3 มิ.ย. 2020 เวลา 15:18 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Misconception About Sci-Fi : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับไซไฟ
นิยายวิทยาศาสตร์ (Sci-Fi) เป็นแหล่งแรงบันดาลใจชั้นยอดทั้งสำหรับผู้มองหาพล็อตเรื่องที่แปลกใหม่ ไปจนถึงผู้สนใจด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และเฉกเช่นดั่งวรรณกรรมทุกแนว ไซไฟเติบโตมาร่วมกับเนื้อเรื่องหลากหลาย ไซไฟเริ่มแยกตัวออกมาเป็นเอกเทศจากแนวแฟนตาซีในช่วงต้นศตวรรษที่ 19
ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา นิยายวิทยาศาสตร์มักถูกนำมาประยุกต์ผสมกับสาขาย่อยอื่น ๆ จนแตกแขนงออกไปมากมาย เช่น ไซไฟ-แฟนตาซี, ไซไฟ-สยองขวัญ, ไซไฟ-ดิสโทเปีย ฯลฯ องค์ประกอบบางอย่างกลายเป็นเอกลักษณ์ที่พบเห็นได้บ่อยในงานเขียนที่มีไซไฟเป็นส่วนผสม ในบางครั้งองค์ประกอบเหล่านั้นถูกหยิบออกมาใช้โดยปราศจากการตั้งคำถามว่า สิ่งนั้นคือไซไฟจริงหรือไม่? แล้วส่วนไหนของเรื่องที่ทำให้มันถูกจัดเป็นไซไฟกันแน่?
บทความนี้จะนำทุกท่านไปพบกับ 6 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับไซไฟ ที่หวังว่าเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจและนักสร้างสรรค์ที่กำลังคิดจะเขียนแนวไซไฟแล้วเกิดความสงสัยว่า ที่เขียนอยู่นี่มันไซไฟไหมนะ? หรือกำลังคิดว่าจะเอาไซไฟไปขายใครดี งานเขียนไซไฟสมัยใหม่ไม่น่าจดจำเท่ายุคบุกเบิกจริงหรือ? ผู้หญิงอ่านไซไฟไหมนะ?
ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันได้เลย
1. แถบเรืองแสงและนีออน ≠ ไซไฟ
1. แถบเรืองแสงและนีออน ≠ ไซไฟ
หลายคนอาจรู้สึกคุ้นตากับบรรยากาศเมืองโลกอนาคตในยามค่ำคืนอันเต็มไปด้วยแสงสีฟ้า-ชมพูบานเย็น หน้าจอโฮโลแกรมนับกระพริบเคลื่อนไหวอยู่ในอากาศสุดลูกหูลูกตา ภาพยนตร์และสื่ออื่นมากมายใช้แสงสีเหล่านี้นำเสนอถึงโลกอนาคตที่เทคโนโลยีก้าวล้ำ โดยเฉพาะแนวไซเบอร์พังก์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ลำพังเพียงแค่แสงสีของไฟนีออนไม่สามารถใช้เป็นเกณฑ์จัดว่าเป็นไซไฟหรือไซเบอร์พังก์แต่อย่างใด
.
จุดเริ่มต้นของการใช้แสงสีในสื่อไซไฟเริ่มต้นขึ้นในยุค 80’s เห็นได้ชัดจากภาพยนตร์ระดับตำนานอย่าง Balde Runner หรืออนิเมชั่นฝั่งญี่ปุ่นอย่าง Akira ก็ได้วาดภาพอนาคตที่มืดหม่นแต่เต็มไปด้วยแสงสีออกมาได้อย่างลงตัว จนกลายเป็นภาพจำสำหรับแนวไซเบอร์พังก์ไปโดยปริยาย จะกล่าวได้ว่าเป็นภาพอนาคตในมุมมองของคนในอดีตที่สืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ก็ไม่ผิดนัก ในปัจจุบันไซไฟหลายเรื่องได้นำเซ็ตติ้งในลักษณะนี้มาใช้อยู่เรื่อย ๆ
.
หากนำแสงสีเหล่านี้มาใส่ในแนวไซไฟ แน่นอนว่าความไซไฟของเนื้อเรื่องยังคงอยู่ไม่จางหายไป ทั้งยังมีความสวยงามอีกด้วย แต่การเหมารวมภาพฉากหรือเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของตัวละครอะไรก็ตามที่ใช้แสงสีนีออนมาตกแต่งว่าเป็นไซไฟนั้นผิดถนัด เพราะภาพกับเนื้อเรื่องนั้นเป็นคนละอย่างกันอย่างสิ้นเชิง หากบรรยากาศดูล้ำสมัยแต่เนื้อหาเต็มไปด้วยภูติผีและเวทมนตร์ ก็ควรจะอยู่ในหมวดแฟนตาซีมากกว่าไซไฟ
.
แนวไซเบอร์พังก์เองก็ถูกจำสับสนกับแสงนีออนเหล่านี้เช่นเดียวกัน คำว่า ไซเบอร์พังก์ มีความหมายถึง “อนาคตที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าแต่คุณภาพชีวิตของประชาชนตกต่ำ” แสงสีอาจเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการบอกเล่าความเจริญทางวัตถุและระบอบทุนนิยม แต่บรรยากาศฉากหลังไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง เรื่องราวอนาคตอันย่ำแย่ที่เกิดขึ้นในโลกมืดมนไร้สีสัน หรือโลกขาวสะอาดตาแต่เปี่ยมด้วยความไม่น่าไว้วางใจก็สามารถจัดเป็นไซเบอร์พังก์ได้เช่นกัน
2. ไซไฟต้องมีอวกาศกับหุ่นยนต์และคำอธิบายศัพท์เทคนิคยืดยาว
2. ไซไฟต้องมีอวกาศกับหุ่นยนต์และคำอธิบายศัพท์เทคนิคยืดยาว
จากจำนวนสื่อไซไฟที่ประสบความสำเร็จจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่จะมีธีมเรื่องเกี่ยวกับอวกาศหรือหุ่นยนต์ ทำให้เมื่อพูดถึงสิ่งที่ทำให้คนนึกถึงไซไฟมากที่สุด ก็คงจะหนีไม่พ้นอวกาศและหุ่นยนต์ที่ไม่ว่าจะอยู่ในเนื้อเรื่องประเภทไหนก็จะทำให้เรื่องนั้นถูกมองเหมารวมว่าเป็นไซไฟไปทั้งหมด แต่ที่จริงแล้วการมียานอวกาศหรือหุ่นยนต์ในเรื่องไม่ใช่สิ่งที่บ่งบอกว่าเรื่องนั้นคือไซไฟแต่อย่างใด และเรื่องที่เนื้อเรื่องดูธรรมดาไม่มียานอวกาศหรือหุ่นยนต์ก็สามารถเป็นเรื่องไซไฟได้
ไซไฟคือเนื้อเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องและอ้างอิงวิทยาศาสตร์หรือความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีต่างๆ แต่เพราะอวกาศเป็นเซตติ้งที่สามารถใส่ความเป็นไปได้มากมาย ดูมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และง่ายในการต่อเติมสร้างเรื่องราวการผจญภัยต่างๆทำให้เรื่องราวของผู้คนบนยานอวกาศเป็นเรื่องที่นิยมสร้างและประสบความสำเร็จมากกว่าสื่อไซไฟเกี่ยวกับเทคโนโลยีอื่นๆ และหุ่นยนต์ที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนตั้งแต่มีการสร้างขึ้นมาและมองว่าเป็นสิ่งที่เราไม่เข้าใจและไม่สามารถเข้าใจเราได้ ทำให้เกิดเป็นธีมของสื่อไซไฟยอดนิยมอีกประเภทหนึ่งขึ้นมา
ถึงแม้ว่าภาพลักษณ์ของไซไฟมักจะทำให้นึกถึงอวกาศและหุ่นยนต์เป็นอย่างแรกๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องราวที่มีอวกาศและห่นยนต์จะเป็นไซไฟไปทั้งหมด เรื่องราวที่มีหุ่นยนต์และอวกาศหลายๆเรื่องอย่างเช่นทรานส์ฟอร์เมอร์หรือสตาร์วอร์ ถึงจะดูเหมือนเป็นเรื่องราวไซไฟ แต่ถ้าดูตามเนื้อเรื่องจริงๆแล้วก็คือเรื่องราวแฟนตาซีที่เกิดขึ้นในอวกาศเท่านั้น และหลายๆเรื่องที่ไม่ได้มีอวกาศหรือหุ่นยนต์ในเรื่องก็เป็นไซไฟได้เช่นกัน
เรื่องของศัพท์เทคนิค ไซไฟ-แฟนตาซี หลายเรื่องนิยมยกคำอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ออกมาเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจกลไกการทำงานของสิ่งของ/ธรรมชาติในเรื่องราวนั้น ทว่าบางครั้งก็มีการยกศัพท์เทคนิคที่ดูไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหา หรือไม่ได้ช่วยอธิบายสิ่งใดได้เลย อย่างเช่นการใช้คำว่า ‘แม่เหล็กไฟฟ้า’ ‘ควอนตัม’ ในบริบทที่ไม่เกี่ยวกับฟิสิกส์เลยแม้แต่น้อย เพียงเพื่อให้ดูเป็นวิทยาศาสตร์
การทำเช่นนี้ไม่ได้ช่วยให้เนื้อเรื่องดูเป็นไซไฟขึ้นแต่อย่างใด แต่เรียกว่า Techno Babble คือการรัวศัพท์เทคนิคเพื่อให้ดูยาก ซับซ้อนขึ้น โดยไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดแก่ผู้ชม นอกจากนี้การคิดค้นศัพท์เพื่ออธิบายสิ่งที่มีอยู่เฉพาะในเรื่องราวนั้น ๆ ซึ่งไม่อิงจากวิทยาศาสตร์ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะอธิบายละเอียดแค่ไหนก็ยังคงเป็นแค่กฎเกณฑ์เฉพาะในจักรวาลสมมติ จึงค่อนไปทางแฟนตาซีมากกว่า เช่น วิธีการใช้พลังงานจากคริสตัล XX ในการสร้างประตูวาร์ป
สามารถอ่านเรื่อง Techno Babble เพิ่มเติมได้ที่
3. ไซไฟเป็นเรื่องของโลกอนาคตเท่านั้น
3. ไซไฟเป็นเรื่องของโลกอนาคตเท่านั้น
เมื่อพูดถึงไซไฟก็มักจะทำให้นึกถึงอนาคตล้ำ ๆ เต็มไปเทคโนโลยีที่ยังไม่สามารถใช้งานในปัจจุบันได้ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ แสงสีโฮโลแกรมตามตึก ชุดที่มีแถบเรืองแสงและออฟชั่นที่มากกว่าเสื้อผ้าธรรมดา จนทำให้เซตติ้งโลกอนาคตถูกมองว่าเป็นไซไฟไปทั้งหมด แต่อันที่จริงแล้วเรื่องราวไซไฟสามารถเป็นได้ทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่อดีตหลายร้อยปีไปจนถึงอนาคตไกลโพ้นขอเพียงแค่ใช้งานความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีหรือวิทยาศาสตร์ในเรื่องก็เพียงพอแล้ว
ในความเป็นจริงไซไฟที่มีชื่อเสียงหลายเรื่องเองก็มีเซตติ้งอยู่ในอดีตที่ถึงแม้จะไม่ได้มีเทคโนโลยีที่ล้ำยุคกว่าในปัจจุบัน แต่ก็มีสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกล้มเลิกโครงการไปก่อนจะทำได้สำเร็จหรือสร้างไม่ได้เพราะข้อจำกัดของเทคโนโลยีในยุคนั้นให้ให้เห็นมากมาย หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่เป็นผลมาจากเทคโนโลยีธรรมดาแต่ส่งผลกระทบใหญ่หลวงจนต้องหาทางแก้ด้วยสิ่งของรอบตัว
การที่มีเซตติ้งเรื่องอยู่ในอนาคตไม่ได้ทำให้เรื่องราวนั้นกลายเป็นเรื่องราวไซไฟ และการเขียนไซไฟไม่จำเป็นต้องจัดวางตัวละครลงในโลกอนาคต แต่เหตุผลที่เรื่องราวไซไฟหลายๆเรื่องนั้นมักจะพูดถึงอนาคต นอกจากเพราะมีความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีต่างๆมากมายให้เล่นแล้ว ยังเป็นการคาดเดาความเป็นอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้จริงหรือเกิดขึ้นจริงแล้วในปัจจุบันของผู้ที่สร้างเรื่องแต่งเหล่านั้นขึ้นมาอีกด้วย
4. แขนกล ชุดรัดรูปดีไซน์ล้ำ ≠ ไซไฟ
4. แขนกล ชุดรัดรูปดีไซน์ล้ำ ≠ ไซไฟ
ในนิยายวิทยาศาสตร์หลายเรื่อง ดีไซน์ของตัวละครแสดงให้เห็นถึงการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีต่าง ๆ มาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต อย่างเช่นชุดที่ช่วยปกป้องให้มนุษย์สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมสุดขั้วที่ต่างออกไปจากโลกในยุคปัจจุบันของเรา บนดาวดวงอื่น หรืออวัยวะเทียมที่เป็นทั้งการทดแทนและเสริมสมรรถภาพของมนุษย์
ลักษณะการออกแบบเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์เหล่านี้ ส่วนใหญ่เน้นใช้ลวดลาย รอยต่อที่ดูแล้วให้ความรู้สึกถึงอนาคต แต่ว่าความล้ำสมัยและความแปลกแตกต่างจากชีวิตประจำวันตรงนี้เองที่เป็นบ่อเกิดของความเข้าใจผิดว่า ขอเพียงแค่ดูล้ำสมัยก็จะสามารถจัดเป็นไซไฟได้ทันที
ใช่หรือเปล่านะ
ในยุคที่นิยายวิทยาศาสตร์พยายามแสวงหาแนวทางของตัวเองอย่างในทศวรรษที่ 60’s หรือ Space Age เริ่มมีการสำรวจอวกาศ มนุษยชาติเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และมองว่าการสำรวจอวกาศเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น แต่เพราะในยุคสมัยนั้นการสื่อสารวิทยาศาสตร์ยังคงยากที่จะย่อยข้อมูลให้เข้าใจง่ายในสายตาคนทั่วไป นิยายวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งในสมัยนั้นจึงเขียนขึ้นโดยอาศัยแรงผลักดันจากอารมณ์ความรู้สึก จิตนาการ แรงบันดาลใจเป็นหลัก บางเรื่องปราศจากเหตุผลรองรับทางวิทยาศาสตร์ อะไรก็ตามที่ดู ‘ล้ำ ๆ’ จึงถูกมองเป็นไซไฟไปเสียหมด เราจะได้เห็นภาพหญิงสาวสุดเซ็กซี่สวมชุดรัดรูปเปิดเผยเนื้อหนัง ครอบศีรษะด้วยหมวกแก้วทรงกลมเหมือนโหลปลาทองออกไปลอยโลดแล่นในอวกาศ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีทางเลยที่มนุษย์จะสามารถอยู่ในอวกาศโดยมีชีวิตในชุดที่ไร้การป้องกันเช่นนั้น
ทุกวันนี้แม้ทุกคนจะทราบดีว่าชุดอวกาศปกติทั่วไปควรมีลักษณะอย่างไร แต่ความเข้าใจผิดในเชิงลักษณะภายนอกคล้ายกรณีนี้ก็ยังพบได้ทั่วไป อย่างเช่นการออกแบบเสื้อผ้าอุปกรณ์ของตัวละครเต็มไปด้วยกลไกและลวดลายล้ำสมัย แต่มีคำอธิบายในเชิงแฟนตาซี หรือไม่อธิบาย ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้งานเลย เช่น มือกลขนาดใหญ่กว่าตัวละครที่ขยับได้ด้วยพลังเวทย์ หุ่นรบพลังวิญญาณ ชิ้นส่วนที่ดูเหมือนปีกลอยได้หลังตัวละครที่ไม่รู้ว่าลอยได้อย่างไรหรือมีไว้ทำอะไร ฯลฯ หากในเรื่องไม่ได้มีส่วนอื่นที่เป็นไซไฟอีก แม้ต่อให้ดีไซน์ล้ำเพียงใดก็ยังคงเป็นแนวแฟนตาซี
ถ้าหากมีการใช้เครื่องยนต์กลไกบางส่วนที่อธิบายได้ด้วยกฎฟิสิกส์ทั่วไป มีความเป็นไปได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ แต่ใช้ร่วมกันกับ element ของแฟนตาซี ก็จะกลายเป็นแฟนตาซี-ไซไฟ หรือ ไซไฟ-แฟนตาซี ขึ้นอยู่กับว่าในเรื่องประกอบด้วยส่วนไหนมากกว่าในกัน
จะรู้ได้อย่างไรว่าตอนนี้มีความไซไฟ หรือความแฟนตาซีมากแค่ไหนแล้ว
หลักเกณฑ์สำคัญคือปริมาณของ “สิ่งเหนือจริง” ยิ่งในเรื่องราวมีส่วนที่เหนือจริง ฉีกออกไปจากหลักการ หรือความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์มากเพียงใด ความไซไฟก็จะยิ่งน้อยลงนั่นเอง
5. ไซไฟคุณภาพมีแต่ในยุคบุกเบิกเท่านั้น
5. ไซไฟคุณภาพมีแต่ในยุคบุกเบิกเท่านั้น
หากพูดถึงหนังหรือซีรี่ส์ไซไฟซึ่งเป็นที่นิยม แน่นอนว่าส่วนใหญ่จะมาจากยุค 1960-1990’s เกือบจะทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าฐานแฟนคลับนั้นล้วนแต่มีอยู่ในทุกช่วงวัย ซึ่งทำให้ถูกมองว่าไซไฟคุณภาพ ที่อยู่ในความทรงจำของคนมากมายมีเพียงยุครุ่งเรือง หรือยุคบุกเบิกเท่านั้น
ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ใช่เลย เนื่องจาก
1. ไซไฟยุคบุกเบิกที่แท้จริง มีมาก่อนตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 แล้ว ซึ่งหากไปลองถามกลุ่มแฟนๆ แนววิทยาศาสตร์ในช่วงตอนต้นถึงกลางศตวรรษที่ 20 คำตอบอาจจะเป็นแฟรงเกนสไตล์ หรือแม้แต่ผลงานต่างๆ ของจูลส์ เวิร์น อาทิ ใต้ทะเล 20,000 โยชน์, 80 วันรอบโลก และอื่นๆ อีกมากมาย แน่นอนว่าคนกลุ่มนั้นน่าจะล้มหายตายจากไปเกือบหมดแล้ว ดังนั้นเราจึงไม่สามารถหาคำตอบมาเปรียบเทียบกันได้
2. การเสพสื่อในยุคปัจจุบันมีความหลากหลายสูงกว่า เนื่องจากมีตัวเลือกในการรับชมมากขึ้น ทั้งสิ่งพิมพ์และภาพเคลื่อนไหว ไปจนถึงเกม จึงทำให้สัดส่วนผลงานไซไฟที่ถูกยกขึ้นหิ้งดูเหมือนจะมีน้อยลงกว่าสมัยก่อนตามไปด้วย
3. ความต่อเนื่อง อาจเพราะยุคนี้แทบไม่เหลือผลงานไซไฟยุคใหม่ที่ทำเป็นซีรี่ส์ยาวๆ ที่ตามติดได้เป็นสิบปี หรืออาจเพราะเวลายังผ่านไปไม่นานพอ ที่เราจะได้เห็นความต่อเนื่องของกระแสไซไฟตลอด 20 ปีที่ผ่านมาจนถึงอนาคต ซึ่งก็ต้องให้เวลาเป็นตัวพิสูจน์ต่อไป
6. ผู้หญิงไม่สนใจไซไฟ
6. ผู้หญิงไม่สนใจไซไฟ
แม้ว่าแนวไซไฟกับผู้ชาย จะเป็นของที่อยู่คู่กันมานานจนเป็นภาพลักษณ์ที่คนส่วนใหญ่จดจำกันไปแล้ว อีกทั้งแนวเรื่องที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ชื่นชอบก็มักจะเป็นรักโรแมนติก ดราม่า หรือไม่ก็แนวแฟนตาซี แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีผู้หญิงที่สนใจแนวไซไฟ หรือแม้แต่ผลิตงานในสายนี้เอาเสียเลย
เพราะหากย้อนกลับไปยังอดีตและนับยาวมาจนถึงตอนนี้ วรรณกรรมแนววิทยาศาสตร์หลายๆ เรื่อง ล้วนถูกสรรสร้างโดยผู้หญิง เริ่มตั้งแต่ “แฟรงเกนสไตล์” นิยายเลื่องชื่อที่เขียนโดยแมรี่ เชลลีย์ ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1818 จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมีนักเขียนหญิงชาวตะวันตกอีกมากมาย ที่ได้วาดลวดลายในผลงานแนวไซไฟอีกมากมาย
และไม่ได้มีแค่ในประเทศตะวันตกเท่านั้น แต่ในไทยเราก็ยังเคยมีผลงานนิยายวิทยาศาสตร์ผลงานนักเขียนหญิงไทยมาแล้ว นั่นคือ จินตวีร์ วิวัธน์ เจ้าของผลงาน “ศีรษะมาร” และอีกหลายเรื่องที่เน้นความลี้ลับเหนือธรรมชาติโดยมีวิทยาศาสตร์เป็นองค์ประกอบ แล้วก็ยังมี “สิงโตนอกคอก” ผลงานรางวัลซีไรต์ปี 2560 ผลงานของ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ซึ่งสะท้อนโลกดิสโทเปียผ่านเรื่องสั้นทั้ง 9 เรื่องอีกด้วย
ซึ่งนั่นก็สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าแม้ผู้หญิงเราจะถูกผูกรัดเอาไว้กับแนวรัก ดราม่า และแฟนตาซี แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความสนใจอยู่เพียงเท่านั้น เพราะบรรดาทีมงานของ The Ergosphere เองก็ล้วนเป็นผู้หญิงที่สนใจผลงานด้านไซไฟอย่างมากเช่นเดียวกัน
เรียบเรียง : Mayko, Tammarine, Restorer37
ภาพประกอบ : Mayko
#SCIFI
โฆษณา