2 มิ.ย. 2020 เวลา 03:47 • ท่องเที่ยว
บ้านแม่วอง หมู่บ้านบำบัดใจ
อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ อีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอสันกำแพง อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านธิ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ภูมิประเทศเป็นเขาสูง สลับเรียงราย เป็นแหล่งพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำปิง มีพันธุ์ไม้มีค่าและสัตว์ป่าที่สำคัญหลายชนิด
มีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามอีกหลายแห่ง เช่น อ่างเก็บน้ำแม่ตะไคร้ อ่างเก็บน้ำแม่ตีบ - แม่สาร น้ำตกแม่ตะไคร้ น้ำตกตาดเหมย และน้ำตกแม่ต๋ง มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 320,750 ไร่ ความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 400 - 1,947 เมตร จากระดับน้ำทะเล สภาพภูมิอากาศในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้
เย็นตลอดปี อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 32 องศาเซลเซียส และต่ำสุดเฉลี่ย 20 องศาเซลเซียส ทำให้พื้นป่าในบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง
1
อำเภอแม่ออนของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งอำเภอที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม มีแหล่งท่องเที่ยวอย่าง หมู่บ้านแม่กำปอง หมู่บ้าน
ของความสโลว์ไลฟ์ตามคำบัญญัติความของคนเมืองกรุง ถัดจากหมู่บ้านแม่กำปองประมาณ 30 กิโลเมตร มีหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อว่า “หมู่บ้านแม่วอง” ตั้งอยู่ในเขตตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านที่นี่มีอยู่ราว 90 คนเท่านั้น นับหลังคาได้ประมาณ 32 หลังคา หมู่บ้านแม่วองเป็นกลุ่มบ้านที่อยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ มีพื้นที่ที่อุทยานฯ อนุญาตให้
ชาวบ้านแม่วองทำมาหากินอยู่ประมาณ 1,500 ไร่ ในรัศมี 10 กิโลเป็นวงกลมจากตัวหมู่บ้าน หมู่บ้านแม่วองจึงได้เก็บ ได้กิน ได้อาศัยผืนป่าชุมชนผืนนี้
เป็นแหล่งทำมาหากินกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยแบ่งสันปันส่วนกันตามกำลังของชาวบ้านที่เข้าไปมีส่วนร่วมในพื้นป่าชุมชน หากชาวบ้านคน
ไหนขยันทำงานมาก ก็จะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้มาก ตามกำลังของแต่ละครัวเรือน
เรื่องเล่าในอดีตของบ้านแม่วอง ก่อนที่จะมาเป็นหมู่บ้านในวันนี้ได้นั้น มีเรื่องเล่าจากรุ่นสู่รุ่นสืบทอดกันต่อมาว่า พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นแหล่งเลี้ยงช้างในสมัยโบราณของคนแขมร์หรือเขมร ที่ย้ายรกรากเข้ามาอยู่ในพื้นที่ เพราะมีอาหารให้ทั้งกับช้างและคนมากมาย อยู่มานานจนสืบลูกสืบหลานและกลายมาเป็นหมู่บ้านแม่วอง ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน แหล่งน้ำ พันธุ์พืช และสัตว์ป่ามากมาย ชาวบ้านจะตัดต้นหวายนำไปทำงานหัตถกรรมต่างๆ และปลูกต้นเมี่ยงเพื่อนำไปรับประทานและขาย เป็นแหล่งทำมาหากินที่อุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่อดีต
“บ้านแม่ว๊อง” เป็นชื่อเดิมที่เรียกกันมา ตำนานเล่าไว้ว่ มีควายตัวหนึ่ง ตัวสูงใหญ่กำยำ เขาโค้งสวยงาม ชอบมานอนแช่น้ำอยู่ที่ลำห้วย คนเหนือจะเรียกลักษณะโค้งเป็นวงกลมว่า “โค้งว๊อง” เหมือนหนังยางก็จะเรียกหนังว๊อง จึงนำลักษณะวงของเขาควายมาตั้งเป็นชื่อว่า “หมู่บ้านแม่ว๊อง” และเพี้ยนเสียงกลายมาเป็นวองในปัจจุบัน
 
แม่หลวงจันทร์เพ็ญ ท้าวศรี ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่วอง เล่าถึงวิถีชีวิตของคนแม่วองให้ฟังว่า “เดิมทีชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ทำนา เพื่อเก็บไว้กินกันในครัวเรือน ต่อมาภายหลังชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนมาประกอบอาชีพทำสวนกันมากขึ้น ด้วยการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เพื่อลดการตัดไม้และให้ช่วยกันดูแลรักษาผืนป่า ชาวบ้านจึงเปลี่ยนมาทำอาชีพสวนเมี่ยงแทนการทำนาข้าว”
จนกระทั่งเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว มีโครงการอบรมความรู้เกี่ยวกับการปลูกกาแฟขององค์การบริหารส่วนตำบลออนเหนือ ซึ่งหมู่บ้านแม่วองซึ่งมีความสมบูรณ์และมีศักยภาพเพียงพอที่จะปลูกกาแฟได้ อบต.แม่วอง จึงนำกล้ากาแฟมาแจกจ่ายให้กับคนในหมู่บ้านนำไปปลูกครอบครัวละ 50 -100 ต้น โดยมีพ่อหลวงบุญฤทธิ์ อดีตผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ริเริ่มปลูกกาแฟตั้งแต่นั้นมา
 
น.ส.รดีพร ใจกองคำ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เล่าเสริมเรื่องของกาแฟบ้านแม่วองว่า “ในตอนที่กาแฟเริ่มเข้ามาในหมู่บ้านแม่วอง ชาวบ้านเขาก็ยังไม่ค่อยสนใจกับพืชชนิดนี้มากนัก เพราะยังไม่รู้ว่าปลูกกาแฟแล้วจะดูแลอย่างไร จะขายได้หรือไม่ ชาวบ้านที่นี่ก็ยังยึดในอาชีพทำสวนเมี่ยงเป็นหลักอยู่ เพราะมีช่วงเก็บเกี่ยวถึงปีละ 2 ครั้ง ต่างจากกาแฟที่เก็บได้ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ทำให้กาแฟยังไม่ได้ถูกหันมาเหลียวมองจากชาวบ้านมากนัก แต่วันนี้ ชาวบ้านเห็นว่าพืชกาแฟก็สามารถเป็นรายได้ให้กับตัวเองได้เหมือนกัน ก็เลยปลูกกาแฟคู่ไปกับต้นเมี่ยง ตอนนี้ชาวบ้านเขาก็เริ่มให้ความสนใจกาแฟกันมากขึ้นแล้ว”
ผลผลิตกาแฟในระยะแรกๆ ของบ้านแม่วอง ยังไม่มีกลุ่มตลาดที่ชัดเจนมากนัก เน้นเก็บผลเชอร์รีขายให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อเอาไปแปรรูปต่อเป็นหลัก แต่หลังจากมีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนของ 4 หมู่บ้านในตำบลออนเหนือ คือบ้านแม่วอง บ้านขุนออน บ้านขุนทา และบ้านแม่รวม เพื่อรวมกลุ่มกันพัฒนาความเป็นอยู่ของคนทั้ง 4 หมู่บ้าน เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “4 ป่าประสาน” มีผลิตภัฑณ์เด่นๆ ก็สินค้าจำพวกใบชา สบู่ และหมอนใบเมี่ยง ภายหลังจึงเพิ่มสินค้ากาแฟเข้ามาเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจ 4 ป่าประสาน และในปี 2560 กลุ่ม
วิสาหกิจฯ ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ “9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี” จัดทำแบรนด์กาแฟ 4 ป่าประสานขึ้นมา เพื่อเพิ่ม
ช่องทางการขายผลผลิตกาแฟขึ้นอีกหนึ่งช่องทาง แต่ละหมู่บ้านจะต้องบริหารจัดการในเรื่องการตลาดกันเอาเอง แต่ใช้ชื่อแบรนด์เดียวกัน คือ
กาแฟ 4 ป่าประสาน
ปัจจุบันชาวบ้านที่บ้านแม่วองมีอาชีพผลิตกาแฟอยู่ราวๆ 20 ครัวเรือน แต่ละบ้านก็จะปลูกกาแฟ ต้นชาเมี่ยง อยู่ในสวนของตัวเองเท่าที่กำลังพอมี ในหนึ่งปีมีผลผลิตที่เป็นเชอร์รีกาแฟกว่า 2 ตัน กาแฟบ้านแม่วองยังพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นกาแฟดริปขึ้นมาเป็นตัวเลือกในการขาย ที่หมู่บ้านแม่วองนี้ นอกจากเราจะได้เห็นความเป็นอยู่ในแบบการใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ของจริงที่ไม่ถูกปรุงแต่งแล้ว ที่นี่เขายังมีกาแฟดี มีน้ำตกสวย มีสำนักวิปัสสนาบ้านแม่วอง ให้ไปฝึกจิตฝึกใจ เรียนรู้ชีวิตที่เรียบง่าย ตามแบบปุถุชน การท่องเที่ยวในชุมชน ตามแผนที่แม่หลวงจันทร์เพ็ญวางเอาไว้ว่าจะเป็นสิ่งที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวที่นี่ได้ ตั้งแต่การเดินป่าศึกษาเส้นทางธรรมชาติของป่าชุมชน ต้นเมี่ยงและกาแฟที่เป็นอาชีพเก่าแก่ของหมู่บ้าน มาพักผ่อนฟื้นฟูจิตใจที่สำนักวิปัสสนาบ้านแม่วอง ฟังเทศน์ ทำบุญ หรือไปกางเต็นท์ที่น้ำตก 7 ชั้น ให้ธรรมชาติบำบัดร่างกาย
กาแฟบ้านแม่วองนับเป็นอีกหนึ่งแหล่งปลูกที่มีความอุดมสมบูรณ์ไม่แพ้กับแหล่งปลูกอื่นๆ ถึงแม้จะไม่ได้เป็นพืชที่เป็นรายได้หลักเท่ากับต้นชาเมี่ยง แต่เราก็พอเห็นทิศทางของกาแฟบ้านแม่วอง ที่จะงอกงามอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็ต้องอาศัยทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ชาวบ้าน และองค์กรต่างๆ ร่วมมือกันผลักดันให้กาแฟบ้านแม่วองพัฒนาคุณภาพและสามารถเติบโตได้ในตลาด เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชนต่อไป
ร่วมเดินทางท่องโลกไปกับเราทั้งรูปแบบนิตยสารและออนไลน์
ติดตามข้อมูลข่าวสารความรู้ด้านกาแฟได้ตามลิงก์ด้านล่าง
โฆษณา