2 มิ.ย. 2020 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
เงินเฟ้อติดลบ จะกระทบชีวิตเราอย่างไร?
ในวิชาการเงิน มักพร่ำสอนมาเสมอว่า เงินที่เราถืออยู่นั้นจะด้อยค่าลง
ซึ่งเราควรนำเงินไปลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนให้ได้มากกว่าเงินเฟ้อ
โดยเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3%
หมายความว่า ถ้าวันนี้เราถือเงินอยู่ 100 บาท ณ สิ้นปี สินค้าและบริการจะมีราคาสูงขึ้นจนทำให้เสมือนเงินของเรามีมูลค่าลดลงเหลือ 97 บาท
อย่างไรก็ตาม วันนี้สิ่งที่ประเทศไทยของเราเจอกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น
เพราะเงินเฟ้อกำลังติดลบในปีนี้
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจกับความหมายของเงินเฟ้อกันก่อน
ภาวะเงินเฟ้อคือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าโดยเฉลี่ยนั้นมีแนวโน้มสูงขึ้น
ซึ่งหากเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมากและเร็วเกินไปจะกระทบกับฐานะความเป็นอยู่ประชาชน และจะทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นหมดความน่าเชื่อถือไปด้วย
โดยการเกิดขึ้นของเงินเฟ้อนั้นอาจเกิดมาจากฝั่งผู้ซื้อ ที่ต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นเร็วมากกว่าปริมาณสินค้าและบริการที่มีขายอยู่ในตลาด (Demand - Pull Inflation)
หรืออาจเกิดจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจนทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับต้นทุนดังกล่าวได้ จนต้องเพิ่มราคาสินค้าและบริการ (Cost - Push Inflation)
แล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเงินเฟ้อของประเทศไทยที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
2561 อัตราเงินเฟ้อ 1.1%
2562 อัตราเงินเฟ้อ 0.7%
1
ดังนั้น คำว่า “เงินเฟ้อจะโตปีละ 3%” ก็ไม่เป็นจริงเสมอไป อย่างน้อยๆ ก็ในช่วงที่ผ่านมานี้
แต่ที่น่าสนใจคือ
ในเดือนเมษายน 2563 อัตราเงินเฟ้อของไทยเท่ากับ -2.9% ซึ่งติดลบมากที่สุดในรอบ 11 ปี..
ปรากฏการณ์เงินเฟ้อติดลบ ในทางเศรษฐศาสตร์เราจะเรียกว่า ภาวะเงินฝืด
ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อระดับราคาสินค้าและบริการลดลงอย่างต่อเนื่อง
แล้วสิ่งนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไรในประเทศไทย
เรื่องแรกเป็นเรื่องของราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่มีทิศทางลดลงมาตั้งแต่ปี 2561 สังเกตได้จากค่าใช้จ่ายในการนำเข้าสินค้าประเภทเชื้อเพลิงนั้นลดลง
ปี 2561 มูลค่านำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงเท่ากับ 1.3 ล้านล้านบาท
ปี 2562 มูลค่านำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงเท่ากับ 1.1 ล้านล้านบาท
โดยสินค้าประเภทเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน นับเป็นต้นทุนสำคัญสำหรับภาคการผลิตและการขนส่งของประเทศไทย
Cr. Bangkok Post
อีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้คือ การเติบโตแบบก้าวกระโดดของของธุรกิจ E-Commerce
ปี 2557 มูลค่าตลาดของ E-commerce เท่ากับ 2.0 ล้านล้านบาท
หรือ 15% ของ GDP ทั้งประเทศ
ปี 2561 มูลค่าตลาดของ E-commerce เท่ากับ 3.2 ล้านล้านบาท
หรือ 19% ของ GDP ทั้งประเทศ
เรื่องนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการหลายรายนั้นลดลง
แต่ E-Commerce ยังทำให้เกิดการแข่งขันสูง
Cr. EIC
ทั้ง 2 ปัจจัย ราคาเชื้อเพลิง และ E-Commerce ทำให้ราคาสินค้าและบริการโดยเฉลี่ยในช่วงที่ผ่านมาจึงมีแนวโน้มลดลง
บางคนอาจบอกว่า
ปรากฏการณ์เงินฝืดน่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะราคาสินค้านั้นมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่า ระดับราคาสินค้าที่ลดลง นั่นหมายถึง รายได้ของผู้ผลิตนั้นมีแนวโน้มลดลง
ดังนั้น ผู้ผลิตก็อาจไม่มีแรงจูงใจที่จะผลิตสินค้าและบริการในปริมาณเท่าเดิม จนต้องลดการผลิตลง หรือแม้แต่ลดการจ้างงานลง ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ
Cr. World Economic Forum
ที่สำคัญเรื่องนี้ยังกระทบไปถึงเรื่องของการบริโภคในระบบเศรษฐกิจ
ลองนึกว่า ถ้าเรากำลังต้องการซื้อสินค้าสักชิ้นในวันนี้ แต่การที่เงินเฟ้อติดลบ จะทำให้คิดว่าเราควรรออีกสักพักให้ราคามันถูกลง แล้วค่อยซื้อจะดีกว่า
ซึ่งการที่คนจำนวนมากตัดสินใจแบบนี้ จะส่งผลให้ผู้คนเลื่อนการบริโภค ผู้ผลิตขายสินค้าได้น้อยลง จนต้องลดราคาลงไปอีก วนกันเป็นลูปที่ทำให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัว และในที่สุดก็จะไปกระทบกับรายได้และกำไรของธุรกิจ ซึ่งสุดท้ายก็ต้องลดการผลิต และเลิกจ้างพนักงาน
อีกเรื่องที่หลายคนคิดไม่ถึงคือ
ภาวะเงินฝืดนั้นจะส่งผลเสียต่อลูกหนี้ หรือพูดง่ายๆ ภาระหนี้ที่แท้จริงของลูกหนี้นั้นมีมากขึ้น
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ
ถ้าวันนี้เราเป็นเจ้าของร้านรองเท้าอยู่ โดยมีหนี้กับธนาคารอยู่ 100,000 บาท ร้านของเราขายรองเท้าเฉลี่ยคู่ละ 1,000 บาท ซึ่งต้องขาย 100 คู่ จึงจะสามารถนำเงินไปใช้หนี้ได้
แต่เมื่อเกิดภาวะเงินฝืดขึ้น ราคารองเท้าลดลงจากคู่ละ 1,000 บาท เหลือคู่ละ 500 บาท หมายความว่า ตอนนี้ ร้านของเราต้องขายรองเท้าถึง 200 คู่ จึงจะสามารถนำเงินไปใช้หนี้ได้นั่นเอง
ซึ่งแน่อนว่า
ถ้าจำนวนครัวเรือนของไทยมีภาระหนี้สินจำนวนมาก
การเกิดภาวะเงินฝืดจะยิ่งทำให้ภาระหนี้ที่แท้จริงนั้นกลับสูงขึ้นไปอีก
ดังนั้น ถ้ามีคนบอกเราว่า ภาวะที่ราคาสินค้ามีแนวโน้มลดลงนั้นเป็นเรื่องที่ดี
อาจต้องตอบเขากลับไปว่า มันก็ไม่จริงเสมอไป..
โฆษณา