4 มิ.ย. 2020 เวลา 00:30 • ข่าว
การเลือกปฏิบัติ (discrimination)
ชีวิตคนดำก็มีค่า "Black lives matter"
จากเหตุการณ์ที่จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ถูกตำรวจเข้าจับกุมและใช้
เข่ากดทับบริเวณลำคอเป็นเวลานานกว่า 5 นาที จนเขาถึงแก่ชีวิตนั้น เป็นสิ่งที่สะท้อนเหตุการณ์ที่สั่งสมความคับข้องใจของประชาชนเกี่ยวกับการเลือก
ปฏิบัติด้วยผิวสีของประชาชนชาวอเมริกาจนกลายเป็นเหตุการณ์ประท้วงเป็นวงกว้างและส่งผลกระทบไปทั่วทั้งอเมริกาและทั่วโลก
ภาพจาก https://unsplash.com/photos/pyTVM1F_paU
มองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย เรามีกฎหมายอะไรที่คุ้มครองเรื่องการเลือก
ปฏิบัติจากรัฐหรือไม่
จริงๆ แล้วในกฎหมายไทยเองก็มีการรองรับเรื่องการห้ามเลือกปฏิบัติอยู่
ซึ่งกฎหมายที่สำคัญที่สุดในเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นกฎหมายรัฐธรรมนูยซึ่้งเป็น
กฎหมายสูงสุดของประเทศ
มาตรา 27 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดว่า
"บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่าง
ในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือ
สุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อ
บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้
มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถ
ใช้สิทธิหรือเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น หรือเพื่อคุ้มครองหรืออำนวย
ความสะดวกให้แก่เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาส ย่อมไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม
บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงาน
หรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคล
ทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดไว้ในกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง
สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม"
การไม่เลือกปฏิบัติก็คือการที่ทุกคนเสมอภาคกัน
หลักความเสมอภาค คือ การปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญเหมือนกันอย่าง
เท่าเทียมกันและจะต้องปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญแตกต่างกันไปตาม
ลักษณะของเรื่องนั้นๆ
ดังนั้น ในทางกฎหมายคนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน มีความเสมอภาคกัน
การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเพราะว่าคนคนนั้นมีความแตกต่างจากผู้อื่นเพราะมีถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ
สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา
การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน จะกระทำไม่ได้
เช่น รัฐจะปฏิเสธไม่ให้บุคคลเข้ารับบริการทางการแพทย์เพราะเขามีฐานะ
ยากจน หรือปฏิเสธไม่ให้เขาเข้าทำงานเพราะแต่งกายตามหลักศาสนา กรณีเช่นนี้จะทำไม่ได้ เป็นการเลือกปฏิบัติที่ขัดต่อมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญฯ
แต่ว่าถ้าหากรัฐได้ดำเนินการเพื่อให้บุคคลเหล่านี้สามารถใช้สิทธิได้เทียบเท่าผู้อื่นหรือเป็นไปในลักษณะคุ้มครองผู้ด้อยโอกาสแบบนี้ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะดำเนินการไปเพื่อให้เขามีสิทธิที่ทัดเทียมผู้อื่น เช่น การให้ทุนการศึกษาแก่เด็กที่ยากไร้ไม่มีเงินศึกษาต่อ การให้เบี้ยคนพิการหรือผู้สูงอายุ เพื่อไว้ใช้ในการดำรงชีพ เป็นต้น
คดีตัวอย่างของการเลือกปฏิบัติที่ขัดรัฐธรรมนูญคือ คดีเกี่ยวกับกรณีสิทธิในการสมัครสอบผู้พิพากษาของทนายความที่พิการด้วยโรคโปลิโอ ในการ
ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบ ปรากฏว่าไม่มีรายชื่อของผู้ร้อง คณะกรรมการ
ตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ไม่รับสมัครโดยให้เหตุผลว่าสภาพร่างกายและ
จิตใจไม่เหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการตุลาการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (10) ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าการตัดสิทธิสอบบุคคลด้วยเหตุผลดังกล่าว ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องสภาพทางกายหรือความพิการ บทบัญญัติดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 15/2555 สรุปว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (10) เป็นบทบัญญัติที่เปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลพินิจกว้างขวางเกินความจำเป็นอันอาจจะส่งผลให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการได้ การกำหนด
คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการไว้ในขั้นตอนการรับสมัครบุคคลเพื่อสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการตุลาการ โดยให้เป็นดุลพินิจของ ก.ต. ในการพิจารณาความเหมาะสมของบุคคลที่จะให้มีสิทธิสมัครสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการตุลาการหรือไม่นั้น
เป็นการตัดสิทธิคนพิการตั้งแต่ต้น โดยไม่เปิดโอกาสให้คนพิการสามารถสอบคัดเลือกได้อย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป และไม่มีโอกาสแสดงความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานนั้นเสียก่อน ทั้งภารกิจหลักตามอำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม คือ การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และต้องนั่งพิจารณาโดยครบองค์คณะ ความพิการจึงมิได้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จะเป็นข้าราชการตุลาการ ที่จะมีผลต่อการให้ความเป็นธรรมแก่คู่ความหรือผู้เกี่ยวข้อง ดังนั้น พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (10) ในส่วนที่บัญญัติให้ผู้สมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามว่า “มีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ” จึงขัดต่อ
สิทธิของคนพิการในการเข้าทำงานบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลทั่วไปตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการของสหประชาชาติ และเป็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องความพิการ
ตามรัฐธรรมนูญ ระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (10) เฉพาะในส่วนที่บัญญัติว่า "...มีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ..." จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
โฆษณา