1 มิ.ย. 2020 เวลา 05:39 • ธุรกิจ
ทำไม “คนมองโลกในแง่ร้าย” ถึงมีโอกาสเอาตัวรอดทางการเงินได้ดีกว่า?
.
การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือนโดยไม่จำเป็นนั้น กระทบต่อการวางแผนชีวิตและธุรกิจของใครหลายๆ คน บางคนไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับวิกฤตในครั้งนี้ ผมเพิ่งมีโอกาสได้คุยกับเพื่อนที่ทำธุรกจอาหารท่านหนึ่ง และได้ข้อคิดที่อยากนำมาแบ่งปันกัน
.
เขาบอกผมว่า “ในวิกฤตแบบนี้ผมเพิ่งเห็นประโยชน์ของการที่ผมมองโลกในแง่ร้ายเหมือนกันนะพี่ มันทำให้ผมบาดเจ็บน้อยกว่าคนอื่นๆ”
.
พอพูดว่าการมองโลกในแง่ร้ายบางคนก็คิดว่า "น่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ดี" แต่ในเชิงจิตวิทยาคนมองโลกในแง่ร้าย ไม่ได้ไม่ดีไปเสียหมด เพราะมันจะทำให้พวกเขาประเมินสถานการณ์แย่กว่าความเป็นจริง ทำให้เกิดการปรับตัวและการรับมือล่วงหน้าค่อนข้างมาก
.
วันนี้เรามาเรียนรู้การบริหารเงินแบบคนมองโลกในแง่ร้ายกันดีกว่าครับ
.
📣 ข้อแรก “คนมองโลกในแง่ร้ายเป็นคนเตรียมพร้อม”
.
ด้วยความที่หลายครั้งในสถานการณ์ปกติ เราจะยึดถือว่า “ความปกติ”จะอยู่กับเราไปเรื่อยๆ แต่เมื่อวันหนึ่งความปกติของเราถูกกระทบ หลายคนนั้นแทบจะเสียศูนย์ไปเลย แต่คนมองโลกในแง่ร้ายหลายๆ คนจะตั้งแง่ไว้ก่อนว่าสักวันหนึ่งวิกฤตจะต้องเกิดๆ ดังนั้นพวกเขามักจะตั้งรับไปด้วยและใช้ชีวิตแบบระมัดระวังในช่วงเวลาที่ปกติ และเมื่อเกิดวิกฤตพวกเขาจะได้นำออกมาใช้ยามฉุกเฉิน
.
📣 ข้อสอง “หากคุณมองโลกในแง่ร้ายคุณอาจจะเหนื่อย…แต่รอด”
.
CEO ผมเคยบอกว่าถ้าเราตั้งเป้ามีเงิน 100 บาท เราอาจจะมีเงินไม่ถึง 100 บาท แต่ถ้าหากเราตั้งเป้าสูงกว่านั้นเช่น เราตั้งเป้าว่าอยากมจะมีเงินล้าน ท้ายที่สุดเราอาจจะมีเงินไม่ถึงล้าน แต่ก็อาจจะไปได้ถึงหลักแสน และแน่นอนว่ามันเกิน 100 บาทแน่ๆ เพราะเราต้องตั้งเป้าให้ท้าทายเพื่อชาเลนจ์ตัวเองและทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะไปให้ได้ เราอาจจะเหนื่อยแต่เราจะรอด ถ้าสถานการณ์ไม่ได้แย่เราแค่เหนื่อยเฉยๆ
.
📣 ข้อสาม “การมองหาแพลน B แพลน C คือนิสัยที่ควรมี”
.
ด้วยความที่คนมองโลกในแง่ร้ายเป็นคนวิตก ดังนั้นเขาจะไม่เชื่อว่ามีทางรอดเดียวเสมอเมื่อจะเกิดวิกฤต แต่ความตื่นตัวจะทำให้เรามองหาแพลน B และหลายคนมองทางรอดไว้ไม่ใช่แค่แพลน B แพลนเดียว การที่มีทางเลือกมากขึ้นย่อมเป็นเรื่องที่ดี และสติของเราจะไตร่ตรองว่า แต่ละทางเลือกนั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ก่อนที่จะตัดสินใจอย่างระมัดระวังในการเลือกเพื่อเอาตัวรอด
.
ท้ายที่สุดแล้วการมองโลกในแง่ร้ายแบบพอประมาณเป็นทักษะที่เราควรจะมีในภาวะวิกฤต ไม่ต้องไปถึงขั้นหวาดวิตกจนชีวิตไม่มีความสุข แต่ในวิกฤตการตื่นตัวตลอดเวลา การพร้อมจะปรับตัว และการประเมินสถานการณ์ให้รุนแรงกว่าเสมอ จะทำให้เรามีโอกาสรอด ลองปรับตัวดูครับ
.
คอลัมน์ #มีสลึงพึงบรรจบ โดย Mr.Priceless
โฆษณา