1 มิ.ย. 2020 เวลา 06:13 • ความคิดเห็น
👟 NIKE ฉีกสโลแกนเดิม
ยืนหยัดต่อต้าน “การเหยียด” 🙅‍♂️
จากสโลแกนสุดทรงพลัง Just Do It
ที่กระตุ้นให้คน ‘ลงมือทำ’
วันนี้ขอเปลี่ยนเป็น 🚫 อย่าทำ 🚫
NIKE ไม่เพียงแต่เรียกร้องให้ผู้คนตระหนักถึง “การเหยียดชาติพันธุ์” ที่เกิดขึ้นในอเมริกา แต่ยังหยัดยืนแน่วแน่ต่อต้านพฤติกรรมแบบนั้นด้วย
วันที่ 29 พฤษภาคม 2020
NIKE ปล่อยแคมเปญโฆษณาตัวใหม่
“ขอสักครั้ง อย่าทำแบบนั้น”
ซึ่งสอดคล้องกับเหตุโศกนาฏกรรมต่อคนผิวสี ‘จอร์จ ฟลอยด์’ เมื่อเขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เข่ากดทับคอหลายนาทีจนถึงแก่ความตาย
ความอึดอัด ความรู้สึกท่วมท้นต่อการถูกกดขี่ที่อัดแน่นมาตลอดระยะเวลาหลายปี ก่อให้เกิดการจราจลครั้งใหญ่ที่ลามไปมากกว่า 20 เมือง 🔥🔥
แบรนด์ที่แสดงจุดยืนเรื่องความ ‘ยุติธรรม & ความเท่าเทียม’ มาตลอดอย่าง NIKE ย่อมไม่นิ่งเฉยในเรื่องนี้
วิดีโอความยาว 1 นาที มีข้อความสีขาวบนฉากหลังสีดำพร้อมกับเสียงเปียโนที่คลอไปด้วย
“ขอสักครั้ง . . อย่าทำ”
“อย่าแสร้งทำเป็นว่าไม่เกิดปัญหาที่อเมริกา”
“อย่าเพิกเฉยต่อการเหยียด”
“อย่ายอมรับการที่ชีวิตของผู้บริสุทธิ์ต้องถูกพรากไป”
“อย่าใช้ข้อแก้ตัวใด ๆ อีก”
“อย่าคิดว่าเรื่องนี้ไม่กระทบกับคุณ”
“อย่าปล่อยปละและปิดปากเงียบ”
“อย่าคิดว่าตัวเองไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง”
“มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงกันเถอะ”
ปิดท้ายด้วยโลโก้ที่คุ้นตา
พร้อมกับแฮชแท็ก #UntilWeAllWin ด้านล่าง
.
.
ในปี 2018 NIKE ก็เคยแสดงจุดยืนต่อเรื่องการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงเรื่องการเหยียดสีผิว โดยการใช้ภาพนักกีฬา “โคลิน เคเปอร์นิค” ในแคมเปญ Just Do it ✔️
“จงเชื่อมั่นในบางสิ่ง
แม้นั่นจะหมายถึงการต้องสูญเสียทุกสิ่งที่เหลืออยู่”
ที่มาที่ไปของแคมเปญนี้ มาจากเหตุการณ์ปะทะ ณ เมืองเฟอร์กูสัน ปี 2014
โดยเรื่องของเรื่องมันเริ่มมาจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ “แดเรน วิลสัน” ก่อเหตุวิสามัญฆาตกรรมเด็กหนุ่มผิวสีวัย 18 ปี “ไมเคิล บราวน์” ที่เมืองเฟอร์กูสัน, รัฐมิสซูรี 🇺🇸 ทั้ง ๆ ที่เขาไม่มีอาวุธติดตัวและไม่ได้มีท่าทีขัดขืน
บราวน์ชูมือขึ้นให้เห็นว่าเขาไม่ได้พกอาวุธใด ๆ พร้อมตะโกนว่า “อย่ายิง!” แต่เขากลับถูกยิงเข้าด้านหลัง 6 นัด!!
ภาพจำลองกระสุนที่ยิงเข้าร่างกายของ "ไมเคิล บราวน์"
ร่างไร้วิญญาณของบราวน์นอนจมกองเลือดราว 4 ชั่วโมง ก่อนจะถูกเคลื่อนย้ายออกไป
ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น . . คำตัดสินของคณะลูกขุนออกมาเป็นเอกฉันท์ว่าไม่ส่งฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจคนดังกล่าว โดยถือว่าการวิสามัญฆาตกรรมนั้นเป็นการป้องกันตัว เนื่องจากไม่สามารถหาหลักฐานได้ว่าบราวน์ได้ยกมือขึ้นเหนือหัวและตะโกนว่าอย่ายิงจริง
เรื่องนี้เป็นชนวนให้เกิดการจลาจล
โดยเริ่มจากเมืองเฟอร์กูสันลามไปทั่วประเทศ
ผู้คนไม่อาจยอมรับการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ได้อีกต่อไป
เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงผู้ต้องสงสัยถึง 6 นัด มันคือภาพที่ชัดเจนที่สุดแล้วถึงการเลือกปฏิบัติโดยตราหน้าคนผิวสีว่าเป็น ‘อาชญากร’ ไว้ก่อน
การประท้วงลุกลามใหญ่โตถึงขั้นที่ต้องมีการวางกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิมาปราบปราม
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตำรวจกระทำเกินกว่าเหตุ และมันจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอนถ้าทุกคนปล่อยให้มันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่คิดจะออกมาส่งเสียงใด ๆ
การเหยียดชาติพันธุ์ที่ฝังรากลึกในอเมริกาไม่เคยลดลงไปเลยแม้จะผ่านมาประท้วงที่ทั้งสงบและไม่สงบมาแล้วหลายครั้ง
.
.
ในปี 2016 เมื่อเพลงชาติดังขึ้นก่อนการแข่งขัน NFL (อเมริกันฟุตบอลในลีกระดับชาติ) “โคลิน เคเปอร์นิก” ผู้เล่นในตำแหน่งควอเตอร์แบ็ค เลือกที่จะคุกเข่าลงหนึ่งข้างเพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่าเขาไม่เชื่อในความหมายของเนื้อเพลงที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพและความเท่าเทียมของคนในสังคม
เพราะในความเป็นจริงแล้ว
ความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติยังคงมีให้เห็นโดยทั่ว
เพื่อนร่วมทีม รวมถึงนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลและนักกีฬาอื่น ๆ ที่เห็นแบบนั้น ก็เริ่มคุกเข่าลงตาม
ปกติแล้ว เราจะเห็นภาพนักกีฬาทุกคนยืนตรง บางคนเอามือกุมไปที่หน้าอกเพื่อแสดงความภูมิใจต่อความเป็นชาติ 🇺🇸
แต่โคลินให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า
“ผมไม่อาจยืนแสดงความภาคภูมิใจในธงชาติของประเทศที่ยังกดขี่คนผิวสีได้”
การประท้วงแบบโคลินคือการประท้วงอย่างสันติที่แท้จริง และเป็นการแสดงออกอย่างกล้าหาญ
โคลินรู้ดีว่าผลที่ตามมาอาจทำให้เขาต้องจ่ายราคาแพงถึงขั้นสูญเสียหน้าที่การงาน
ใช่แล้วล่ะ . . เขากลายเป็นคนว่างงานหลังจากนั้น
แต่เขาก็ยังคงเดินหน้ารณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติและการเหยียดชาติพันธุ์ต่อไป
นับเป็นอีกครั้งที่กระแสต่อต้านการเหยียดผิวถูกปลุกขึ้นมา แต่มันก็มาพร้อมกับกระแสตีกลับอย่างรุนแรงเช่นเดียวกันสำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วย
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
เรียกร้องให้ไล่นักกีฬาที่ไม่ยอมยืนเคารพธงชาติออก
“เอาไอ้เว*นั่นออกไปจากสนามซะ ไล่ออก! ไล่ออก!”
ทรัมป์พูดพร้อมกับเสียงปรบมือเชียร์จากฝูงชน
.
.
หลังจาก NIKE เลือกเอาใบหน้าของ “โคลิน เคเปอร์นิค” มาโปรโมตแคมเปญโฆษณายุติความไม่เท่าเทียม NIKE ก็ย่อมรู้ดีว่าแบรนด์ที่สร้างชื่อและทำเงินมาหลายปี จะต้องเจอกับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความกล้าหาญของ NIKE ในการลงมาเล่นในเกมที่ใหญ่กว่าบริษัทตัวเอง นำไปสู่การที่ชาวอเมริกันหลายคนโพสต์วิดีโอเผารองเท้าผ้าใบ NIKE โชว์ พร้อมกับแฮชแท็ก #บอยคอตต์ไนกี้ ที่กลายเป็นกระแสรุนแรงในช่วงนั้น
ผลที่ตามมาคือ . . หุ้นของ NIKE ลดลง
แต่พวกเขาเลือกแล้วว่า จะยอมสูญเสียลูกค้ากลุ่มหนึ่งไปเพื่อหวังผลในระยะยาว
“จงเชื่อมั่นในบางสิ่ง แม้จะต้องสละทุกสิ่ง”
1
.
.
ภาพชาวผิวสีในอดีตที่ถูกส่งเข้ามาเป็น “ทาส” ยังคงตราตรึงและฝังอยู่ภายใต้จิตสำนึกลึก ๆ ของชาวผิวสีในประเทศ แม้บางคนอาจจะไม่กล้ายอมรับมันออกมาตรง ๆ
ก่อนที่จะเกิดสงครามกลางเมือง รัฐฝ่ายใต้ต้องพึ่งพาแรงงานทาสของชาวผิวสีในการทำการเกษตรและไร่ฝ้าย สำหรับพวกเขาแล้ว ชาวผิวสีก็เป็นเพียงอีกชนชั้นหนึ่งที่ไม่มีวันขึ้นมาเทียบชั้นกับพวกเขาได้
เมื่อวันที่ฝ่ายเหนือชนะจนเกิดการเลิกทาส มันก็ไม่ได้หมายความว่าชาวผิวสีจะได้สิทธิที่เท่าเทียม
พวกเขายังคงถูกเลือกปฏิบัติและถูกกีดกันอย่างรุนแรง
มีการแยกโรงแรม, ร้านอาหาร, ห้องน้ำ ระหว่างคนผิวสีกับคนผิวขาว
แม้ทุกวันนี้อะไร ๆ มันจะดีขึ้น แต่นั่นก็เป็นเพราะอคติที่ฝังอยู่ลึก ๆ ในใจของบางคน มันไม่ได้ถูกแสดงออกมาก็เท่านั้น
เพิ่มเติม :
วิดีโอโฆษณา "อย่าทำ" ของ NIKE
โฆษณา