2 มิ.ย. 2020 เวลา 12:30 • ปรัชญา
นิทานธรรม ว่าด้วยบุพกรรมแห่งการตีความคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยกิเลสของตัวเอง
ปลาทอง
สุวรรณมัจฉา หรือสมัยเป็นมนุษย์มีนามว่าท่านกปิลภิกขุ ด้วยความที่ตอนตนเองเมื่อบวชอยู่ในพระพุทธศาสนา ศึกษาแต่พระปริยัติ คือ ท่องจำแต่วิชาความรู้ ไม่ได้ศึกษามาปฏิบัติ แล้วนำความรู้นั้น ๆ ไปสั่งสอนคนให้มีความเห็นผิด เป็นมิจฉาทิฐิ ตีความคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยกิเลสของตน คัดค้านคำสอนของพระพุทธเจ้า แถมยังติเตียนพระอริยเจ้า และพระอรหันต์
เมื่อตายจากความเป็นมนุษย์ ก็ตกไปสู่อเวจีมหานรกสิ้นระยะเวลากาลนาน ผ่านพ้นพระพุทธเจ้าไปหลายพระองค์ จนท้ายที่สุดได้มาเกิดในสมัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน มาเกิดเป็นปลาที่มีเกล็ดเป็นสีทองสวยงามอร่ามตา แต่มีกลิ่นปากที่เหม็นอย่างรุนแรง ครั้นมีเหตุชาวบ้านจับปลาตัวนี้ได้จึงไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารจึงนำความสงสัยเรื่องของปลาตัวนี้ ที่มีร่างกายสวยงาม แต่มีกลิ่นปากอย่างรุนแรง ไปทูลถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงตรัสถึงบุพกรรมของปลาตัวนี้ในสมัยที่เกิดเป็นท่านกปิลภิกขุให้พระเจ้าพิมพิสารฟัง ดังที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น (ไปหาฟังได้ในเสียงธรรมคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุง ในชุดวินัยของพระม้วนแรก ๆ ได้ครับ)
ท่านกปิลภิกขุ เสวยกรรมหนักในอเวจีมหานรก ไม่ได้พบพระพุทธเจ้าตั้งหลายพระองค์ สมัยก่อนกัปหนึ่ง บางครั้งมีพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาตรัสรู้บางคราพระองค์หนึ่งบ้าง บางคราสองพระองค์บ้าง
นี่ผ่านมาหลายพระองค์ ก็คาดว่าคงจะผ่านนรกมาไม่ใช่น้อยเหมือนกันครับ (หลายกัป) แต่ก็ยังไม่หมดกรรมอีก (โทษหนักจริง ๆ)
ในกรณีนี้ ก็ทำให้เห็นเรื่องของบุญครับ
ผลของบุญแม้จะมีปริมาณน้อย แต่บุญเป็นชื่อของความดี สิ่งดี ๆ ที่เราทำอันเรียกว่าบุญนั้น ทำแล้วก็ไม่ได้หายไปไหน ที่บางคนชอบบ่นว่า "ทำดี แล้วไม่ได้ดี" อยากจะให้ดูกรณีนี้ครับ นำไปพิจารณา
ท่านกปิลภิกขุ ถึงแม้จะมีบาปหนามาก จนอานิสงส์ที่ท่านศึกษาธรรมด้วยความตั้งใจในเบื้องต้นอย่างแตกฉาน และสั่งสอนธรรมให้บุคคลอื่น ๆ ได้ดีกันก็มากในช่วงแรก ๆ (ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากนะครับ) ยังไม่สามารถส่งผลให้ท่านไปในสถานที่ ที่เป็นสุขได้ เพราะอกุศลกรรมหนักกว่า แต่ผลบุญก็ยังไม่ได้หายไปไหน รอส่งผลเมื่ออกุศลเบาบางลงไป
เมื่ออกุศลเบาบางลงไปบ้าง สบโอกาส ถึงวาระ ผลบุญต่าง ๆ แม้เพียงเล็กน้อยก็จะคอยให้ผล ส่งผลทันที คอยฉุดดึง โอบอุ้ม ค้ำชู ประคับประคอง ให้ผู้ที่ทำบุญนั้น ๆ ได้รับผลคือความสุขในทันทีที่ถึงวาระที่กุศลจะสนองได้
คงจะแบบท่านกปิลภิกขุ ที่เมื่อบาปหนักกว่าจนบุญยังไม่สามารถที่จะสนองได้ เมื่อบาปเบาบางลงไปบุญก็ยังให้ผลได้มาหยุดพักหอบหายใจโดยมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก่อน พอบุญส่งผลให้ได้รับความสุขก่อนตามวาระและอานิสงส์ของบุญแล้ว สุดท้าย ก็ต้องไปรับผลแห่งวิบากอกุศลกรรมต่อไปอีก
เครดิต กระดานสนทนาวัดท่าขนุน > ห้องธรรมะ เรื่องราวในอดีต และสรรพวิชา > เรื่องธรรมะ และการปฏิบัติ
โฆษณา