3 มิ.ย. 2020 เวลา 01:56 • การศึกษา
3 เหตุผลดีๆ ที่คุณควรเลือกใช้ "อินเวอร์เตอร์"
มีหลายคนที่ให้ผมแนะนำว่า ควรใช้แอร์อะไรดี ผมก็บอกว่า อย่าแรกคือ ให้ใช้อินเวอร์เตอร์ เขาจะตอบกลับมาว่า ช่างบอกว่า อินเวอร์เตอร์ไม่ดี เสียบ่อย ล้างยาก ไม่ฉ่ำ และอื่นๆ ... ที่ผมอาจไม่รู้ว่ามีเหตุผลอะไรอีกหรือเปล่า
แต่ผมอยากบอกกับทุกคนว่า ถ้าคุณเลือกใช้อินเวอร์เตอร์ ประโยชน์ที่คุณได้รับ แทบจะลืมปัญหาข้างต้นไปได้เลย ที่สำคัญคือ ปัญหาเหล่านั้นแทบไม่ได้เกิดจากคุณภาพของอินเวอร์เตอร์เลย
ทีนี้เรามาดูกันว่า 3 เหตุผลดีๆ มีอะไรบ้าง เรามาดูกัน
1. นอนหลับสบายไม่ตื่นกลางดึก
การที่อุณหภูมิห้องคงที่ หมายถึง การที่คุณนอนหลับโดยไม่ต้องตื่นขึ้นมาเวลากลางคืน เพราะเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว ของแอร์แบบเดิมที่ตัด/ต่อแบบไม่เหมาะสมกับการนอนที่ดี
การตัด/ต่อของแอร์แบบเดิม (ไม่ใช่อินเวอร์เตอร์) เป็นเพราะการทำงานคอมเพรสเซอร์แบบเดิม (Rotary หรือ Scroll Compressor) จะทำงานแบบ 100% พออุณหภูมิห้องถึงที่ตั้งไว้ คอมเพรสเซอร์ก็จะหยุด เราเรียกการทำงานแบบนี้ว่า ตัด/ต่อ หรือ ทำ/หยุด หรือ 100% / 0%
เวลาคอมเพรสเซอร์แบบเดิมทำงาน ความเย็นจะถูกส่งออกมาเต็มที่ ตามขนาดความเย็นที่ทำได้ เพื่อให้อุณหภูมิห้องลงมาเร็วที่สุด ซึ่งโดยปกติก็จะใช้เวลาไม่มาก อุณหภูมิห้องก็สามารถลดลงมาถึงจุดที่ตั้งไว้
แต่ของจริง คือ พออุณหภูมิห้องถึงตามที่ตั้งไว้ แต่คอมเพรสเซอร์ก็ยังไม่ตัด ยังคงทำความเย็นต่อเนื่องไปอีกสักพัก อุณหภูมิห้องก็ลดลงไปอีก 0.5 องศา ก็ยังไม่ตัด ต่ำกว่า 1 องศา ก็ยังไม่ตัด ... ไปตัดเอาที่อุณหภูมิห้องต่ำกว่า 2 ถึง 3 องศา ที่ตั้งไว้
ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าว ถ้าเป็นเวลานอน เราจะรู้สึกเย็นมาก ต้องใช้ผ้านวมหนาๆ ทำให้หลับสบาย
ช่วงนี้เป็นช่วงที่คอมเพรสเซอร์ตัดหรือหยุดทำงาน ... อุณหภูมิห้องก็จะค่อยๆสูงขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ไปจนถึงอุณหภูมิที่ตั้งไว้ คอมเพรสเซอร์ก็จะทำงานต่อ
แต่ ... ของจริง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คอมเพรสเซอร์ยังคงอยู่เฉยๆ ไม่ทำงาน จนอุณหภูมิขึ้นๆไปสูงกว่าอุณหภูมิที่ตั้งไว้ 2-3 องศา คอมเพรสเซอร์ถึงจะกลับมาทำงานต่อ
ผลก็คือ เราจะรู้สึกว่า เริ่มร้อนล่ะ ไม่สบายตัว ต้องถีบผ้าห่มออกไป
เหตุผลที่สำคัญ ที่ทำให้เรารู้สึกไม่เย็นเวลาคอมเพรสเซอร์ตัดการทำงาน เพราะความชื้นสัมพัทธ์สูงขึ้น เราก็จะรู้สึกเหนียวตัว ตรงนี้แหละที่ทำให้เราตื่นเพราะไม่สบายตัว ไม่ใช่อุณหภูมิห้องที่แตกต่างไปจริงๆหรอก
ส่วนคอมเพรสเซอร์แบบอินเวอร์เตอร์ เขาจะทำงานไม่หยุด ทำงานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาอุณหภูมิห้องให้ใกล้เคียงกับอุณหภูมิที่ตั้งไว้มากที่สุด โดยสามารถทำได้ในระดับที่อุณหภูมิห้องแตกต่างกับอุณหภูมิที่ตั้งไว้ไม่เกิน 0.5 องศา
โดยคอมเพรสเซอร์แบบอินเวอร์เตอร์ จะคอยปรับเปลี่ยนรอบการทำงาน เพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงความร้อนที่เกิดขึ้นจริงในห้อง
อินเวอร์เตอร์สามารถทำงานที่ระดับต่ำสุดประมาณ 3,000 บีทียู/ชม.
นอกจากทำให้อุณหภูมิห้องคงที่แล้ว ความชื้นสัมพัทธ์ก็คงที่ด้วย ทำให้เราไม่ตื่นขึ้นมาเวลากลางคืน เราจะไม่รู้สึกเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว อีกต่อไป หลับสบายยันเช้า แค่นี้ก็คุ้มมากๆแล้ว จริงไหม
2. เสียงคอมเพรสเซอร์เงียบกว่า
เวลาที่คอมเพรสเซอร์ทำงาน ในระดับ 3,000 (25%) หรือ 6,000 (50%) หรือ 9,000 (75%) จากแอร์ขนาด 12,000 (100%) บีทียู/ชม. ... แสดงว่า คอมเพรสเซอร์ทำงานน้อยลงใช่ไหม ทำให้เสียงจากการทำงานเบาลง หรือ เงียบลง ด้วยเช่นกัน
และถ้ายิ่งแอร์ขนาดใหญ่กว่านี้ เสียงยิ่งเงียบลงอย่างเห็นได้ชัด แต่สมัยนี้คงไม่ค่อยมีปัญหานี้แล้ว เพราะแอร์ส่วนใหญ่ค่อนข้างเสียงเบา
แต่การทำงานของคอมเพรสเซอร์ ไม่ได้เป็นขั้นแบบที่ผมยกตัวอย่างนะครับ เพราะเขาทำงานได้ละเอียดกว่านั้นอีก ซึ่งส่งผลให้ค่าไฟลดลงอย่างเห็นได้ชัด
3. ได้เงินค่าแอร์คืนทุกบาททุกสตางค์
ได้เงินคืนทุกบาททุกสตางค์ จริงเหรอ เป็นไปได้เหรอ เอาอะไรมาพูด เรามาดูไปพร้อมๆกัน
เมื่อประมาณยี่สิบปีก่อน ผมเปลี่ยนแอร์ให้ห้องนอนที่บ้านน้องภรรยา ขนาด 18,000 บีทียู/ชม. 1 ตัว (แน่นอน คอมเพรสเซอร์เป็นแบบปกติทั่วไป)
โดยผมเสนอให้เปลี่ยนเป็นแอร์แบบ อินเวอร์เตอร์ แต่ราคาต่างกันประมาณ 10,000 บาท แบบเดิมราคา 26,000 แต่อินเวอร์เตอร์ราคา 36,000 บาท
เอาไงล่ะทีนี้ น้องก็เลยปรึกษาผมว่า เขาเลือกอะไรดี ผมก็เลยแนะนำว่า
ถ้าซื้ออินเวอร์เตอร์แล้ว สามารถได้เงินส่วนต่างของราคาคืน จากค่าไฟที่ลดลง ภายในเวลาสองปีกว่า ไม่เกิน 3 ปี และถ้าใช้ไป 10 ปี แล้วได้เงินค่าแอร์ทั้งหมดคืน แบบนี้โอเคไหม? ...
เขาตอบ ตกลง ใช้อินเวอร์เตอร์ก็ได้ ... ยังไม่ค่อยแน่ใจ
ในทางทฤษฎีอินเวอร์เตอร์ สามารถประหยัดไฟได้ประมาณ 25%
ตอนนั้นค่าไฟที่บ้านทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น มีแอร์หนึ่งตัว ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เตารีด และ อื่นๆ ค่าไฟเฉลี่ยประมาณ 1,000 บาท ถ้าหน้าร้อนก็จะประมาณ 1,100 หรือ 1,200 บาท น้องอยู่บ้านคนเดียว ทำงานบริษัท
หลังจากติดตั้งเสร็จ เดือนแรกค่าไฟออกมา 490 เศษๆ เกือบๆห้าร้อยบาท ... ก็ตกใจกัน เป็นไปได้เหรอ งงมาก ... เอาจริงๆ ผมก็งงเหมือนกัน มันไม่น่าลดได้ขนาดนั้น
เอางี้ ลองดูเดือนต่อไป ... เดือนต่อไปก็ออกมาประมาณ 500 นิดๆ อยู่แบบนี้คือ เฉลี่ยประมาณ 500 บาท/เดือน
ถ้าเราคิดแบบเร็วๆนะ ประหยัดไฟได้เดือนละ 500 บาท เท่ากับปีละ 6,000 บาท 2 ปี ก็ประหยัดได้ 12,000 บาท
เท่ากับว่า ใช้อินเวอร์เตอร์ไป ไม่ถึงสองปี ก็ได้ส่วนต่าง 10,000 บาทคืน
แล้วใช้ไป 6 ปี ประหยัดไฟได้ 36,000 บาท เท่ากับว่า ได้เงินค่าแอร์ ทั้งหมดคืนแล้ว ถึงเวลานั้น ถ้าแอร์เจ๊งก็เอาเงินนี้ไปซื้อแอร์ตัวใหม่ได้อีก จริงม่ะ!!! แบบนี้เรียกว่า คุ้มมากๆ หรือ คุ้มจริงๆ
หลังจากนั้น ผมได้แนะนำเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง ให้ใช้อินเวอร์เตอร์ เพราะมันคุ้มแบบนี้ ที่บ้านใช้อินเวอร์เตอร์ทุกตัว
ยิ่งหลังๆมานี้ ราคาแอร์อินเวอร์เตอร์ ไม่ได้แตกต่างจากแอร์แบบเดิมมากนัก และตอนนี้การไฟฟ้าได้ออกฉลากใหม่ ประหยัดค่าไฟเบอร์ 5 (1-2-3 ดาว) ยิ่งดาวเยอะ ยิ่งประหยัดไฟมาก แบบนี้ก็ยิ่งคุ้มทุนเร็วขึ้นไปอีก
สรุปคือ ผมแนะนำให้ใช้ “อินเวอร์เตอร์” เพราะเหตุผลดี 3 ข้อนี้แหละ
ปล ... ที่มันเย็นไม่ฉ่ำ ก็เปลี่ยนผ้าห่มหนาๆ เป็นผ้าห่มบางๆ หรือปรับอุณหภูมิต่ำลงอีกหน่อย เพื่อให้เรานอนหลับอย่างสบายจริงๆ ปรับตัวนิดหน่อย แต่คุ้มสุดๆ แบบนี้น่าปรับไหม
แต่ถ้าเป็นคนขี้ร้อนจริงๆ เวลาติดตั้งให้ลมเป่าใส่ตัวนะครับ เพราะมันจะเย็นกว่าจุดอื่น แค่นี้ก็แก้ปัญหาได้แล้ว
โฆษณา