2 มิ.ย. 2020 เวลา 11:15 • การศึกษา
Post 22 : เรื่องเล่า จากโรงเรียนประถม ตอนที่ 1
โรงเรียนประถมของปุญลูกสาวแม่ป๋อม ประกาศปิดเรียน ตามมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด -19 ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม และปิดยาวต่อเนื่องกันถึง 6 อาทิตย์
จนเมื่อต้นเดือนเมษายน จึงเริ่มทยอยเปิดเรียนอีกครั้ง โดยเริ่มที่ชั้นเรียนของเด็กป.6 ก่อน สำหรับเด็กป. 5 แบบปุญ เริ่มไปโรงเรียนเมื่อวันจันทร์ที่ 11 เมษายน ..
ถึงแม้สถานการณ์โควิด -19 ในเยอรมนีจะดีขึ้นตามลำดับ แต่การเปิดโรงเรียนครั้งนี้ รัฐบาล และทางโรงเรียนเองก็มีการจัดการที่รัดกุม เป็นเรื่องน่าสนใจอีกเรื่อง ที่แม่ป๋อมอยากเล่าให้เพื่อน ๆ ที่ติดตามเพจนี้ฟังค่ะ
แต่ด้วยว่าโพสต์อาจยาวเกินไป หากแม่ป๋อมเอาทุกอย่างที่อยากเล่ามาลงพร้อมกันในโพสต์เดียว .. คืออยากเล่าเยอะ บอกไว้ก่อนเลย 😆
เลยจะแบ่งเป็น 2 โพสต์
สำหรับตอนแรก จะเล่าเรื่องโรงเรียนแบบคร่าว ๆ ก่อนที่จะเกิดวิฤติโควิด และปิดท้ายด้วยบันทึก ที่แม่ป๋อมเขียนลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ตอนที่ไปฟังการปฐมนิเทศน์ ครั้งที่ปุญเข้าป.1 เมื่อปี 2015
ส่วนคลิปที่ใช้ประกอบ คือปุญ ณ ปัจจุบัน ถ่ายเมื่อวันก่อน ที่เราทำขนมกินด้วยกัน
ถ้าพร้อมแล้ว เริ่มนะคะ ..😊
.
.
ขอเกริ่นคร่าวๆ เรื่องระบบการศึกษาที่นี่ก่อนว่า ..
ประเทศเยอรมนี ให้สิทธิ์แต่ละรัฐ ที่มีทั้งหมด 16 รัฐจัดการการศึกษาเอง ..
เรื่องนี้เอาไว้แม่ป๋อมหาข้อมูลละเอียดมาเล่าให้ฟัง.. วันนี้ยกตัวอย่างเฉพาะการเรียนระดับประถม ของโรงเรียนปุญ ในรัฐที่เราอยู่ ดังนี้ค่ะ
- อนุบาลไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ
- เด็กส่วนใหญ่เข้าชั้นป.1 ที่อายุ 6 ขวบ แต่กรณี ปุญคือ 7 ขวบเพราะเราต้องย้ายบ้าน ย้ายรัฐช่วงที่ปุญจะเข้าโรงเรียน ทำให้แผนการเริ่มต้นเรียนต้องเปลี่ยน
- กรณีโรงเรียนปุญ เป็นโรงเรียนไม่ใหญ่ แต่ละชั้นมี 3 ห้องเรียน มีเด็กแต่ละห้อง คละชาย - หญิง เฉลี่ยที่ 20 คน
- ไม่มีการเรียนเต็มวัน .. ยกตัวอย่างเวลาเรียนของแต่ละชั้นเช่น..
ป.1 - 3 เข้าเรียน 7.45 น. และเลิกก่อนเที่ยง
ป.4 - 6 เข้าเรียน 7.45 น. บางวันเลิกก่อนเที่ยง บางวันเลิก บ่ายโมง หรือบ่ายสองโมง
- ช่วงบ่าย หากผู้ปกครองไม่สะดวกรับเด็กกลับบ้าน สามารถให้นักเรียนที่อยู่ในชั้น ป.1- 4 อยู่ที่โรงเรียนได้ แต่เด็กตั้งแต่ป.5 ขึ้นไปต้องมีเอกสารรับรอง แสดงเหตุผล และความจำเป็นของผู้ปกครอง กรณีต้องการให้เด็กอยู่โรงเรียนหลังเลิกเรียน
กิจกรรมเสริมของช่วงบ่ายที่โรงเรียนจัดให้ มีทั้งศิลปะ พละ ดนตรี รวมถึงชั่วโมงสอนการบ้าน
ทั้งนี้ไม่มีการบังคับว่าเด็กต้องเข้าร่วมกิจกรรม หากผู้ปกครองพอใจจะให้ลูกอยู่ในความดูแลของโรงเรียนต่อ แบบวิ่งเล่นในบริเวณโรงเรียน แต่ไม่ร่วมกิจกรรมใด ๆ ก็ได้เหมือนกัน
แต่ถึงอย่างนั้น เด็กที่อยู่โรงเรียนหลังเลิกเรียนต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม (ค่าเล่าเรียนปกติไม่เสีย) ซึ่งแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับรายรับของผู้ปกครอง จำนวนสมาชิกในครอบครัว ที่อยู่โรงเรียนเดียวกัน เช่น หากพี่อยู่โรงเรียนนี้ น้องก็มีสิทธิ์ได้ลดหย่อนค่าดูแลหลังเลิกเรียนเพิ่ม
หรือหากพ่อแม่ของเด็กรายหนึ่ง มีรายได้รวมกันมากกว่าพ่อแม่ของเด็กอีกราย ต้องจ่ายค่าดูแลช่วงบ่ายมากกว่า .. เป็นต้น
- สำหรับโรงเรียนปุญ ชั้นป.1 และ 2 ไม่มีการสอบและเก็บคะแนน เริ่มมีการสอบและเก็บคะแนนใน 3 วิชาหลักคือ เยอรมัน คณิตศาสตร์ และอังกฤษที่ชั้น ป.3 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นโยบายการให้สอบ คะแนนสอบ และการบ้าน ของแต่ละโรงเรียนจะแตกต่างกันไป
- จะมีการให้คะแนนรวมในสมุดพก ตั้งแต่ 1 - 6 ตัวเลขยิ่งมาก แสดงว่าเด็กต้องปรับปรุงในวิชานั้น ..
อันนี้ตลกดี เพราะบ้านเรา ถ้าเปิดสมุดพกมาแล้วพบว่าลูกได้เลข 1 สำหรับวิชาใด ๆ ก็ตาม พ่อแม่คงหน้าเสีย แต่ที่เยอรมนี ถ้าลูกใครได้ 1 มา ... ยิ้มหน้าบานกันไปค่ะ
.
.
เกริ่นภาพรวมคร่าว ๆ ไว้แบบนี้ .. ส่วนเรื่องที่ว่า มีการจัดระบบการเรียนแบบไหน อย่างไร ในช่วงที่ยังต้องรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้อโควิด-19 นี้ .. แม่ป๋อมจะมาเล่าให้ฟังในโพสต์ถัดไป
และขอปิดท้ายด้วยบันทึกนี้ ที่เคยลงไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อช่วงกลางปี 2015 ดังนี้ค่ะ
.
.
เมื่อวานมีประชุมผู้ปกครองครั้งแรก ของเด็กป.1ที่จะเข้าโรงเรียนในปีนี้ และเนื่องจากภาษาเยอรมันของทั้งพ่อและแม่ปุญดีมาก เลยต้องไปกันทั้งคู่จะได้ช่วยกันฟังว่าครูบอก และสั่งอะไรบ้าง
ประชุมในห้องเรียนที่ลูกจะไปเรียนจริง ๆ ประมาณเกือบสามชั่วโมงถึงเสร็จ ออกมาสรุปกันสองหัว สี่หูพอจะได้เรื่องอยู่บ้าง
คุยกันต่อถึงเรื่องที่ครูสั่งและบอกเรื่องการจัดหาหนังสือ กระเป๋า เครื่องเขียน อุปกรณ์กีฬา และอื่น ๆ อีกจิปาถะ
คิดในใจ .. นี่ขนาดตัดเรื่องชุดนักเรียน และการปัก ๆ ทั้งหลายไปแล้วนะ ... ยังใช้เวลาเยอะซะ
วกมาที่ตารางเรียนและจำนวนเด็กนักเรียนกับครู ... ดังนี้
เด็ก ๆ ห้องปุญมี 25 คน ครูประจำชั้น 1 คน และ ครู(นักการศึกษา) ที่จะรับหน้าที่ดูแลกิจกรรมเด็ก ๆ ช่วงบ่าย ก่อนพ่อแม่มารับอีก 1 คน
วิชาเรียนแต่ละอาทิตย์ต่อชั่วโมงมี
ภาษาเยอรมัน 6 ชม.
เลข 5 ชม.
สังคม(หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก) 3 ชม.
พละ 3 ชม.
อังกฤษ 1 ชม.
ศิลปะ 1 ชม.
และดนตรีอีก 1 ชม.
เวลาเรียนแต่ละวันคือ
ชั่วโมงแรก 7:45 - 8:30 น.
แล้วพักให้เด็ก ๆ กินข้าวเช้าที่เตรียมมา 15 นาที
ชั่วโมงที่สองเริ่มเวลา 8:45 - 9:30 น.
แล้วพักให้เด็ก ๆ ไปวิ่งเล่นอีก 25 นาที
ต่อด้วยชั่วโมงที่ 3 เวลา 9:55 -10:40 น.
และ ชั่วโมงที่ 4 เวลา 10:50 - 11:35 น.
แค่นี้ถือเป็นหมดวันสำหรับการเรียน
หลังจากนั้นเด็ก ๆ จะกินข้าว และทำกิจกรรมอื่น ๆ รวมทั้งทำการบ้านกับครูกิจกรรมต่อ หรือจะกลับบ้านก็ได้ แล้วแต่ผู้ปกครองกำหนด ว่าจะให้ร่วมกิจกรรมกับครูกิจกรรมในแต่ละวัน แต่ละอาทิตย์ กี่ชั่วโมง อะไรบ้าง
พอรู้ว่าเด็ก ๆ เลิกเรียนกันเวลา 11:35 น. พ่อปุญพูดขึ้นว่า ...
"อะไร(วะ) เด็กเลิกเรียนกันสิบเอ็ดโมงสาม'ห้า... แล้วยังพาประเทศมาเจริญขนาดนี้"
"อืมมม ก็จริง ... นี่ยังไม่ได้หักเวลาพัก 2 ครั้ง รวมกัน 40 นาทีนะ" ... แม่ปุญเสริม
...............................
ใคร ที่ไหนเข้าใจอะไรผิดไปหรือเปล่า เด็กบ้านเรา (ถึงจะไม่ใช่ส่วนใหญ่แต่ก็หลายคน) ถึงต้องทั้งเรียน ทั้งติวกันทั้งวัน เสาร์-อาทิตย์บางทีมีเพิ่ม ...
เพื่อ?
.
.
จบบันทึก และจบตอนแรกของเรื่องนี้ โพสต์หน้า มาต่อการจัดการการเรียนการสอน ณ ปัจจุบันกันค่ะ 😊
.
.
ยูทูปของเรา
และตอนนี้แม่ป๋อมเอาคลิปเก่าตอนปุญเด็กๆ มาลง อย่างคลิปนี้ .. แก้มนางน่าบีบดีมากๆ เลยค่ะ 🤣🤣
.
.
🌸ขอบคุณที่ติดตาม
🌸ขอให้ทุกวันเป็นวันดี ๆ ของทุกคนค่ะ
.
.
YT Channel: Poon Station
FB Fanpage: Poon Station Fanpage
FB แม่ป๋อม: PomPoon Station
Blockdit แม่ป๋อม: Poon's Diary by แม่ป๋อม
Blockdit Page: เยอรมนีและจิปาถะ by แม่ป๋อม

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา