5 มิ.ย. 2020 เวลา 05:05 • การศึกษา
พระสูตรเรื่อง : "ผู้อยู่ใกล้นิพพาน"
-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๕๐/๓๗.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เมื่อประกอบพร้อมด้วยธรรมสี่อย่างแล้ว ไม่อาจที่จะเสื่อมเสีย มีแต่จะอยู่ใกล้นิพพานอย่างเดียว. ธรรมสี่อย่างอะไรบ้างเล่า ? ธรรมสี่อย่าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล, เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย, เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ, เป็นผู้ตามประกอบในชาคริยธรรมอยู่เนืองนิจ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล, มีการสำรวมด้วยปาติโมกขสังวร, มีมรรยาทและโคจรสมบูรณ์อยู่, เป็นผู้เห็นภัยในโทษทั้งหลาย แม้เล็กน้อย, สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้เห็นรูปด้วยตา, ได้ฟังเสียงด้วยหู, ได้ดมกลิ่นด้วยจมูก, ได้ลิ้มรสด้วยลิ้น, ได้สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย และได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ก็ไม่รวบถือเอาทั้งหมด และไม่แยกถือเอาเป็นส่วนๆ {๑} สิ่งที่เป็นบาปอกุศล คืออภิชฌาและโทมนัส มักไหลไปตามภิกษุผู้ไม่สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะการไม่สำรวมอินทรีย์ใดเป็นเหตุ, เธอก็ปฏิบัติเพื่อปิดกั้นอินทรีย์นั้นไว้, เธอรักษาและถึงความสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงฉันอาหาร, ไม่ฉันเพื่อเล่น ไม่ฉันเพื่อมัวเมา ไม่ฉันเพื่อประดับ ไม่ฉันเพื่อตกแต่ง, แต่ฉันเพียงเพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ได้ เพื่อให้ชีวิตเป็นไป เพื่อป้องกันความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ โดยกำหนดรู้ว่า “เราจะกำจัดเวทนาเก่า (คือหิว) เสียแล้ว ไม่ทำเวทนาใหม่ (คืออิ่มจนอึดอัด) ให้เกิดขึ้น, ความที่อายุดำเนินไปได้ ความไม่มีโทษเพราะอาหาร และความอยู่ผาสุกสำราญจะมีแก่เรา” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เป็นผู้ตามประกอบในชาคริยธรรมอยู่เนืองนิจ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมชำระจิตให้หมดจดสิ้นเชิงจากกิเลสที่กั้นจิต ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดวันยันค่ำไปจนสิ้นยามแรกแห่งราตรี, ครั้นยามกลางแห่งราตรี ย่อมสำเร็จการนอนอย่างราชสีห์ (คือ) ตะแคงข้างขวา เท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะในการลุกขึ้น, ครั้นยามสุดท้ายแห่งราตรี กลับลุกขึ้นแล้ว ก็ชำระจิตให้หมดจดสิ้นเชิงจากกิเลสที่กั้นจิต ด้วยการเดินจงกรม และด้วยการนั่งอีก. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้ตามประกอบในชาคริยธรรมอยู่เนืองนิจ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เมื่อประกอบพร้อมด้วยธรรมสี่อย่างเหล่านี้แล้ว ไม่อาจที่จะเสื่อมเสีย มีแต่จะอยู่ใกล้นิพพานอย่างเดียวแล.
๑. คือการไม่รวบถือเอาผัสสะทั้งหมด เป็นตัวเรา ของเรา หรือ ไม่แยกถือแต่ละส่วน ขององค์ประกอบผัสสะว่า เป็นตัวเรา ของเรา (สำหรับผู้เดินมรรคในระดับผัสสะ), และการไม่ถือเอาเป็นอารมณ์สำหรับยินดียินร้าย ทั้งโดยส่วนรวม และส่วนปลีกย่อย ของอารมณ์นั้นๆ (สำหรับผู้เดินมรรคในระดับเวทนา).
อ้างอิงจาก : พุทธวจนหมวดธรรม เล่มที่ ๓
พุทธวจน ก้าวย่างอย่างพุทธะ
หน้าที่ ๙๘ - ๑๐๑
พุทธวจน (ธรรมะจากพระโอษฐ์)
เว็บไซต์ข้อมูลเพิ่มเติม : http://watnapp.com
ศึกษาดูพระสูตรเพิ่มเติม : https://etipitaka.com/search/
ฟังเสียงธรรมะพระสูตรเพิ่มเติม : https://m.soundcloud.com/search?q=พุทธวจน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา