3 มิ.ย. 2020 เวลา 03:06 • การศึกษา
ในสถานศึกษาหรือองค์กรจะเกิดนวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ๆ ได้อย่างไร
ก่อนอื่นอยากจะเล่าเรื่องของ เพียร์พอนต์ แซมมวล แลงลีย์ (Samuel Pierpont Langley) ที่ได้โจทย์คิดค้นเครื่องบินโดยมีทั้งทีมงานเก่งๆ งบประมาณ และสถานที่ แต่ชื่อเสียงนั้นกลับเป็นของพี่น้องตระกูลไรต์ (Wright) ที่ไม่ได้รับโจทย์จากใครว่าให้ทำอะไร ไม่มีเงินสนับสนุน และไม่ได้คิดถึงชื่อเสียง แต่อะไรที่ทำให้สองคนนี้ตื่นมาทำงานทุกวัน บางทีลืมกินข้าวและไม่นอนด้วยซ้ำไป
1. แรงจูงใจ
อยากให้ลองดูภาพ Golden Circle ของ Simon Sinek (Why How What) ที่ได้อธิบายถึงคนส่วนใหญ่มักทำอะไรจากข้างนอกวงกลมเข้าไปข้างใน แต่มีน้อยคนนักที่จะทำจากแกนกลางของวงกลมออกมา และนั่นแหละคือแรงจูงใจภายใน ที่ทำให้คนคนหนึ่งเชื่อ และสื่อสารกับตัวเองในสิ่งที่ใช่
เราอาจจะมีครูอาจารย์หรือหัวหน้าสั่งงานว่าต้องการอะไรให้ทำอะไร บางท่านก็เป็น Micromanagement ควบคุมทุกรายละเอียดเกรงว่าจะผิดพลาด แต่ความรู้สึกคนทำงานคือมันยังไม่ใช่ หรือทำไปก็รู้สึกมีคำถามจะเป็นไปได้เหรอ ทำงานหนักแบบนี้เพื่ออะไรกัน และนี่แหละเพราะเรายังไปไม่ถึงแกนกลาง โดยที่หัวหน้าหรือครูอาจารย์บางท่านก็ไม่สามารถสื่อสารให้เราเห็นได้
มาร์ตินลูเธอร์คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.) ก็คือตัวอย่างผู้นำเรียกร้องสิทธิพลเมือง โดยเฉพาะเรื่องการคว่ำบาตรรถขนส่งมวลชนที่มีการแบ่งแยกที่นั่งตามสีผิว เขาสามารถสื่อสารถึงสิ่งที่เขาเชื่อ นั่นคือ Why ตรงแกนกลาง เขามีความฝัน จนคำว่า
“I have a dream” โด่งดังมากๆ และคนมากมายที่ตามเขามาก็เพราะเชื่อในความฝันนั้น ส่วนกระบวนการตามมาทีหลัง และฝันนั้นก็สำเร็จจริงๆ
ดังนั้นการสื่อสารสร้างแรงจูงใจจากแกนกลางสำคัญมาก แต่ถ้าเราคือคนที่ไม่ได้รับสารนั้นก็ต้องสร้างแรงจูงใจขึ้นด้วยตัวเอง โดยต้องเป็นแรงจูงใจภายในที่มีความหมายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น คือแบ่งปันได้นั่นเอง
 
2. ความสัมพันธ์ และการมีตัวตน
 
ในการทำงานหนึ่งๆ เพื่อนร่วมงานที่ดี ครูอาจารย์หรือหัวหน้าที่ดี ย่อมทำให้งานที่ยากกลายเป็นงานที่ท้าทายและสนุกสนานได้ เหมือนเป็นการต่อสู้ไปด้วยกัน โดยการทำงานนั้นทุกคนในทีมจะต้องมีตัวตนได้รับการยอมรับ ได้รับการรับฟัง สามารถถามคำถามและแสดงความเห็นที่หัวหน้าหรือเพื่อนไม่มองว่าเป็นคำถามไร้สาระ ถ้าบรรยากาศในทีมเหมือนเป็นการรอคำสั่ง ไม่อยากทำอะไรเพราะกลัวผิด ทีมนั้นถึงงานจะออกมาดี ทำได้ตามแผน แต่จะไม่มีอะไรใหม่ คนที่เป็นครูอาจารย์และหัวหน้าก็จะเหนื่อย และความสัมพันธ์แบบนี้คือการมีตัวตนเพียงบางคน ต่อให้มีแรงจูงใจตั้งต้นแต่ก็ไม่มีความสนุกและทำให้ความหมายหายไป
3. การมีจังหวะช้าลง หยุด เล่น และเพ้อฝันครุ่นคิด
การทำงานของแต่ละทีมหรือวัฒนธรรมองค์กรแบบเดิมคือการสร้างระบบให้คนทำงานคือทำงาน ไม่เล่นไม่พัก ต้องเห็นผลงาน แต่ในวัฒนธรรมของเอกชนหลายที่ได้เปลี่ยนไปโดยเชื่อว่าการไว้ใจ ให้ทีมได้หยุด ได้ช้าลง ได้เล่น ให้มีการอยู่ลำพังครุ่นคิดเพ้อฝันจะทำให้เกิดความคิดและวิธีการดีๆ ซึ่งแน่นอนว่ามีผลการทดสอบหลายครั้งแล้วว่า
ความคิดสร้างสรรค์จะออกมาช่วงที่เราพักไปดื่มกาแฟ ได้เดินตามสวนสาธารณะ ในห้องน้ำ หรือช่วงเวลาผ่อนคลายนั่นเอง
ยิ่งในยุคโควิดที่ทำงานและเรียนที่บ้าน มีข้อจำกัดหลายด้าน และการถูกตามงานเหมือนไม่ไว้ใจก็อาจจะยิ่งทำให้เกิดความเครียด ความกังวล แน่นอนว่าสิ่งแวดล้อมแบบนี้ไม่เหมาะต่อการเรียนรู้และการทำงานให้เกิดสิ่งใหม่ๆให้สำเร็จ บางองค์กรจึงทำงานได้ตามที่สั่งให้ทันเท่านั้น
ดังนั้นการผ่อนคลาย สร้างความสัมพันธ์ และให้กำลังใจ ให้ไปถึงคำว่า Why ที่ร่วมกันสร้าง น่าจะสำคัญในการทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ในสถานการณ์ไม่ปกตินี้
อ้างอิง ;
Start with why-How great leaders inspire action # Simon Sinek
Readery podcast ตอนที่ 55: 10 คีย์เวิร์ดสำคัญที่ทำให้งานสนุกและมีความหมาย
โฆษณา