2 มิ.ย. 2020 เวลา 01:14 • เกม
บทความตามใจฉัน “Neo-Geo: Monster of 16” Part 1
ตั้งแต่ยุค 80s ถึง 90s ผู้เล่นเกมทุกคนล้วนมีความฝัน
ฝันว่าเครื่องเล่นเกมคอนโซลตามบ้านนั้นจะมีประสิทธิ์ภาพเทียบเท่าเครื่องเกมอาเขต
ฝันว่าตนจะสามารถนั่งเล่นเกมที่มีคุณภาพกราฟฟิกและเสียงเทียบเท่าเกมอาเขตได้ที่บ้านของตนเอง
การที่จะทำความฝันให้เป็นจริงในยุคนั้นมีเพียงวิธีเดียว คือการซื้อตู้เกมอาเขตที่มีราคาสูงลิ่วมาตั้งที่บ้าน
แม้จะย่างเข้าปี 1990s แล้ว ถึงเครื่องเกมจะพัฒนาไปในระดับ 16Bit ก็แล้ว แต่ความฝันดังกล่าวแม้เหมือนใกล้ก็ยังดูไกลเกินเอื้อมอยู่
จนกระทั้งเครื่องเล่นเกมคอนโซลเครื่องหนึ่งกำเนิดขึ้นมาและเครื่องนี้ได้ทำให้ความฝันในการเล่นเกมอาเขตที่บ้านเป็นความจริง
เครื่องเกมนั้นมีชื่อว่า Neo Geo
Neo Geo นั้นเป็นตอนแรกถูกสร้างโดย SNK เพื่อใช้เป็นวงจรในตู้เกมอาเขตของตน ต่อมาด้วยความที่ตลาดเครื่องเกมคอนโซลได้รับความนิยมมาก SNK คิดที่จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดด้วยเช่นกันจึง “ยัด” วงจรของ Neo Geo ตู้เกมลงในโครงของเครื่องคอนโซลและออกวางจำหน่าย Neo Geo เวอร์ชั่นเครื่องเกมคอนโซลเมื่อปี 1990
ที่ผู้เขียนใช้คำว่า “ยัด” ก็เพราะ Neo Geo เวอร์ชั่นเครื่องเกมคอนโซลนั้นมีประสิทธิ์ภาพที่ทัดเทียบเวอร์ชั่นอาเขตทุกประการ
ไม่มีการตัดถอนเพื่อลดต้นทุนใด ๆ เหมือนที่ SEGA ทำกับ SEGA Mega Drive นี่ทำให้การเล่นเกมบน Neo Geo คอนโซลผู้เล่นจะได้รับประสบการณ์ที่เทียบเท่าตู้เกมอาเขตแทบทุกประการ (อาจมีข้อแตกต่างบ้างขึ้นอยู่กับ TV ที่ใช้)
หากพูดในฐานะเครื่องเกมคอนโซลแล้ว Neo Geo นับได้ว่าเป็นสัตว์ประหลาดแห่งเกมคอนโซลยุค 16 Bit
ในส่วนของ CPU นั้น SNK ผู้สร้างได้เลือกใช้ Motorola 68000 ซึ่งเป็น CPU ตระกูลเดียวกันกับที่ใช้บน Atari Jaguar และ Sega Mega drive ซึ่งน่าสนใจมากและน่าสนใจยิ่งกว่าคือการออกแบบในส่วนของ CPU นั้น Neo Geo คล้ายกับ Sega Mega drive อย่างมากคือใช้ Motorola 68000 เป็น CPU หลัก
แล้วมี Zilog Z80 เป็น CPU เสริมเหมือนกัน จุดที่แตกต่างคือ Neo Geo ใช้ Motorola 68000 รุ่นที่มีความเร็ว 12MHz มากกว่าของ Mega drive ถึง 40% และมากกว่า CPU ของ Super Famicom หรือ Super Nintendo (SNES) ถึงสามเท่า นี่ทำให้การเคลื่อนไหวของตัวละครในเกมฉับไวทันใจผู้เล่นอย่างมาก
ในส่วนของกราฟฟิกชิป SNK ได้ติดตั้งชุดกราฟฟิกชิปที่พัฒนาโดย SNK เองลงใน Neo Geo โดยหนึ่งชุดจะมี 3 ชิปแบ่งหน้าที่และทำงานร่วมกัน นี่ทำให้ Neo Geo สามารถแสดงเชดสีได้ถึง 65,536 สี ซึ่งมากกว่า SNES ที่แสดงได้เพียง 32,768 สี รวมถึงประสิทธิ์ภาพในด้านกราฟฟิกอื่น ๆ ที่ไม่มีใครในตลาดตอนนั้นเทียบเคียงได้แม้แต่เกมอาเขตด้วยกันเองก็ตาม
สื่อบรรจุเกมของ Neo Geo นั้นก็ใช้ตลับ Rom เช่นเดียวกันกับเครื่องเกมอื่น ๆ ในยุคนั้น แต่ตลับเกมของ Neo Geo นั้นไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน จุดสังเกตแรกที่เห็นชัดคือขนาดของตลับเกมนั้นใหญ่มากเมื่อเทียบกับตลับเกมของเครื่องอื่น ๆ
โดยตลับมีความกว้างประมาณ 14 cm ยาว 18 cm และหนาราว ๆ 3.5 cm สำหรับผู้ที่อยากลองจับตลับเกม Neo Geo นั้นมีคนแนะนำว่าให้เอากล่องใส่ DVD มาซ้อนกันสามกล่องแล้วมัดติดกันด้วยเทป ขนาดจะใกล้เคียงกัน
สาเหตุที่ตลับมีขนาดใหญ่แบบนั้นก็เพื่อที่จะสามารถบรรจุแผงวงจรที่เต็มไปด้วย Rom ชิปลงไปได้
เนื่องจากเกมของ Neo Geo นั้นมีขนาดข้อมูลที่ใหญ่มาก(ในสมัยนั้น) ทำให้จำนวนชิปบรรจุข้อมูลต้องมีขนาดที่ใหญ่และจำนวนที่มากตามไปด้วย ตัวอย่างเช่น King of Monster ที่เป็นเกมในยุคแรก ๆ ของ SNK ออกมาเมื่อปี 1991 นั้นมีขนาด ถึง 55 เมกะบิตหรือ 6.87 เมกะไบต์ ซึ่งในสมัยนั้นนับว่าใหญ่มาก
วีดิโอสาธิตการแกะตลับเกม Neo Geo อยู่ใน Link ข้างล่าง
จะเห็นว่าในตลับมีแผงวงจรขนาดใหญ่ติดตั้ง memory chip ถึง 2 แผงอยู่ในนั้น โดยแต่ละแผงจะมีหน้าคอนแทกสำหรับเสียบเข้ากับ slot เป็นของตัวเอง
เมื่อเทียบกับเกมที่ออกในปีเดียวกัน เกมชื่อดังอย่างเช่น Zelda: A Link to the Past มีขนาดเพียง 673 กิโลไบต์ หรือเกมในอีก 3 ปีให้หลังอย่าง Final Fantasy 6 ก็มีขนาดเพียง 3 เมกะไบต์เท่านั้น
เกมบน SNES ที่มีขนาดใกล้เคียงกับ King of Monster มากที่สุดที่ผู้เขียนรู้จักคือ Tales of Phantasia ที่มีขนาด 48 เมกะบิตหรือ 6 เมกะไบต์ซึ่งออกวางจำหน่ายตอนปลายปี 1995 แต่ในตอนนั้นขนาดเกมของ Neo Geo ก็ใหญ่ยิ่งกว่าเดิมอีกมากแล้วเช่น The King of Fighters 95 ที่มีขนาดเกมถึง 31 เมกะไบต์
Neo Geo ออกวางขายพร้อมกันทั้งที่อเมริกาและญี่ปุ่นในเดือนกรกฎาคม 1991 ประสิทธิ์ภาพของเครื่องและขนาดของเกมทำให้เหล่าผู้เล่นถึงกับตกตะลึงและประทับใจในภาพและเสียงที่ออกมาอย่างมากจากนั้นก็ตาเหลือกเมื่อได้เห็นราคาขาย
ราคาขายของ Neo Geo ที่อเมริกาอยู่ที่ 650 USD ขณะที่ SNES ขายที่ 199 USD ส่วน Sega Mega Drive หรือ Genesis (เวอร์ชั่นขายที่อเมริกา) ขายอยู่ที่ 150 USD เรียกได้ว่าแพงกว่าเครื่องของเจ้าอื่น ๆ ถึง 3-4 เท่า
นี่คือราคาแห่งทองคำ ความฝันที่ไม่มีวันมาถึงไงล่ะ
to be continued in Part 2
โฆษณา