3 มิ.ย. 2020 เวลา 05:00 • การศึกษา
แดนสนธยาต้องห้ามของธนาคารกลาง และ Hyperinflation
หากจะถามว่า Central Bank หรือธนาคารกลางในแต่ละประเทศ มีหน้าที่อะไร คำตอบพื้นฐานที่สุดคือ ธนาคารกลางในแต่ละประเทศ มีหน้าที่ในการดูแลปริมาณเงินที่ไหลเวียนอยู่ในระบบ ผ่านการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและการดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอดี ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 2%
.
ดังนั้น ในยามที่มีเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจมากเกินไป การเติบโต มีความร้อนแรงเกินไป จนส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินไป ธนาคารกลางมีหน้าที่ดึงสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจกลับ ชะลอความร้อนแรงของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และลดความเฟ้อของเงิน
.
ในทางกลับกัน ในยามที่เงินไหลเวียนในเศรษฐกิจน้อยเกินไป การเติบโตเป็นไปอย่างเชื่องช้า และอัตราเงินเฟ้อต่ำ ธนาคารกลางมีหน้าที่เพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจเพื่อเร่งเครื่องให้เศรษฐกิจเติบโตดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในระดับที่เหมาะสม
แต่ในยามวิกฤตเช่นนี้ หน้าที่หนึ่งของธนาคารคารกลางคือการเป็นแหล่งสภาพคล่องแหล่งสุดท้ายในระบบเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากในเวลานี้ ขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกต้องถูก lock down ธนาคารกลางทั่วโลก จึงมีบทบาทสำคัญในการอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบผ่านนโยบายทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยก็ดี หรือการเข้าซื้อตราสารหนี้ของธนาคารกลางก็ดี ทั้งหมดเป็นความพยายามเติมสภาพคล่องทางการเงินเข้ามาในระบบทั้งสิ้นในฐานะ ‘แหล่งเงินแหล่งสุดท้าย’ ที่จะทำให้เศรษฐกิจยังคงขับดันต่อไปได้
.
อย่างไรก็ดี มีการตั้งคำถามกันเยอะเกี่ยวกับการอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบแบบ ‘ไร้ขีดจำกัด’ ว่าวิธีการแบบนี้จะทำให้เกิด Hyperinflation ได้หรือไม่
ก่อนอื่น มาเข้าใจวิธีการอัดฉีดเงินของธนาคารในตอนนี้ก่อน ว่าธนาคารอัดฉีดเงินผ่านวิธีอะไร โดยทั่วไปแล้ว ธนาคารกลางใช้วิธีการเข้าซื้อตราสารหนี้ที่มีอยู่ในตลาด หรือพูดง่ายๆ ว่า ผ่านการเป็นเจ้าหนี้ หรือให้ยืมเงิน หากธนาคารกลางซื้อตราสารหนี้รัฐบาล ธนาคารกลางก็เป็นเจ้าหนี้รัฐบาล ถ้าธนาคารกลางซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็น พันธบัตรสินเชื่อบ้านหรือหุ้นกู้ต่างๆ ธนาคารกลางก็จะกลายเป็นเจ้าหนี้ภาคเอกชน
.
เพราะเหตุนี้ ธนาคารกลางจึงมีอำนาจในการให้กู้ยืมเงิน (Lending) แต่ไม่มีอำนาจในการใช้จ่ายเงิน (Spending) และการให้กู้ยืมเงิน ธนาคารกลางใช้รัฐบาลก็ดี ธนาคารพาณิชย์ก็ดี สถาบันทางการเงินก็ดี เป็นผู้ช่วยนำเงินเหล่านั้นไปอัดฉีดต่อในระบบเศรษฐกิจ
.
แต่เนื่องจากปัญหาที่ผ่านมาในสถานการณ์โควิด สาเหตุหลักที่ทำให้เงินในระบบหายไป คือการที่เศรษฐกิจถูก Lock down ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหายไปในทันที เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือกิจกรรมการซื้อขายสินค้าและบริการหายไป เมื่อการซื้อขายสินค้าและบริการไม่เกิดขึ้น รายได้ของผู้ประกอบการย่อมหายไป เคสไม่แรงก็แค่ลดเงินเดือน แต่เคสแรงก็ถึงขนาดลดคนงานและปิดกิจการไปเลย เมื่อคนตกงานมากขึ้น พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนในสังคมย่อมเปลี่ยนไป การใช้จ่ายที่เคยฟุ่มเฟือยก็ต้องเปลี่ยนเป็นออมเงินมากขึ้น เมื่อออมมากขึ้น ใช้จ่ายน้อยลง ผู้ประกอบการก็ถูกกระทบซ้ำ กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น
ดังนั้น แม้ธนาคารกลางจะสามารถให้สภาพคล่องกับระบบได้ แต่ปัญหาสำคัญคือเงินนั้นกลับไปติดอยู่กับช่องทางการกระจายเงิน ในภาครัฐ การที่จะได้เงินเพื่อไปใช้จ่ายก็จะต้องมีการออกพันธบัตรและขายพันธบัตรออกไปในตลาดการเงิน จากนั้น ธนาคารกลางจึงสามารถเข้าไปซื้อพันธบัตรเหล่านั้นได้ รวมไปถึงการนำเงินเหล่านั้นไปใช้จ่ายก็ต้องมีการนำแผนงบประมาณเข้าประชุมอีก เงินจากภาครัฐในหลายๆ ครั้งจึงมีความล่าช้าในการนำไปกระจายสู่ภาคเศรษฐกิจจริง
.
ส่วนในภาคธนาคารพาณิชย์และสถาบันทางการเงิน แม้จะมีความสามารถให้ยืมเงินได้มากขึ้น แต่ความเสี่ยงในการให้กู้กลับเพิ่มขึ้นเพราะไม่สามารถมั่นใจได้ว่าผู้ที่กู้เงินไปจะสามารถคืนเงินกลับมาได้หรือไม่ ดังนั้น แม้จะบอกว่า Fed พิมพ์เงินได้ไม่จำกัด แต่ในความเป็นจริง แม้จะพิมพ์เงินได้ไม่จำกัด การนำเงินไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงกลับทำได้อย่างจำกัด
เมื่อเงินไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงได้จำกัด แรงกดดันก็กลับมาเป็นของรัฐบาลอีกครั้ง และขณะนี้ ประเทศอังกฤษ กำลังเป็นประเทศแรกที่จะให้ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England) ข้ามกระบวนการการพิมพ์เงินผ่านการซื้อตราสารหนี้ในตลาดการเงิน เพื่อให้รัฐบาลอังกฤษสามารถนำเงินจาก BOE (Bank of England) ไปใช้ได้โดยตรงเพราะรัฐบาลอังกฤษไม่สามารถขายพันธบัตรออกไปได้ทันกับความต้องการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล เรียกได้ว่า ประเทศอังกฤษขณะนี้กำลังอนุญาตให้ BOE ก้าวเข้าไปสู่แดนสนธยาที่เสี่ยงต่อการเกิด Hyperinflation ที่แท้จริง
.
อย่างไรก็ตาม BOE กล่าวว่านี่เป็นมาตรการระยะสั้น และรัฐบาลอังกฤษจะต้องคืนเงิน BOE ในสิ้นปีนี้ แต่อย่างที่ทุกคนรู้ดีว่า เงินที่ได้มาอย่างง่ายๆ เป็นเหมือนยาเสพติด ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อมีครั้งแรกแล้วจะสามารถมีครั้งต่อๆ ไปได้หรือไม่ และจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ซึ่งย่างก้าวนี้ของประเทศอังกฤษนับได้ว่าทำให้เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมาตรการนี้จะมีครั้งที่ 2 และ 3 ถัดไป
และเมื่อหันกลับมาดูสหรัฐอเมริกา ยังโชคดีว่าด้วยกฎหมายของสหรัฐอเมริกานั้นไม่อนุญาตให้ Fed (ธนาคารกลางสหรัฐ) ทำแบบนี้ได้ หากสหรัฐอเมริกาต้องการให้ Fed เป็นผู้ให้เงินรัฐบาลโดยตรง ต้องมีการแก้กฏหมายเสียก่อน
หลายคนอาจสงสัยว่า การพิมพ์เงินผ่านการซื้อตราสารหนี้ในตลาดเงิน กับการพิมพ์เงินให้รัฐบาลโดยตรงเพื่อไปใช้จ่ายมันต่างกันที่ตรงไหน
.
ความแตกต่างคือ ในขณะที่การพิมพ์เงินผ่าน QE มีธนาคารพาณิชย์เป็นตัวกลางซื้อพันธบัตรจากรัฐบาล แล้วค่อยขายพันธบัตรรัฐบาลไปที่ธนาคารกลาง ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จะมีเงินทุนสำรองธนาคารเพิ่มมากขึ้นผ่านการมีอยู่ของพันธบัตรรัฐบาล แต่ถ้ารัฐบาลไม่ออกพันธบัตร แต่สามารถได้เงินสดจากธนาคารกลางเลย สิ่งที่เกิดขึ้นคือธนาคารกลางกำลังลดปริมาณตราสารหนี้ที่ควรมีในระบบธนาคาร และแทนที่มันด้วยเงินสด
.
คำถามคือ ถ้ารัฐบาลสามารถหาเงินทุนได้ผ่านการออกตราสารหนี้และขายออกไปได้มากเพียงพอในตลาดการเงิน นั่นแปลว่ามีเงินส่วนเกินในระบบที่สามารถให้รัฐบาลกู้ได้ แต่ถ้ารัฐบาลต้องพึ่งเงินสดจากธนาคารกลางโดยไม่ผ่านการออกตราสารหนี้ นั่นหมายถึงตลาดมีเงินน้อยลงจนไม่เพียงพอที่จะให้รัฐบาลกู้ยืม หรือไม่ก็รัฐบาลต้องการกู้เงินมากเกินไปจนในตลาดไม่มีเงินพอให้กู้
ดังนั้น หากรัฐบาลกลายเป็นผู้ที่สามารถได้รับเงินสดจากธนาคารกลางโดยไม่ต้องมีตราสารหนี้ ธนาคารพาณิชย์จะถูกลดบทบาทในการเป็นเครื่องมือกระจายเงินสู่ระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลจะได้รับเงินสดเลยโดยไม่ต้องออกตราสารหนี้ให้ธนาคารพาณิชย์ซื้อและนำไปขายต่อให้ธนาคารกลาง ทำให้เงินทุนสำรองของธนาคารมีความจำกัดมากขึ้น ส่งผลถึงความสามารถในการให้กู้ยืมเงินก็ย่อมน้อยลงเช่นกัน สุดท้ายจะกลายเป็นว่า ประเทศจะต้องพึ่งพาเงินจากการใช้จ่ายของรัฐบาลมากขึ้น แทนที่จะพึ่งพาธนาคารที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการกระจายเงินสู่ภาคเศรษฐกิจจริง
.
เมื่อต้องพึ่งพาเงินจากรัฐบาลมากขึ้น รัฐบาลย่อมต้องการเงินมากขึ้น และเพราะการใช้จ่ายของรัฐบาลก่อให้เกิด Productivity ที่จำกัด บริษัทเอกชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้จำกัด เงินเหล่านี้ไม่สามารถก่อให้เกิด productivity ได้ ไม่ก่อให้เกิดสินค้าและบริการ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดรายได้ สิ่งที่ตามมาคือ รัฐจะต้องการเงินต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ประชาชนใช้จ่าย รัฐมีเงินไม่พอ จะกู้เงินผ่านการออกตราสารหนี้ ธนาคารพาณิชย์ก็มีเงินจำกัดลงเพราะไม่อาจให้ประชาชนกู้ยืมได้เนื่องจากประชาชนและเอกชน productivity น้อยลง รวมทั้งเงินสำรองธนาคารมีน้อยลงเพราะรัฐบาลข้ามกระบวนการออกตราสารหนี้ไปที่เงินสด ทำให้รัฐมีแนวโน้มที่จะพึ่งพาตลาดการเงินได้น้อยลง และจำเป็นต้องข้ามกระบวนการไปที่เงินสดอยู่เรื่อยๆ
.
หากธนาคารกลางไม่สามารถจำกัดการข้ามกระบวนการออกตราสารหนี้ไปที่เงินสดแบบนี้นานและมากพอ รัฐบาลจะกลายเป็นผู้เลี้ยงทุกคนในประเทศโดยที่งานในภาคเอกชนน้อยลง เมื่อไม่ได้ทำงาน สินค้าและบริการไม่เกิด แต่มนุษย์ยังจำเป็นที่จะต้องกินต้องใช้ เมื่อง Supply side มีปัญหา สินค้าและบริการมีจำกัด ในขณะที่เงินถูกแจกอย่างไม่จำกัด สุดท้าย จะกลายเป็นว่าคนจะต้องการสินค้าและบริการมากกว่าเงิน การหมุนของเงินจะเริ่มเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนต้องการใช้เงินออกไปให้เร็วที่สุดเพื่อเก็บสินค้าไว้ เมื่อการหมุนเร็วขึ้นจนควบคุมไม่ได้ ก็จะนำมาสู่ High Inflation และ Hyperinflation ในที่สุด
ดังนั้น ตอนนี้เราต้องคอยจับตามอง ว่าเมื่อประเทศอังกฤษข้ามแดนสนธยานี้ไปแล้ว ธนาคารกลางอังกฤษสามารถทำได้อย่างที่พูดหรือเปล่าว่านี่เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น และรัฐบาลต้องนำเงินมาคืนตอนสิ้นปี ประเทศอังกฤษอาจจะไม่ถึงขั้นที่จะต้องเผชิญกับ Hyperinflation หากธนาคารกลางอังกฤษสามารถทำได้อย่างที่ประกาศ หรือก็คือต้องคอยดูว่าประเทศอังกฤษจะถอยทัพออกมาจากแดนสนธยานี้ได้หรือไม่นั่นเอง
.
และเมื่ออังกฤษเริ่มใช้นโยบายนี้เป็นประเทศแรก สิ่งที่น่าจับตาอีกอย่างคือจะมีประเทศอื่นดำเนินนโยบายตามอังกฤษหรือไม่ นี่เป็นแดนสนธยาของธนาคารกลางที่จะก้าวเข้าไปไม่ได้ และหวังว่าจะไม่มีธนาคารกลางในโลกใบนี้ก้าวเข้าไปในแดนสนธยาแห่งนี้ตามประเทศอังกฤษ
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับ Macro Investment เพิ่มเติมได้ที่ https://m.facebook.com/blackbox4.0bymei
โฆษณา