2 มิ.ย. 2020 เวลา 05:41 • การศึกษา
"มรดกระหว่างสามีภรรยาที่ไม่จดทะเบียนแบ่งกันอย่างไร?"
เราทราบกันมาแล้วว่าสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสเมื่อมีทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสย่อมเป็นสินสมรสคือสามีภรรยามีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นคนละกึ่งหนึ่ง ดังนั้นเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต การสมรสย่อมสิ้นสุดลงตามกฎหมาย คู่สมรสอีกฝ่ายย่อมได้รับทรัพย์สินกึ่งหนึ่งในฐานะสินสมรส
1
แล้วหากสามีภรรยาไม่จดทะเบียนแต่ทำมาหาได้ร่วมกันช่วยกันทำงานเลี้ยงครอบครัว เมื่อได้เงินมาก็เอาไปฝากไว้ในบัญชีชื่อภรรยา ถ้าภรรยาเสียชีวิตแบบนี้สามีก็ไม่ได้เงินในบัญชีภรรยาเลยหรืออย่างไร ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ย่อมไม่เป็นธรรมต่อสามี
กฎหมายจึงมีช่องทางของการใช้เรื่องกรรมสิทธิ์รวมเข้ามาจัดการ โดยมีตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 620/2543 วินิจฉัยในส่วนนี้ไว้ว่า
ฉ. อยู่กินฉันสามีภริยากับ ช. โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและได้ร่วมกันทำมาหากินโดยการปล่อยเงินกู้ ซื้อขายที่ดินและเป็นนายหน้าขายที่ดิน เงินในบัญชีเงินฝากประจำเป็นทรัพย์สินที่ ช. และ ฉ. ทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา ช. และ ฉ. จึงต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในเงินดังกล่าวและต้องแบ่งให้คนละเท่า ๆ กัน โดยเป็นทรัพย์มรดกของ ช. กึ่งหนึ่ง และเป็นทรัพย์มรดกของฉ. กึ่งหนึ่ง
แต่ความยากคือการนำสืบให้ศาลเห็นว่าเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันจริงในระหว่างอยู่กินกัน ซึ่งในทางปฏิบัติหากทายาทโดยธรรมของฝ่ายที่เสียชีวิตไม่แบ่งเงินให้เลย อีกฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะฟ้องศาลเพื่อขอแบ่งกรรมสิทธิ์โดยรวบรวมพยานหลักฐานไม่ว่าพยานเอกสารหรือพยานบุคคลเพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าทรัพย์สินของฝ่ายที่เสียชีวิตเป็นกรรมสิทธิ์รวมที่ตนเองทำมาหาได้ร่วมกันมา
จะเปรียบเทียบตัวอย่างให้เห็นภาพชัดระหว่างกรณีสามีภรรยาจดทะเบียนสมรสกับไม่จดดังต่อไปนี้
1
นายธีระกับน.ส.ลิลลี่มีอาชีพรับจ้างทำบัญชีด้วยกัน เมื่อได้ค่าจ้างก็นำมาฝากไว้ในบัญชีที่เปิดใหม่เพื่อการนี้โดยเฉพาะใช้ชื่อบัญชีนายธีระคนเดียว
1
ต่อมานายธีระเสียชีวิต ทั้งคู่ไม่มีบุตร บิดามารดานายธีระเสียชีวิตทั้งหมด นายธีระมีพี่ชายต่างมารดา 1 คนชื่อนายทิวา ขณะนั้นเงินในบัญชีดังกล่าวมีจำนวน 1 ล้านบาท ดังนั้นเงินจำนวนนี้จะถูกแบ่งดังต่อไปนี้
#กรณีจดทะเบียนสมรส
1. เงิน 1 ล้านบาทเป็นเงินที่ได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรสต้องแบ่งกรรมสิทธิ์ระหว่างสามีภรรยาคนละครึ่ง ดังนั้นจึงเป็นของนายธีระ 500,000 บาท(ซึ่งส่วนนี้ตกแก่กองมรดกของนายธีระถือเป็นทรัพย์มรดกที่จะแบ่งให้ทายาทโดยธรรมต่อไป) และเป็นของนางลิลลี่ 500,000 บาท
2.เงิน 500,000 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายธีระที่จะแบ่งให้ทายาทโดยธรรมคือนายทิวาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(4)และนางลิลลี่โดยที่นางลิลลี่จะได้รับมรดกสองในสามส่วน ตามมาตรา 1635 (3) ดังนั้นนายทิวาจะได้รับมรดก 166,667 บาท และนางลิลลี่จะได้รับมรดก 333,333 บาท
สรุปกรณีจดทะเบียนสมรส
1. นายทิวาได้รับมรดกเป็นเงิน 166,667 บาท
2. นางลิลลี่ได้ส่วนแบ่งจากสินสมรส 500,000 บาท ได้รับมรดก 333,333 บาท รวมได้เงินทั้งหมด 833,333 บาท
#กรณีไม่จดทะเบียนสมรส
1. เงิน 1 ล้านบาทเป็นเงินที่ทำมาหาได้ร่วมกันจึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมต้องแบ่งกรรมสิทธิ์ระหว่างเจ้าของรวมคนละครึ่ง ดังนั้นจึงเป็นของนายธีระ 500,000 บาท(ซึ่งส่วนนี้ตกแก่กองมรดกของนายธีระถือเป็นทรัพย์มรดกที่จะแบ่งให้ทายาทโดยธรรมต่อไป) และเป็นของ น.ส.ลิลลี่ 500,000 บาท
2.เงิน 500,000 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายธีระที่จะแบ่งให้ทายาทโดยธรรมคือนายทิวาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(4) แต่เนื่องจากนายธีระไม่มีทายาทโดยธรรมคนอื่นอีก ดังนั้นนายทิวาจึงเป็นทายาทโดยธรรมเพียงผู้เดียวได้รับมรดกทั้งหมดคือ 500,000 บาท ส่วน น.ส.ลิลลี่ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมไม่มีสิทธิ์ได้รับมรดก
1
สรุปกรณีไม่จดทะเบียนสมรส
1. นายทิวาได้รับมรดกเป็นเงิน 500,000 บาท
2. น.ส.ลิลลี่ได้ส่วนแบ่งจากกรรมสิทธิ์รวม 500,000 บาท
ดังนั้นจะเห็นว่าการจดทะเบียนสมรสนำมาซึ่งความเป็นทายาทในทุกชั้น เห็นเช่นนี้แล้วถ้ามีแต่ทรัพย์สินไม่มีหนี้สินก็น่าจดเหลือเกิน แต่ถึงแม้จะมีแต่หนี้สินก็ไม่ต้องกังวลเพราะกฎหมายกำหนดให้ทายาทรับผิดในหนี้สินของเจ้ามรดกไม่เกินทรัพย์สินที่ได้รับ พูดง่าย ๆ ก็คือเสมอตัวไม่ต้องควักเนื้อตนเอง แต่ถ้าพูดถึงในทางธรรมจรรยาหากเราเป็นทายาทรู้เห็นมาตลอดว่าเจ้ามรดกไปเป็นหนี้ใคร หากเรามีทรัพย์สินเหลือเพียงพอที่จะแบ่งไปใช้หนี้โดยเราไม่เดือดร้อนก็ควรชดใช้ สังคมจะอยู่เป็นสุขเมื่อเอาใจเขามาใส่ใจเรา
3
#ทนายน้อยหน่า
2 มิถุนายน 2563
#FinanceAndLaw
เป็นกำลังใจให้นักเขียนด้วยการกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
อ่านสินส่วนตัว/สินสมรส กดติดตามใน blockdit
อ่านการจัดการสินสมรส กดติดตามใน blockdit
อ่านไขข้อข้องใจการแบ่งมรดก กดติดตามใน blockdit ด้วยค่ะ
โฆษณา