2 มิ.ย. 2020 เวลา 05:29 • ศิลปะ & ออกแบบ
How to ขอบรีพอย่างไร ?
ให้ออกแบบมาแล้วเหมือนนั่งอยู่ในใจลูกค้า
เทคนิค การขอบรีพจากลูกค้าของคุณ
หนึ่งในกระบวนการสำคัญก่อนที่จะเริ่มงานออกแบบไม่ว่าอะไรก็ตามแต่ก็คือ การที่ลูกค้าจะแจ้งความต้องการ แนวทางที่อยากได้ หรือรายละเอียดงานที่ต้องการนั่นเอง ซึ่งเราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “การบรีพ”
แต่บ่อยครั้ง ก็มักจะเกิดกรณี “การบรีพที่เหมือนไม่ได้บรีพ” อยู่บ่อยครั้งจากลูกค้า ซึ่งทำให้นักออกแบบมึนงง และสับสนว่าตกลงว่าคนที่จ้างคือลูกค้าจริง ๆ หรือวง Getsunova ซึ่งจะสังเกตได้จากคำพูด หรือประโยคเหล่านี้
· ยังไม่รู้ว่าอยากได้แบบไหน ช่วยคิดหน่อยสิ
· ลองออกแบบมาได้ไหม เดี๋ยวค่อยตัดสินใจเลือกอีกที
· อยากได้แนวๆ โทนสีแบบนี้ แต่ไม่อยากให้เหมือนกับตัวอย่างที่แนบมา !?
ซึ่งตัวอย่างที่ยกมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเล็ก ๆ ที่เคยเจอมาจากประสบการณ์จริง และเชื่อไหมว่า เมื่อเจอกับบรีพในรูปแบบนี้ งานที่ได้ออกมา มักจะไม่ตรงใจกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ดังนั้น เพื่อที่จะได้มาตัดจบหมดปัญหาของการออกแบบงานมาแล้ว ลูกค้าบอกว่า “มันดีแล้ว ... แต่คิดว่ามันดีได้มากกว่านี้” หรือ “มันดีแล้ว ... แต่ยังไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องการ” ด้วยเทคนิค และวิธีการที่เราจะเอามาจากคุณในวันนี้ ด้วย "How to ขอบรีพอย่างไร ให้ออกแบบมาแล้วเหมือนนั่งอยู่ในใจลูกค้า
.
1. ถามกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน
เพื่อที่จะได้เห็นภาพร่าง และ ภาพรวมแบบคร่าว ๆ ของงานออกแบบที่จะได้ออกมา นักออกแบบทั้งหลายจำเป็นต้องถามลูกค้าให้ชัดเจนว่า “กลุ่มเป้าหมาย” ของงานออกแบบชิ้นนั้น ๆ เป็นกลุ่มไหน ซึ่งอาจจะเกิดคำถามว่า ทำไมต้องเจาะจงกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนล่ะ ในเมื่องานออกแบบต้องเข้าถึงได้ทุกกลุ่มอยู่แล้ว !?
ใช่ ! มันก็ถูก แต่ก็ไม่ได้ถูกทั้งหมด นั่นก็เพราะว่า แม้นิยามของการออกแบบที่ดี จะต้องสามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม แต่หน้าที่ของงานออกแบบ ไม่ว่าจะเป็น การประชาสัมพันธ์ หรือการขาย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต่างหาก ที่ต้องทำให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดผลลัพธ์เป็นสิ่งที่ลูกค้าคาดหวังได้ ทั้งเรื่องของการสร้างการรับรู้ การสร้างยอดขาย เป็นต้น มากไปกว่านั้น การที่รู้ซึ่งกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน ทำให้นักออกแบบเลือกใช้สไตล์ของงานออกแบบได้อย่างตรงกลุ่มอีกด้วย
2. ถามถึง Mood&Tone หรือ ตัวอย่างงานที่ลูกค้าอยากได้ (ถ้ามี)
เมื่อทราบถึงกลุ่มเป้าหมายแล้ว ส่วนต่อมาก็คือ การถาม Mood&Tone เพื่อกำหนดขอบเขต สโคปของงานออกแบบให้แคบลง และตรงจุดมากขึ้น แนะนำให้ถามไปเลยว่า ต้องการโทนสีแบบไหน Tone ของงานออกแบบในทิศทางใด สนุก อบอุ่น หรือ เท่ ก็ว่ากันไป เพราะยิ่งรู้ข้อมูลส่วนนี้ได้มากเท่าไหร่ กระบวนการทำงานออกแบบของเราก็จะยิ่งง่ายมากขึ้นเท่านั้น
และเลี่ยงการตอบรับหากลูกค้าบอกว่ายังไม่มีโทนสีในใจ แต่ให้ลองออกแบบมาดูก่อนโดยเด็ดขาด เพราะนั่นเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการที่จะทำให้กระบวนการทำงานมันไม่มีขอบเขต นำมาสู่การทำและแก้งานอย่างไม่มีสิ้นสุด ซึ่งหากเป็นกรณีแบบนี้ แนะนำให้ถามถึงโทนสีที่ชอบ แล้วให้เราเอา Color Chart ให้ลูกค้าเลือกเลยจะชัวร์กว่า จากนั้นให้ลองถามเพิ่มเติมไปอีกสักหน่อยว่า มีตัวอย่างงานออกแบบที่อยากได้หรือต้องการไหม
เพราะบ่อยครั้งก็มักจะมีกรณีที่ลูกค้ามีแบบในใจอยู่แล้ว แต่บอก หรืออธิบายให้เราได้ไม่หมด ไม่ครบถ้วน ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นนี้ ขอตัวอย่างงานมาดูไว้เป็นฐาน ก็จะเป็นการดีมากกว่า
3. ถามสิ่งที่ไม่ชอบ หรือสิ่งที่ไม่อยากได้บนงานออกแบบ
ถ้าถามถึงเหตุผลของการถามถึงสิ่งที่ไม่ชอบ มากกว่าสิ่งที่ชอบจากลูกค้า อยากให้ลองย้อนกลับมาถามตัวเอง ว่าชอบอะไร หรือไม่ชอบอะไร ... ซึ่งเชื่อได้เลยว่า หลายคนก็มักจะบอกไม่ได้อย่างชัดเจนหรอกว่าชอบอะไรแต่ หากแต่บอกได้แน่ ๆ ว่าไม่ชอบอะไร เช่นเดียวกันกับในงานออกแบบ ให้ถามไปเลยว่าไม่ชอบ หรือไม่อยากได้อะไร ไม่ว่าจะเป็น สีที่ไม่ชอบ สไตล์ Font ที่ไม่อยากได้ เป็นต้น
เมื่อรู้ว่าไม่ชอบอะไร ก็จะได้ไม่ต้องทำ เพื่อป้องกันการเสียเวลา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือการที่งานออกแบบที่ได้มานั้น จะมีโอกาสที่จะตรงใจ ตรงความต้องการของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว อาจจะเจอกับเหตุการณ์ที่ รูปแบบโอเคแล้ว องค์ประกอบจัดวางงานเหมาะสมและตรงใจแล้ว หากแต่ว่าสีของงานออกแบบ เป็นสีกาลกิณีของลูกค้า ซึ่งพบบ่อยมาก ๆ ในงานการออกแบบโลโก้ ฉะนั้น ทริคข้อนี้ก็เป็นหนึ่งสิ่งที่แนะนำ และไม่ควรพลาดที่จะถามลูกค้าอย่างเด็ดขาด
.
จากเทคนิค How To 3 ข้อที่เราเอามาฝากกันในวันนี้ หากคุณลองเอาไปปรับใช้ในการขอบรีพจากลูกค้าของคุณ เชื่อและรับรองได้เลยว่า กระบวนการทำงานออกแบบของคุณจะแคบ และง่ายมากขึ้น นำไปสู่งานออกแบบที่จะตรงใจลูกค้าอย่างแน่นอน
ดังนั้น หากไม่อยากเสียเวลากับการออกแบบอย่างไร้ทิศทาง ไร้ทางเดิน เหมือนการเดินในที่มืดจนไม่รู้ว่าจะไปในทิศทางไหน แนะนำให้เอาเทคนิคทั้ง 3 ข้อข้างต้นไปใช้ รับรองได้เลยว่า มันจะเป็นเหมือนกับไฟฉาย ที่จะช่วยทำให้ เส้นทางงานออกแบบของคุณจะสว่างไสว มีทางเดินที่จะไปอย่างชัดเจนมากขึ้นแน่นอน คอนเฟิร์ม !
ติดตามอ่านบทความสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ และ แบ่งปันทริคง่าย ๆ
ผ่านบทความ การสร้างแบรนด์ ธุรกิจ ดีไซน์ เพิ่มเติมได้ที่ :
โฆษณา