1 มิ.ย. 2020 เวลา 19:15 • ประวัติศาสตร์
ตามรอยเสด็จประพาสต้น พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5
1
การเสด็จประพาสหัวเมืองต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2447 หรือ รศ. 123 ที่เรียกกันว่า “การเสด็จประพาสต้น” เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงพักผ่อนพระราชอิริยาบถ พระองค์ไม่ทรงโปรดฯ ให้มีการจัดรับเสด็จเป็นทางการ แต่ทรงโปรดฯ ให้จัดการที่เสด็จให้เป็นไปโดยง่าย โดยมิให้มีท้องตรา สั่งหัวมืองให้จัดทำที่ประทับแรม ณ ที่ใดๆ สุดแต่จะพอพระราชหฤทัย บางคราก็ทรงเรือเล็ก หรือเสด็จโดยสารรถไฟไปไม่ให้ใครรู้จัก เรียกกันว่า “เสด็จประพาสต้น”
พระบรมฉายาลักษณ์ (ประทับหัวแถว ซ้ายสุด) ทรงฉายร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านาย และข้าราชบริพาร ระหว่างการเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 เมืองกำแพงเพชรพุทธศักราช 2449
📌 เหตุที่เรียกว่า เสด็จประพาสต้น
1
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า เกิดแต่เมื่อเสด็จคราวแรก เวลาจะประพาส มิให้ใครรู้ว่าเสด็จไปทรงเรือมาดเก๋ง 4 แจวลำหนึ่ง เรือนั้นไม่พอบรรทุกเครื่องครัว จึงทรงซื้อเรือมาดประทุน 4 แจวที่แม่น้ำอ้อม ที่แขวงราชบุรี และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหมื่นเสมอใจราช (อ้น) เป็นผู้คุมเครื่องครัว ทรงพระดำรัสเรียกเรือลำนี้ว่า “เรือตาอ้น” เรียกเร็วๆ เสียงเป็น “เรือต้น” เหมือนบทเห่ซึ่งว่า “พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย” แต่ฟังดูไพเราะ แต่เรือประทุนลำนั้นใช้อยู่ได้หน่อยหนึ่ง เปลี่ยนมาเป็นเรือมาด 4 แจว กับอีกลำหนึ่ง จึงโปรดให้เอาเรือต้นมาใช้สำหรับลำที่เป็นเรือพระที่นั่ง โดยพระราชประสงค์จะมิให้ผู้ใดทราบว่าเสด็จไป เรียกการประพาสเช่นนี้ว่า “ประพาสต้น”
📌 ข้าราชบริพารโดยเสด็จ
บุคคลที่ตามเสด็จนั้น พระองค์ทรงเลือกคนใกล้ชิดตามเสด็จหลายคน บุคคลที่ตามเสด็จในการประพาสเที่ยวดังกล่าวนี้ ทรงเรียกว่า “เพื่อนเที่ยว” และทรงเรียกเป็นพระนามและนามแฝง เช่น
นายอัษฎาวุธ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา
นายทรงอานุภาพ คือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
นายวงศ์ตะวัน คือ เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค)
หลวงรัตนาวุธ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖
ท่านมหาสม คือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เจ้านายที่ไปตามเสด็จ 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี กับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร
ขุนสวรรค์วินิต คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
นายมานพ คือ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ
หมื่นสรรพกิจ คือ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ
สำหรับเพื่อนเที่ยวในการเสด็จประพาสต้น
มีชื่อปรากฏในแต่ละครั้ง รวมได้ดังนี้
1. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์
2. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ
3 . พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย (พระองค์เจ้าไชยันต์มงคล)
4 . พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมรพันธุ์
5 . พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสาตรศุภกิจ
6 . พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
7 . สมเด็จพระปิตุจฉา สุขุมาลมารศรี พระอัครเทวี
8 . สมเด็จพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ
9 . สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร
10. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
11. พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
12. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร
13. พระเจ้าลูกยาเธอฯ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร
14. พระเจ้าลูกยาเธอฯ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์
15. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช
16. พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ
17. พระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค)
18. พระยาโบราณราชธานินทร์
19. หมื่นเสมอใจราช (อ้น นรพัลลภ)
1
ส่วนชาวบ้านที่รู้จักพระองค์และมีความสนิทสนมจากการเสด็จประพาส ทรงเรียกว่า “เพื่อนต้น”
พสกนิกรจากทั่วทุกสารทิศแห่แหนลอยเรือมารอรับเสด็จ เพื่อชื่นชมพระบารมี ที่ท่าน้ำศาลาวัด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นต้นทางในการเสด็จประพาสต้นทางชลมารค
📌 การเสด็จประพาสต้นของพระองค์ มี 2 ครั้ง ด้วยกัน คือ
1
✍🏻 ครั้งที่ 1 : การเสด็จประพาสต้นเมื่อ ร.ศ. 123 (พ.ศ. 2447) รายการเสด็จประพาสต้นครั้งนี้ ได้รับการบันทึกไว้เป็นงานพระนิพนธ์ใน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยใช้พระนามแฝงว่า "นายทรงอานุภาพ หุ้มแพร" มหาดเล็กที่ได้ตามเสด็จ
เหตุที่เสด็จประพาสต้นในคราว ร.ศ. 123 นั้น กล่าวว่าเป็นเพราะ เมื่อครั้งก่อนที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จมาบางปะอินไม่ใคร่จะทรงสบาย ทรงมีพระราชกังวล และพระราชกิจมาก หาเวลาพักไม่ใคร่ได้ และบรรทมไม่หลับ ตามคำแนะนำของหมอหลวงส่วนพระองค์
3
การเสด็จประพาสต้นครั้งแรก นับเป็นการเสด็จที่ทรงสนุก และสำราญพระราชหฤทัยอย่างที่สุด เพราะเป็นไปตามพระราชประสงค์ทุกประการ ทรงสามารถประทับปะปนไปกับราษฎรโดยที่ราษฎรไม่รู้ตัว ทำให้ทรงทราบถึงชีวิตความเป็นอยู่และทุกข์สุขที่แท้จริงของราษฎร ไม่มีการจัดฉากหรือเสแสร้ง ราษฎรไม่ต้องระมัดระวังตัว กลัวเกรงพระบารมีจนไม่กล้าแสดงความจริงใจออกมา
1
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองราชบุรี พุทธศักราช 2447 ด้านหลังมีป้ายผ้าเขียนข้อความภาษาอังกฤษเพื่อรับเสด็จ
📍 เส้นทาง ในการเสด็จประพาสต้น ครั้งที่ 1
1
เป็นการเสด็จทางชลมารค และทางรถไฟเป็นหลัก มีจุดเริ่มต้นจากพระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 ผ่านจังหวัดปทุมธานี, นนทบุรี ราชบุรี, สมุทรสงคราม, เพชรบุรี, สมุทรสาคร, นครปฐม, สุพรรณบุรี, อ่างทอง, กลับสู่พระราชวังบางปะอิน แล้วเสด็จโดยทางรถไฟกลับสู่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2447 ใช้เวลาทั้งหมด 25 วัน
แผนที่แสดงสถานที่ และเส้นทางเสด็จประพาสต้น ร.ศ. 123 (พ.ศ. 2447)
✍🏻 ครั้งที่ 2 : การเสด็จประพาสต้นเมื่อ ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449) หนังสือการเสด็จประพาสต้นครั้งนี้ เป็นพระราชนิพนธ์ได้อย่างละเอียด โดยส่วนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงมีพระราชดำรัสให้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ นิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี (สมเด็จหญิงน้อย) ทรงเขียนไว้ ในขณะนั้นยังทรงดำรงตำแหน่งราชเลขาธิการฝ่ายใน เพื่อบันทึกรายละเอียดในการเสด็จประพาสต้น ใน ร.ศ. 125 นี้
พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ พระชนนี ทรงพระปรารภใคร่จะจัดพิมพ์เป็นหนังสือ ประทานตอบแทนผู้ถวายรดน้ำสงกรานต์ จึงตรัสปรึกษาให้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ นิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี (สมเด็จหญิงน้อย) พระธิดา จึงได้ทรงเก็บรวบรวม และพบสำเนาจดหมายเสด็จ ประพาสต้นครั้งที่ 2 ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ถึง 7 ปี แล้วสมเด็จเจ้าฟ้าฯ นิภานภดล จึงประทานสำเนา มายังหอพระสมุดวชิรญาณ
1
📍 เส้นทาง ในการเสด็จประพาสต้น ครั้งที่ 2
เป็นการเสด็จทางชลมารคเป็นหลัก มีจุดเริ่มต้นจากพระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 27 กรกฎาคม ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449) ผ่านจังหวัดนนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, อ่างทอง, สิงห์บุรี, ชัยนาท, อุทัยธานี, นครสวรรค์ และกำแพงเพชร ใช้เวลาทั้งหมด 34 วัน
แผนที่แสดงสถานที่ และเส้นทางเสด็จประพาสต้น ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ทรงพระมาลา) ประทับบนเรือชะล่า ลอยเคียงเรือพระที่นั่งสุวรรณวิจิก มณฑลนครสวรรค์ ในการเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 พ.ศ. 2449
📌 “เพื่อนต้น"
ในการเสด็จประพาสต้น คือพวกคฤหบดี และราษฎรที่ได้ทรงคุ้นเคยเป็นที่ชอบพระราชอัธยาศัย มีอยู่แทบทุกมณฑลที่ได้เสด็จและประพาส เพื่อนต้นที่เด่นๆ ก็มี (เจ็กฮวด) นายฮวด และยายผึ้ง ผู้ที่ได้ต้อนรับพระองค์ด้วยอาหารง่ายๆ ที่ปรุงไว้สำหรับครอบครัวในตอนเย็น ก่อนกลับก็ได้พระราชทานเงินให้ไว้ 100 บาท และโปรดให้นายฮวดยกฐานะเป็นมหาดเล็กเรือนนอก นายฮวดได้มีโอกาสเข้าเฝ้าล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 อีกสองสามครั้ง เมื่อคราวที่ยายผึ้งมารดาถึงแก่กรรม และคราวที่เสด็จประพาสเพชรบุรี และนายฮวดนำมะม่วงไปถวายทรงให้เงินพระราชทานนายฮวดทั้งสองครั้ง
ด้วยสิทธิพิเศษของการเป็นเพื่อนต้น เมื่อล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต นายฮวดได้รับพระบรมราชานุญาต จากรัชกาลที่ 6 ให้เข้าไปกราบถวายบังคมพระบรมโกศได้เป็นพิเศษ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ประทับนั่งขวาสุด) ขณะเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 พ.ศ. 2449 ที่เมืองกำแพงเพชร
การเสด็จประพาสต้นทั้ง 2 ครั้งนั้น ทำให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ครั้นเมื่อสยามได้ตราพระราชบัญญัติทาส ร.ศ. 124 ให้ทาสทุกคนเป็นไทแก่ตัวทั่วทั้งพระราชอาณาจักร
ครั้งนั้น พสกนิกรได้ชื่นชมพระบารมีอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง พระเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์เยี่ยงสามัญชน ประทับแรม และเสวยพระกระยาหารอย่างเรียบง่าย หลายโอกาสได้ทรงคลุกคลีปะปนไปกับราษฎรโดยไม่แสดงพระองค์ ทำให้ทรงเข้าพระทัยถึงความยากลำบากในการปรับตัวของพสกนิกรหลังการเลิกทาส ตลอดจนได้ทรงสัมผัสกับประเพณีท้องถิ่นและวิถีชีวิตของไพร่ฟ้าทุกหมู่เหล่าด้วยพระองค์เอง
1
โฆษณา