18 มิ.ย. 2020 เวลา 00:18 • ศิลปะ & ออกแบบ
🌿🙏🌼 ลายไทยที่ผูกในรูปทรงสามเหลี่ยม (ประดับหน้าบัน) ครับ 🌼🙏🌿
🌼 ตามรูปเป็นลายที่ออกแบบไว้สำหรับงานหล่อคอนกรีต หรือเป็นลายปูนปั้น เพื่อใช้ประดับหน้าจั่ว (ถ้าเป็นโบราณจะเป็นงานไม้ครับ) สำหรับลวดลาย จะบ่งบอกสถานะของผู้สร้าง ถ้าเป็นพระมหากษัตริย์สร้างถวาย ก็มักจะเป็นรูป พระนารายณ์ทรงครุฑ ( วัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ) หรือ ตราสัญลักษณ์ประจำรัชกาล ถ้าเป็น บุคคลทั่วไปก็มักจะเป็น ลายเถาครับ
🌼 ได้อ่านคำนำของหนังสือของพระพรมพิจิตรมีการกล่าวถึงความหมายของศิลปกรรมไทย ในทรรศนะของท่าน จึงขอแบ่งปันดังนี้ครับ
🌿🍃🌱 ศิลปกรรมไทย 🌱🍃🌿
🍀ความหมายของศิลปกรรมไทยของพระพรหมพิจิตร
" คำเรียกชื่อแต่ละชนิดของศิลปกรรมไทยที่เรียกกันอยู่ขณะนี้ มักมีความเข้าใจกันว่า เส้นก็เรียกว่า ลาย ลางทีลายก็เรียกว่ากนก จึงใคร่สรุปไว้เป็นข้อสังเกต
ก่อนอื่นคำว่า "ลาย" ก็ดีและคำว่า "กนก" ก็ดี ไม่เหมือนกัน และคำที่เรียกกันว่าลายนั้น ต้องเป็นลายดอกไม้หรือลายเครือเถา มีสัณฐานเป็นดอกไม้ ใบไม้ หรือถูกดัดแปลงเป็นตัวเทศ ใบเทศเข้าทรงสมมุติเป็นรูปดอกใบ ซึ่งเป็นคำแทนชื่อชนิดหนึ่งของความหมายและการกระทำที่เข้าใจได้ง่าย เช่น ลายเพดาน ลายผนัง ลายฐานปัทม์ ฐานพระ หน้ากระดาน ฐานบัว ท้องไม้ และลายอื่น ๆ ในทำนองลายซ้ายขวาหรือลายก้านขดและขดระเริง ก็เรียกชื่อไปตามลายได้ว่าลายนั้นชื่อลายอะไร
ส่วนคำว่า กนก นั้น มีรูปลักษณะเป็นกอ กาบ กิ่ง ก้าน ใบ เป็นศิลปที่สูงมาก ถ้ามือไม่ถึงขนาดก็ยากที่จะผูกให้ดีขึ้นได้ รูปของกนกเช่นว่า ผูกเป็นกนกเปลวและกนกรวงข้าว กนกหางโตลางทีก็ผูกเป็นกนกนกคาบ ลางทีก็ผูกเป็นกนกเคล้าภาพ และผูกเป็นรูปสัตว์ต่างๆเกาะตามซอกกิ่งก้านของกนก เพื่อแสดงให้รู้ว่าดงนก ดงสัตว์
ฉะนั้นเส้นของกนกจึงเป็นเส้นเคลื่อนไหว เนื่องด้วยหางไหลเป็นเบื้องต้น แล้วจึงกลายเป็นช่อกนกยกก้าน โดยวิธีบากสลับให้เห็นเป็นทางใบสะบัดเป็นเปลวพริ้วพลิกขึ้น คล้ายเปลวไฟหรือริ้วผ้าที่ถูกลมกระพือพัดจึงเป็นความสำคัญของกนกว่า ถ้าไม่ดูตัวก็ต้องดูพื้น ที่เรียกกันว่า ช่องไฟ ถ้าดีด้วยกันทั้งสองทาง ก็นับได้ว่ากนกนั้นเป็นฝีมือเยี่ยม "
🌿🍃🌱คัดลอกมาจากคำนำ ในหนังสือ พุทธศิลป สถาปัตยกรรม ภาคต้น โดย พ.พรหมพิจิตร🌱🍃🌿
โฆษณา