5 มิ.ย. 2020 เวลา 00:28 • ท่องเที่ยว
จุดไฟ 'ท่องเที่ยว' ด้วย 'ฟองอากาศ'
การระบาดของโควิดในไทยเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น อยู่ในสภาวะควบคุมโรคได้แล้ว ดังนั้น จึงสมควรดิ้นรนให้การท่องเที่ยว ซึ่งทำรายได้ต่อปีถึง 12% ของ GDP สตาร์ทเครื่องเดินหน้าอีกครั้ง หนึ่งในวิธีที่น่าสนใจก็คือ Tourism Bubbles
บทความโดย ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ | คอลัมน์ อาหารสมอง I กรุงเทพธุรกิจ
จุดไฟ 'ท่องเที่ยว' ด้วย 'ฟองอากาศ'
ไวรัสชื่อ SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรค COVID-19 (โรคโควิด-19) อาละวาดทั่วโลกจนทำให้การเดินทางระหว่างประเทศถูกระงับทันที ธุรกิจท่องเที่ยวพังระเนระนาดอย่างไม่คาดฝัน ธุรกิจที่เกี่ยวพัน เช่น กิจการที่พักโรงแรม ธุรกิจบริษัททัวร์ ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร กิจการสถานที่ท่องเที่ยว แหล่งบันเทิง ฯลฯ ก็เลยพลอยย่ำแย่ไปด้วย
บัดนี้เชื่อได้ว่าการระบาดของโควิดในไทยและหลายประเทศในเอเชียตะวันออก ซึ่งเคยเป็นแหล่งใหญ่ของนักท่องเที่ยวที่มาไทย ก็อยู่ในสภาวะควบคุมโรคได้แล้ว ดังนั้น จึงสมควรดิ้นรนให้การท่องเที่ยว ซึ่งทำรายได้ต่อปีถึง 12% ของ GDP สตาร์ทเครื่องเดินหน้าอีกครั้งได้แล้ว
ตราบใดที่ความไว้วางใจในเรื่องโควิดระหว่างประเทศของผู้ที่เดินทางไปกับประเทศเป้าหมายที่เดินทางไปไม่เกิดขึ้นการเดินทางถึงกันก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นในขั้นพื้นฐานการท่องเที่ยวจึงติดอยู่ตรงความไว้วางใจว่าจะไม่มาติดเชื้อและจะไม่นำเชื้อมาติด
McKinsey บริษัทที่ปรึกษาใหญ่ของโลกได้สำรวจความรู้สึกของคนจีนที่เพิ่งพ้นจากการล็อกดาวน์เมื่อเร็วๆ นี้ และพบว่าส่วนใหญ่ยังไม่ออกไปท่องเที่ยวจริงจัง ถึงแม้จะอยากก็ตามอย่างมาก ก็เดินทางไปยังเมืองใกล้ๆ โดยท่องเที่ยวแหล่งธรรมชาติที่ผู้คนไม่แออัดและเป็นกลุ่มเดินทางเล็กๆ สำหรับการเดินทางไปต่างประเทศที่อยู่ใกล้ๆ นั้น จะยังไม่เริ่มจนกว่าจะถึงปลายเดือน ก.ย.หรือต้น ต.ค.ของปีนี้
การเคลื่อนไหวต้องการนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศนั้นมีอยู่มาก แต่ติดอยู่ตรงความไว้วางใจ ซึ่งขณะนี้โควิดก็ยังไม่ซาลงในสหรัฐ บางประเทศในยุโรปและเอเชีย (เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ตุรกี ปากีสถาน บังคลาเทศ อินเดีย ฯลฯ) แต่ไทยก็ไม่น่าคอยประเทศเหล่านี้ การท่องเที่ยว “ชนิดจำกัด” ควรเริ่มได้ในเวลาไม่เกิน 2 เดือนจากนี้
ไอเดียในเรื่องการสร้างความไว้วางใจระหว่างกันก็คือCovid Passport กล่าวคือ ในยามที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค การออกเอกสารให้พลเมืองของประเทศตนเอง โดยยืนยันว่าเคยเป็นโรคโควิด-19แล้ว ก็จะสร้างความไว้วางใจได้ว่า จะไม่นำเชื้อไปติด โดยอยู่บนความเข้าใจว่าหากเคยเป็นแล้วและหายแล้วก็จะไม่แพร่เชื้อและจะมีภูมิต้านทานจนไม่เป็นอีกในระยะเวลา 2-3 ปี
อย่างไรก็ดี เมื่อ WHO ไม่เห็นด้วยเพราะยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการอย่างแจ้งชัดว่า หากเคยติดเชื้อโควิด-19แล้วจะไม่เป็นอีกและมีภูมิต้านทาน 2-3 ปี กลุ่มผู้เคลื่อนไหวในเรื่องนี้จึงเงียบไป ถึงแม้จะยืนยันความเชื่อนั้นเพราะญาติที่ใกล้ชิดคือ เชื้อSARS-CoVid-1 ที่ทำให้เกิดโรคSARS ที่ระบาดอยู่ 1 ปีเศษ(2002-2003) และจู่ๆ ก็หายไปนั้น หากติดเชื้อแล้วก็จะไม่ติดเชื้ออีกเป็นระยะเวลา 2-3 ปี
อีกไอเดียหนึ่งที่จะกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กลับมาคือการสร้าง “Travel Bubbles”หรือ “Tourism Bubbles”
ซึ่งหมายถึงการมีข้อตกลงระหว่างประเทศที่สถานการณ์เรื่องโควิดคล้ายคลึงกันจนให้ผู้คนเดินทางท่องเที่ยวถึงกันได้ โดยไม่มีการกักตัว 14 วัน เหตุที่เรียกว่า Bubbles หรือ “ฟองอากาศ” ที่มีของเหลวเป็นเปลือกหุ้มแบบทรงกลม ก็เพราะว่าเป็นการเดินทางข้ามประเทศระหว่างกันอย่างปลอดจากโควิด เสมือนมีฟองอากาศคุ้มครองอยู่ โดยมืใช่การเดินทางที่เสรีอย่างเมื่อก่อนหน้าโควิด
นิตยสาร The Economist ฉบับ May 16th-22nd 2020 ได้เสนอสอง “Travel Bubbles” ที่น่าจะเป็นไปได้คือ พื้นที่ Asia-Pacific กับ Baltic-Adriatic (กลุ่มประเทศยุโรปในแถบทะเล Baltic และ Adriatic) แต่ละ “ฟองอากาศ” ผู้คนสามารถเดินทางถึงกันได้อย่างไว้วางใจเพราะมีสภาวการณ์ของโควิดใกล้เคียงกัน
ไอเดียเรื่อง “Travel Bubbles” นี้ เป็นไปในระยะแรกที่ยังไม่มีวัคซีนและยังไม่มียารักษา โควิด-19 โดยตรงต่อไปเมื่อสามารถควบคุมการระบาดได้มากขึ้นหลายbubbles ก็จะเชื่อมถึงกันให้ใหญ่ขึ้น และผู้คนก็จะสามารถเดินทางและท่องเที่ยวได้อย่างเสรีขึ้นทุกที
โฆษณา