2 มิ.ย. 2020 เวลา 13:23
#เมื่อฉันเกษียณ…จะยังมีเงินใช้อยู่มั้ยนะ!?
เมื่อฉันเกษียณ…จะยังมีเงินใช้อยู่มั้ยนะ!? เป็นคำถามที่ผมเคยถามตัวเองและอยากรู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไร
ที่มา https://wealthyretirement.com/
ด้วยความอยากรู้เลยไปหาข้อมูลใน pantip พบว่า…
ที่มา pantip
มีคนที่ไม่ได้เตรียมตัวและมีปัญหามากมาย ดังนั้นแล้วจึงได้หาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า “31% ของคนสูงอายุไม่มีเงินออมไว้ใช้หลังเกษียณ และ 53% ของผู้มีเงินออมก็มีเงินออมไม่ถึง 200,000 บาท” แปลว่าหลังเกษียณจะมีเงินใช้เพียงวันละ 28 บาท เท่านั้น !! เป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก
1
ที่มา https://Set.or.th
ซึ่งสาเหตุก็มีด้วยหลายปัจจัย ได้แก่
1. เริ่มต้นวางแผนช้าเกินไป (โดยอายุที่เริ่มวางแผนเฉลี่ยอยู่ที่ 42 ปี)
2. มีความมั่นใจเกินไป
3. ไม่มีความเข้าใจด้านการวางแผนการเงินเท่าที่ควร
4. ประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณน้อยเกินไป
5. ประมาณอายุเฉลี่ยน้อยเกินไป
6. มีเงินออมน้อยเกินไป
7. เกษียณอายุก่อนกำหนดเร็วเกินไป
1
ผมจึงพยามรวบรวม Checklist 6 ข้อ เพื่อให้ตัวผมเองและเพื่อนๆที่อ่านอยู่นี้ มีเกราะคุ้มกันในวันที่ต้องไม่ได้ทำงาน ได้เตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอน เพราะบริษัทไม่ได้จ้างคุณไปตลอดชีวิต!
1. คุณจะมีชีวิตอยู่ถึงเมื่อไหร่?
หลายคนคงคิดในใจว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไร ใช่ ไม่มีใครรู้หรือกำหนดได้ว่าเราจะจากโลกนี้ไปวันไหน แต่จากสารประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล เดือนมกราคม ปี 2562 อายุขัยของคนไทยเพศชายอยู่ที่ 77 ปี และผู้หญิง 83 ปี นั่นหมายความว่า หากเกษียณที่อายุ 60 ปี คนส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตต่อไปอีกเฉลี่ยราว 20 ปีโดยที่ไม่มีรายได้ประจำ
ยิ่งถ้าหากคุณอยากเกษียณเร็วหรือเลิกทำงานแต่ยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบายๆ มีเงินไว้สำหรับจับจ่ายใช้สอยได้อย่างที่คุณเป็นในปัจจุบันนี้ หรือหากคุณมีเหตุฉุกเฉินต้องเกษียณเร็วกว่ากำหนดเพราะปัญหาสุขภาพ เท่ากับว่าคุณจะมีชีวิตหลังเกษียณยาวนานกว่าที่คุณคิด ก็ต้องยิ่งต้องมีเงินออมมากกว่าคนอื่น
2. เริ่มเก็บเท่าไหร่และเมื่อไหร่?
เริ่มเก็บให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าคุณเก็บตั้งแต่เริ่มทำงานช่วงอายุ 20–39 ปี เท่ากับว่าคุณมีเวลาเก็บเงินนานถึง 40 ปี ถึงแม้ว่าคุณจะมีรายได้ไม่มากนัก แต่ในทำนองเดียวกัน คุณก็อาจจะยังไม่มีภาระมากนักเช่นกัน ดังนั้น การเก็บเงิน 10–15% ของรายได้ที่คุณมีก็ไม่ถือว่าหนักหนาจนเกินไป และคุณสามารถเก็บเงินเท่านี้ไปได้ตลอดระยะเวลาทำงาน
ถ้าคุณอายุ 40–49 ปี แน่นอนว่าระยะเวลาในการเก็บเงินน้อยลง แต่ด้วยรายได้ที่มากขึ้น การเก็บเงิน 20%–25% เพื่อวัยเกษียณน่าจะเป็นตัวเลขที่พอรับได้ ถ้าคุณอายุ 50–54 ปี และไม่เคยเก็บเงินเพื่อวัยเกษียณเลย คุณต้องตัดใจเก็บเงินครึ่งหนึ่งของรายได้ หรือ 45%–50% เพื่อคุณจะได้มีเงินไว้ใช้จ่ายยามเกษียณ ถ้าคุณอายุ 55–59 ปี แปลว่ามีเวลาเก็บเงินเพียง 1-5 ปีเท่านั้นเรียกได้ว่า แทบไม่ทันการณ์ด้วยซ้ำ การเก็บ 80–85% ของรายได้หลายคนอาจบอกว่าแทบเป็นไปไม่ได้ แต่คุณอาจต้องกัดฟันทนสักนิดเพื่ออย่างน้อยจะได้มีเงินไว้ใช้ยามเกษียณ
ที่มา https://money.usnews.com/
3. เงินออมในวัยเกษียณควรมีเท่าไหร่?
สูตรค่าใช้จ่ายวัยเกษียณอ้างอิงจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคือ 70% ของค่าใช้จ่ายปัจจุบันต่อเดือน x 12 เดือน (เท่ากับค่าใช้จ่าย 1 ปี) x ประมาณการจำนวนปีที่จะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ = จำนวนเงินออมที่คุณต้องมีในวันเกษียณ
1
สมมติที่ค่าใช้จ่ายต่อเดือนปัจจุบันอยู่ที่ 30,000 บาท เงินออมคิดจาก 70% x 30,000 x 12 x 20 = 5,040,000 บาท ทั้งนี้ ยังไม่ได้มีการคิดอัตราเงินเฟ้อที่จะทำให้มูลค่าเงินลดลงไปอีก แต่เป็นเพียงการประเมินคร่าวๆ เท่านั้น
ที่มา https://Set.or.th
4. อยากใช้ชีวิตแบบไหน?
ไลฟ์สไตล์เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดวิธีออมเงินและจำนวนเงินออมเพื่อวัยเกษียณ หากคุณบอกว่า ก็ขอแค่ชีวิตที่ไม่ต่างจากตอนนี้ นั่นหมายความว่า คุณอยากเที่ยวต่างประเทศอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง กินอาหารดีๆ สัปดาห์ละ 2-3 วัน
มีเงินพาแมวน้อยไปหาหมอ มีทริปต่างจังหวัดกับเพื่อนเดือนละครั้งหรือเปล่า แน่นอนว่าคุณสามารถมีชีวิตแบบนั้นได้ แต่อย่าลืมว่าเมื่ออายุมากขึ้นร่างกายอ่อนแอลง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมาคือค่ารักษาพยาบาล ซึ่งการผ่าตัดหนึ่งครั้งนั้นแพงกว่าทริปเดินทางต่างประเทศ ดังนั้น ไม่ว่าคุณอยากใช้ชีวิตแบบไหน อย่าลืมเพิ่มเงินสำหรับดูแลสุขภาพตัวเองเข้าไปด้วย
ที่มา https://www.marketwatch.com/
5. รายได้หลังเกษียณมาจากไหนได้บ้าง?
คุณเคยถามตัวเองหรือไม่ว่า หากไม่มีรายได้ประจำ คุณจะมีเงินใช้จากช่องทางไหนบ้าง ในวัยเกษียณ แม้จะไม่มีเงินเดือน แต่เราก็สามารถมีรายได้ประจำได้หากเราเริ่มออมหรือลงทุนตั้งแต่วันนี้
ไม่ว่าจะเป็น พลังดอกเบี้ยทบต้นจากเงินออมซึ่งเป็นเงินสดก้อนใหญ่ในธนาคาร เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือเงินออมจากการทำประกันชีวิต ซึ่งจะทำให้มีเงินไว้ใช้ยามเกษียณ นอกจากนั้น ในกรณีที่ร่างกายคุณแข็งแรงดีอาจต้องมองหาอาชีพที่เหมาะแก่ตัวเราเองเป็นการสร้างรายได้เพิ่ม
6. เริ่มลงมือทำตอนนี้
ปัญหาหลักๆเมื่ออ่านมาถึงข้อ 5 คือ รู้ละแต่เดี๋ยวค่อยทำ ชั้นยังไม่ว่าง ต้องเอาเงินไปซื้อโทรศัพท์ใหม่ ซื้อรถใหม่ แบบที่เป็นความต้องการแค่อยากได้ละก็…
สิ่งที่คุณอ่านมาทั้งหมดคงจะไม่มีความหมาย เพราะผมอยากบอกเพื่อนๆว่าถ้าไม่อยากมีเงินใช้เพียงวันละ 28 บาท หลังเกษียณ ก็มาเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้กันเถอะครับ
ที่มา pixabay
โฆษณา