสมัยรัชกาลที่ 3 อาจกล่าวได้ว่าเป็นศึกครั้งใหญ่ที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 3, นอกจากนี้ หม่อมเจ้าทับ ยังเป็นกวีและประพันธ์นิราศทัพเวียงจันทน์ในครั้งนั้นเอาไว้ด้วย,
#แม่มดจ่าย,
-คือ แม่มดชาวลาวที่เป็นคนสนิทของ เจ้าจอมแว่น ปรากฏในบันทึกหลายแห่ง,
ในประวัติศาสตร์ ซึ่ง พบว่า เป็นหนึ่งในผู้มีจิตศรัทธา สร้างวัดสังข์กัจจาย ร่วมกับนายสังข์
#สมเด็จพระปิลันทน์
-หม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) เป็นผู้สร้าง "พระสมเด็จปิลันทน์" โดยเป็นพระเนื้อผงผสมผงใบลานเผา และเชื่อกันว่า พระพุทธุปบาทปิลันทน์ได้ขอผงวิเศษห้าประการของเจ้าประคุณสมเด็จฯ มาเป็นอิทธิวัตถุผสมเป็นหลักของมวลสารด้วย
สมเด็จพระปิลันทน์
-ส่วนทางด้านศิลปะการแกะพิมพ์เชื่อกันว่าเป็นของช่างหลวง
สวัสดี และขอจบเพียงแค่นี้
ขอบคุณครับ,
ร้อยเรียงโดย (T.Mon)
1/5/2020
ภาพและข้อมูลสนับสนุนส่วนหนึ่ง: ราชกิจจานุเบกษา, การศพหม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์แลสมเด็จพระวันรัต, เล่ม 17, ตอน 48, 19 กุมภาพันธ์ 2443, หน้า 687, กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ. คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก เล่ม 3. ชมรมดำรงวิทยาฯ จัดพิมพ์.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา