2 มิ.ย. 2020 เวลา 11:00 • การศึกษา
เทคนิคในการอ่านเรื่องที่เข้าใจยาก
หลายคนอาจจะเคยอ่านเรื่องที่อ่านยังไงก็ไม่รู้เรื่อง หรือใช้เวลานานมากกว่าจะเข้าใจ จนบางครั้งท้อไปเสียก่อน
แต่ไม่ใช่ว่าเราจะมืดมนหนทางขนาดนั้น มีตัวช่วยบางอย่างที่เราอาจจะยังไม่รู้มาก่อน หรือไม่เคยปรับใช้กับตัวเอง
มาดูกันว่ามีเทคนิคอะไรที่ช่วยได้บ้าง
https://www.vision-specialists.com
เริ่มเตรียมตัวยังไง?
หลายคนจะทำอะไรมักพลาดที่ขั้นตอนการเตรียมตัวนี่แหละครับ บางคนอาจจะคิด แค่อ่านหนังสือ ต้องเตรียมตัวด้วยหรอ จริงๆแล้วสำคัญมากครับ
1. พักผ่อนมาให้เต็มที่ ถ้าง่วงมากอย่าพึ่งอ่าน อาจจะงีบก่อนหรือใช้คาเฟอีนช่วยได้ ถ้าเป็นช่วงเช้าหรือกลางวัน (ไม่แนะนำให้ดื่มช่วงเย็นหรือดึกๆเพื่ออ่านหนังสือ เพราะสมองควรได้พัก)
2. เลือกอ่านในช่วงเวลาที่เป็น prime time ของเรา คืออะไร? คือเวลาที่เรารู้สึกสดชื่นหรือสมองตื่นตัว พร้อมในการทำงานหรือการใช้ความคิด แต่ละคนจะมีช่วงเวลานี้แตกต่างกันไป บางคนช่วงเช้าหลังตื่นนอนสักพัก บางคนช่วงสายๆ บางคนช่วงกลางคืนหลังอาบน้ำก็มี เราต้องหา prime time ของตัวเอง และเอาเวลานั้นไปลุยอ่าน
3. อยู่ในที่ที่เราสามารถโฟกัสได้ดี เตรียมสภาพแวดล้อมการอ่านให้เหมาะสมกับเรา เช่น แสงสว่างต้องเพียงพอ ไม่มีสิ่งรบกวน บางคนชอบอ่านที่เงียบๆ บางคนต้องมีเสียงเบาๆหรือมีเพลง ซึ่งก็สามารถทำได้ ถ้าสมาธิเราอยู่กับสิ่งที่อ่าน และเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม เช่น ปากกา กระดาษโน้ต ไฮไลท์ เป็นต้น
4. ตัดสิ่งรบกวนสมาธิออกไปให้ได้มากที่สุด เช่น มือถือ อาจจะปิดเครื่องไปเลย ไม่ก็วางไว้ห้องอื่น ถ้าต้องค้นคว้าข้อมูลไปด้วยควรเลือกใช้คอมหรือแท็บเลตมากกว่ามือถือ เพราะสิ่งรบกวนมักจะน้อยกว่า หรือบางคนอ่านไปคุยไปกับเพื่อน หรือคนในครอบครัว ก็อาจจะเสียสมาธิและอ่านไปแบบงงๆได้
5. บางคนอยากฝึกอ่านให้เก่งขึ้น จึงเลือกเรื่องที่ยากๆมาอ่าน แนะนำว่าเราควรชอบหรือสนใจเรื่องนั้นด้วย ถ้าไม่ชอบและไม่สนใจ ข้ามไปเลยครับ เสียเวลา มีอีกหลายเรื่องที่เราสนใจและสามารถฝึกการอ่านไปด้วยได้
ช่วงการอ่าน
1. มองภาพรวมของสิ่งที่จะอ่านก่อนเสมอ คือ คิดเกี่ยวกับสิ่งที่เราจะอ่านไว้เลย ว่าเรากำลังจะอ่านเรื่องอะไร และเราต้องการจะได้อะไรจากการอ่าน
ไม่ควรเริ่มมาถึงอ่านไปเลยเรื่อยๆ (คนทำแบบนี้เยอะ) เช่น เรากำลังจะฝึกอ่านงบการเงินบริษัท แทนที่เราจะลุยไปเลยแบบงงๆ เราต้องคิดก่อนว่า งบการเงินจะบอกอะไรกับเราได้ จุดไหนที่เราต้องการรู้เป็นพิเศษ จุดไหนที่เราต้องระวัง เป็นต้น การมองภาพรวมก่อนจะทำให้การอ่านง่ายขึ้น รวมทั้งเป็นการเพิ่มโฟกัสด้วย
2. อาจใช้ตัวช่วยในการแบ่ง session การอ่าน เช่น วิธี pomodoro อ่าน 25 นาที แล้วพัก 5 นาที แล้วกลับมาอ่านต่ออีก 25 นาที แล้วพัก เป็นต้น บางคนจะอ่านไปเรื่อยๆนานกว่านั้นได้ถ้ารู้สึกว่าการอ่านเรายังลื่นไหลได้ดี
3. คิดเป็นภาพ/วาดรูป/ทำ mindmapping ภาพช่วยให้สมองจดจำได้ดีขึ้น และช่วยให้เราทบทวนสิ่งที่อ่านไปได้อีกด้วย
Rawpixel
4. การไฮไลท์ช่วยได้ การจดโน้ตอธิบายความเข้าใจของเราลงไปเลยช่วยได้
5. ถ้าเตรียมตัวมาอย่างดี มีสมาธิแล้ว แต่อ่านยังไงก็ไม่รู้เรื่อง ทำไงดี?
- ย้อนกลับไปอ่านเรื่องที่ง่ายกว่าปูพื้นก่อน บางครั้งเราต้องยอมเสียเวลามากขึ้นเพื่อทำความเข้าใจ โดยการอ่านเรื่องเดียวกันที่เป็นระดับพื้นฐานก่อน ซึ่งจะช่วยได้มาก เช่น บางคนอยากอ่านเรื่อง ความผิดปกติของสมองในโรคอัลไซเมอร์ ถ้าเราอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ก็ต้องย้อนไปอ่านพวกโครงสร้างทางกายวิภาคและสรีรวิทยาของสมอง และการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองก่อน เป็นต้น
- หาเรื่องที่เป็นเรื่องเดียวกันจากแหล่งอื่นมาอ่าน เพราะบางครั้งเราอ่านของคนนึงไม่เข้าใจ แต่อ่านของอีกคนแล้วเข้าใจเลยก็มี
- ถ้ามีตัวช่วย ถามเลย บางเรื่องก็ค่อนข้างยากที่จะเข้าใจจากตัวหนังสือล้วนๆได้ ถ้ามีคนที่ช่วยสอนเราได้ อาจจะประหยัดเวลาไปได้เยอะมาก หรือเปลี่ยนจากเรื่องยาก เป็นเรื่องง่ายๆได้เลย
6. อดทน! เมื่อเรารู้ว่าเรากำลังอ่านเรื่องที่ยาก เราต้องอดทน อย่ายอมแพ้ง่ายๆ เพราะถ้าเราบรรลุได้ มันจะฟินมากๆเลยแหละ!
7. ถ้าไม่ไหวจริงๆก็พักก่อน บางวันสมองเราอาจไม่แล่นก็ได้ แต่อย่าทิ้งไปนาน ไม่งั้นมีโอกาสที่เราจะได้เริ่มใหม่หมด หรือหมดไฟไปเลย
ช่วงหลังอ่านเสร็จ
1. เขียนสรุปออกมาเป็นความเข้าใจของเรา เป็นคำพูดของเราเอง
2. เล่าเรื่องที่อ่านไป ให้คนอื่นฟัง ถ้าเล่าแล้วรู้เรื่อง แสดงว่าเราเข้าใจเรื่องที่อ่านแล้ว
3. ฉลองความสำเร็จให้ตัวเองได้เลย 🎉
เพื่อนๆคนไหนมีเทคนิคดีๆก็มาแชร์ให้ฟังกันบ้างนะครับ ส่วนใครที่ชอบก็กดติดตามกันได้เลยครับ :)
โฆษณา