4 มิ.ย. 2020 เวลา 08:18
เอ็กซเรย์ CT กับ MRI ต่างกันอย่างไร ?
ต้องขอบคุณเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทำให้มีเครื่องมือในการที่จะเห็นอวัยวะภายในของมนุษย์ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดเข้าไปดูในร่างกาย ซึ่งทำให้สามารถวินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้ดีกว่าแต่ก่อนมาก ปัจจุบันเครื่องมือที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้คือ CT scan (Computerized tomography) และ MRI (Magnetic resonance imaging) ทั้งสองเป็นเครื่องมือในการสร้างภาพถ่ายที่เราเอามาใช้ในการดูอวัยวะภายในของสิ่งมีชีวิตต่างๆ หลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้าง แต่เมื่อมีการแนะนำให้ต้องตรวจเพิ่มเติม ก็มักมีความสงสัยว่าเครื่องมือทั้งสอง ต่างกันอย่างไร มีอันตรายอะไรใหม
จากการที่เครื่องมือทั้งสองทำการสร้างภาพโดยใช้คนละวิถีกัน กล่าวคือ
CT scan จะใช้วิธีการสร้างภาพในแนวตัดขวางของร่างกาย ด้วยการนำภาพที่ถ่ายด้วยรังสีเอกซ์หลาย ๆ ภาพมาประกอบกัน ในขณะที่ การทำ MRI จะเป็นการสร้างภาพโดยใช้สนามแม่เหล็กความเข้มสูงทำให้เกิดการเรียงตัวกันเป็นรูปแบบเฉพาะของอะตอมของน้ำ แล้วมีการส่งคลื่นความถี่ในย่านความถี่วิทยุ(Radio Frequency) เข้าสู่ร่างกาย และรับคลื่นสะท้อนที่มีการเปลี่ยนแปลงไป นำมาประมวลผลและสร้างเป็นภาพ ด้วยคอมพิวเตอร์ ทำให้ไม่ได้ต้องรับรังสีเหมือนกับการทำCT scan
ด้วยการสร้างภาพของเครื่องมือทั้งสองที่ต่างกัน ทำให้มีความเหมาะสมต่อแต่ละอวัยวะต่างกัน ดังในตาราง ดังนั้นการเลือกใช้ให้เหมาะสมจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะมีผลต่อการแปลผล ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญร่วมด้วยทุกครั้ง
ในการตรวจผู้ป่วยจะนอนบยนเตียงที่สามารถขยับเข้าไปในเครื่องสแกนเพื่อทำการตรวจอวัยวะที่ต้องการ ดังนั้นผู้ที่กลัวที่แคบจึงอาจมีปัญหาในการเข้าตรวจ โดยในการตรวจจะใช้เวลาต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละอวัยวะ
ปกติMRI จะใช้เวลานานกว่ามาก โดยเฉลี่ยคือประมาณ 30-60 นาที
ส่วน CT จะใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที ต่อการตรวจอวัยวะหนึ่งส่วน
หลายคนเข้าใจว่าเราเอาตัวผ่านเข้าเครื่องแล้วจะเห็นภาพทุกอวัยวะทั้งตัว ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจผิด เราจะเห็นเฉพาะอวัยวะที่ทำการสแกนเท่านั้น
ข้อจำกัดที่สำคัญของการเข้าทำMRI คือการที่มีสิ่งที่มีผลต่อคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในร่างกาย อาจทำให้เกิดภาพที่ไม่ชัด เช่นการจัดฟัน หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอาจไปมีผลต่อการทำงานของสิ่งนั้น เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ(Pace maker), ขดลวดที่หลอดเลือดแดง(Stent), ลิ้นหัวใจเทียมชนิดที่เป็นโลหะ, ประสาทหูเทียม(Cochlear implants), อุปกรณ์คุมกำเนิดชนิดใส่ในมดลูก(Intrauterine device), เครื่องอิเล็กโทรนิคต่างๆ,ข้อเทียมและอวัยวะเทียม, เครื่องฉีดยาหรือเครื่องกระตุ้นเส้นประสาทชนิดที่ฝังไว้ในร่างกาย, เครื่องมือที่เป็นโลหะฝังไว้ในการผ่าตัด อุปกรณ์ในกลุ่มนี้ต้องยืนยันให้แน่ใจว่าเป็นชนิดพิเศษที่เข้าเครื่องMRI ได้ ก่อนทำ​MRI และต้องแจ้งแพทย์ก่อนว่าท่านมีสิ่งเหล่านี้อยู่หรือไม่
สำหรับการฉีดสี หรือการกลืน/สวนสารสี(Contrast media) จะมีการทำตามที่ผู้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบุ เพื่อให้เห็นอวัยวะบางอย่างได้ดียิ่งขึ้น เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค ในการทำCT scan ปัจจุบันมีสารสี(Contrast media)หลายชนิดให้เลือก ซึ่งมักมีส่วนผสมของไอโอดีน ดังนั้นในผู้ที่แพ้อาหารทะเล ต้องแจ้งทีมที่ตรวจรักษาให้ทราบ เพื่อพิจารณาใช้สารสีได้อย่างปลอดภัย และเนื่องจากสารส่วนใหญ่ถูกกำจัดออกจากร่างกายทางไต ดังนั้นหากท่านมีภาวะไตทำงานผิดปกติจะมีการเตรียมการป้องกันให้ท่านก่อนทำการฉีดสี และในส่วนของสารที่ฉีดใช้ในการทำMRI จะเป็นสาร Gadolinium contrast agents ซึ่งก็จะฉีดตามความจำเป็นเท่านั้น มีโอกาสเกิดภาวะภาวะเนื้อเยื่อแข็งได้ (neph-rogenic systemic fibrosis) โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคไต อัตราการพบได้น้อยโดยทั่วไป ดังนั้นจึงมีการตรวจค่าการทำงานไต และอาจต้องปรึกษาอายุรแพทย์โรคไตในการดูแลร่วมหากมีการทำงานของไตบกพร่อง และจำต้องมีการฉีดสีก่อนทำการตรวจ
เมื่อรู้จักเครื่องมือทั้งสองแล้ว จะได้สบายใจนะครับ อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจก้อนว่าการตรวจCT หรือ MRI นั้นทำเพื่อตรวจวินิจฉัย มิใช่การรักษาให้อาการดีขึ้นนะครับ
การตรวจเพิ่มเติมทุกครั้งควรปรึกษาแพทย์ที่ดูและท่าน โดยทั่วไปย่อมจะพยายามเลือกส่งตรวจให้เหมาะสมกับภาวะความผิดปกติของผู้ป่วย,โดยจะปรับตามทรัพยากรและข้อจำกัดในแต่ละพื้นที่ หากยังมีข้อสงสัยอย่าลืมปรึกษาแพทย์ที่ดูแลเพิ่มเติม หรือถามทิ้งไว้ก็ได้นะครับ
เข้าใจแล้ว อย่าลืมกดLike กดShare ด้วยนะครับ
อยากให้คุณมีสุขภาพดีและมีความสุข ^^
นพ.อดิศักดิ์ กิตติสาเรศ
ความรู้เกี่ยวกับโรคสมองดีๆเพิ่มเติมได้ที่
Fb: หมออดิศักดิ์ รักษ์สมอง
Blockdit : หมออดิศักดิ์ รักษ์สมอง
Youtube: Dr.Adisak Kittisares
โฆษณา