5 มิ.ย. 2020 เวลา 12:45
"กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...." พ่อวินดามักพูดบ่อยๆตอนเริ่มต้นเล่านิทานให้ฟังก่อนนอน ตั้งแต่เป็นเบบี๋จำความได้จนโตแบบโตเลยค่ะ ที่จำได้ตอนม.ต้นเวลานั่งรถไปไหนด้วยกันกับครอบครัววินดากับน้องชายก็ชอบเซ้าซี้ให้พ่อเล่านิทานให้ฟังบนรถ แม้พ่อต้องขับรถไปด้วยก็ตามค่ะ คริคริ น่าตีจริงๆนะคะ
1
แต่แม่ก็ฟังที่พ่อเล่าด้วยน้าาาา แล้วก็ถามแทบทุกช่วงเลยค่ะ ไม่รู้แม่จะสงสัยอะไรมากมาย จนพ่อต้องบอกว่า "ก็มันเป็นนิทาน เป็นเรื่องเล่าต่อๆกันมา เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่เล่าเพื่อสอนเด็กหนะครับ 555" (ทุกคนคิดว่าจะไม่มีคำถามจากแม่แล้วไหมค่ะ ตอบเลยว่า "ไม่"ค่ะ แม่ก็ยังคงถามเหมือนเดิม 555555 )
เรื่องที่พ่อเล่ามักมีภาคต่อให้ลุ้น ให้ต้องติดตาม มีครบรส ทั้งสนุก ตื่นเต้น เขย่าขวัญ ซึ้ง สอนใจ ได้ความรู้ไปด้วย เช่น ไอ้ด่างเกยชัย เป็นเรื่องราวของจระเข้ที่มีการต่อสู้ มีเรื่องวัด พระ คนในชุมชน เข้ามาเกี่ยวข้อง
เรื่องผีพราย, ผีเปรต, งูเจ้าที่, นรก-สวรรค์, กระทะทองแดง พ่อเล่าเรื่องผีพวกนี้แล้วก็พาไปดูรูปปั้นที่วัดไผ่โรงวัว จ.สุพรรณบุรีด้วยค่ะ ตอนนั้นวินดาอินน์มาก เหมือนเราได้ดูได้อ่านการ์ตูน Walt Disney แล้วไปเห็นที่ Disneyland (คือกันไหม😆)
นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่นๆอีกนะคะ แล้ววินดาก็พึ่งรู้ตอนโตขึ้นมาหน่อยว่าบางเรื่องพ่อแต่งเองค่ะ บางเรื่องก็เล่าไปแต่งไปด้วย 😮 ประทับใจกับความคิดสร้างสรรค์ของพ่อสุดๆค่ะ
แต่เรื่องทั่วๆไปที่เด็กแทบทุกคนต้องเคยฟังก็คือ กระต่ายกับเต่า, เด็กเลี้ยงแกะ พ่อก็เล่าให้ฟังค่ะ ตอนนั้นจินตนาการในหัวตอนพ่อเล่าสนุกมากๆๆๆเลย
เรื่องเด็กเลี้ยงแกะตอนพ่อเล่าถึงตอนที่ชาวบ้านรวมพลหยิบจอม เสียบ อุปกรณ์ ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ออกมาเพื่อล่าหมาป่าคือตื่นเต้นมากเหมือนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์
1
นี่ก็ผ่านมานานหลายปีแล้วที่ไม่ได้ฟังพ่อเล่านิทานเพราะอายุก็ขนาดนี้แล้วอะนะคะ วันนั้นเดินเล่นผ่านร้านขายหนังสือเก่าแล้วเห็นหนังสือเล่มนึงสะดุดตากับตัวหนังสือและภาพหน้าปก เลยอดไม่ได้ที่จะหยิบมาพลิกอ่านปกหลัง เปิดอ่านเร็วๆกับตัวอักษรด้านใน แล้วก็ตัดสินใจจ่ายตังค์พากลับบ้านมาค่ะ
เล่มนั้นมีชื่อว่า "นิทานพื้นบ้านญี่ปุ่น" วินดาอยากรู้ว่าแต่ละเรื่องราวของนิทานต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมกับเรา จะมีความเชื่อและการสอนในนิทานแบบไหน ยังไงบ้าง
หน้าปกหนังสือ นิทานพื้นบ้านญี่ปุ่น ค่ะ
ซึ่งเล่มนี้มีทั้งหมด 20 เรื่องค่ะ วินดาขอหยิบมาเล่า 2 เรื่องให้ทุกคนได้อ่านและจินตนาการไปด้วยกัน สิ่งที่ชอบเลยในหนังสือเล่มนี้คือตอนท้ายของแต่ละเรื่องเล่า ไม่มีสรุปคติเตือนใจหรือเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า....ใดๆค่ะ คือเล่าจบคือจบเลย
จากการได้อ่านวินดาว่าผู้เขียน หรือผู้เรียบเรียงน่าจะอยากให้เราได้อ่านระหว่างบรรทัด ได้เรียนรู้ คิด และกลั่นกรองเองว่าเราได้อะไรจากเรื่องนั้นๆบ้างค่ะ
พร้อมแล้วก็ไปอ่านระหว่างบรรทัดกันเลยนะคะทุกคน🤗
"แมงมุมนักทอผ้า"🕷🕸
ภาพวาดจากในหนังสือค่ะ
นานมาแล้วมีชาวนาผู้หนึ่งชื่อว่า โยซากุ วันหนึ่งขณะที่เขาทำงานอยู่ในนาอยู่นั้นได้เห็นแมงมุมตัวน้อยกำลังจะโดนงูกิน ด้วยความสงสารเขาจึงช่วยไล่งูตัวนั้นไป เจ้าแมงมุมน้อยรีบหนีหลบหายไปในพงหญ้า
แต่ก่อนจะหนีหายไปมันได้หยุดชะงัก และคำนับขอบคุณโยซากุ(ถ้าเป็นแม่วินดา คงถามว่า แมงมุมมันคำนับยังไง🤦‍♀️)
หลังจากนั้นไม่นาน โยซากุ ก็ได้ยินเสียงหญิงสาวมาร้องเรียกหน้าบ้าน พอออกไปดูก็พบหญิงสาวยืนอยู่และบอกกับเขาว่าจะมาขอช่วยงานทอผ้า โยซากุ ดีใจเพราะเขาต้องการคนมาช่วยทอผ้าจริงๆ
2
เขาพาหญิงสาวไปที่ห้องทอผ้าและเย็นวันนั้นเขาก็เขาไปดูผ้าที่เธอทอ โยซากุ ประหลาดใจมากที่เห็นว่าผ้าที่เธอทอได้ในวันเดียวมีถึง 8 ชิ้น เขาถามหญิงสาวว่า "เธอทอผ้าได้มากมายขนาดนี้ได้ยังไง" หญิงสาวไม่ตอบและยังบอกกับเขาไปว่า "อย่าถามถึงเรื่องนี้อีก และท่านอย่าเข้ามาดูเวลาที่ฉันทำงานนะคะ"
1
เรื่องนี้ยิ่งสร้างความอยากรู้ให้โยซากุเข้าไปอีก ดังนั้นวันหนึ่งเขาก็แอบมาดูเธอทอผ้าอย่างเงียบๆผ่านทางหน้าต่าง และสิ่งที่เขาเห็นก็สร้างความตกใจให้เขายิ่งนัก เพราะที่ทอผ้าอยู่นั้นไม่ใช่หญิงสาว แต่คือแมงมุมตัวใหญ่ใช้ขาทั้งแปดอย่างรวดเร็ว และด้ายที่ใช้ทอก็คือใยฝ้ายที่คายออกมาจากปากนั่นเอง
ภาพวาดจากในหนังสือค่ะ
โยซากุเห็นก็รู้ทันทีว่าต้องเป็นแมงมุมที่เขาเคยช่วยเหลือจากงูเมื่อวันนั้น แมงมุมคงสำนึกบุญคุณจึงแปลงกลายเป็นหญิงสาวมาช่วยเขา
เมื่อรู้แบบนี้แล้วเช้าวันรุ่งขึ้นเขาจึงรีบไปซื้อฝ้ายมาเพิ่มเพื่อให้หญิงสาวได้ทอผ้า ระหว่างทางเขาได้พักเหนื่อย ตอนนั้นที่วางห่อฝ้ายไว้เข้าไม่รู้เลยว่ามีงูตัวเดิมที่จ้องจะกินแมงมุมเข้ามาแอบซ่อนตัวอยู่
เมื่อเขากลับมาถึงบ้านก็ได้มอบห่อฝ้ายนั้นให้กับหญิงสาว เธอรีบนำฝ้ายมากกลืนเข้าไปเพื่อคายออกมาเป็นด้าย แต่แล้วเมื่อกลืนจนฝ้ายใกล้หมดเจ้างูก็แสดงตัวออกมาและไล่กัดจะกินเธอให้ได้ เธอรีบวิ่งหนีแต่ด้วยที่เธอกินฝ้ายเข้าไปทำให้ไม่สามารถวิ่งเร็วได้ เธอจึงอ่อนแรงและกำลังจะถูกเจ้างูเขมือบ
แต่ทันใดนั้นเองสิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น ผู้เฒ่าพระอาทิตย์ได้เห็นเหตุการณ์มาโดยตลอด และรู้ว่าเจ้าแมงมุมกตัญญูกับโยซากุเพียงใด จึงเห็นใจและส่งรัศมีลงมาให้เจ้าแมงมุมได้จับและยกมันขึ้นสู่ท้องฟ้าพ้นจากเจ้างู
ภาพวาดจากในหนังสือค่ะ
แมงมุมน้อยซึ้งใจมาก จึงตอบแทนผู้เฒ่าพระอาทิตย์โดยการใช้ฝ้ายทั้งหมดถักทอเมฆสีขาวเป็นวงๆสวยงามมากมายไว้บนท้องฟ้า
นี่จึงเป็นสาเหตุที่เมฆขาว และนุ่มละมุนราวกับปุยฝ้ายนั่นเอง จึงทำให้ในภาษาญี่ปุ่นเรียกทั้งแมงมุมและเมฆด้วยคำเดียวกันว่า "กุโม"
"จิ้งจอกและพัดวิเศษ"🦊
ภาพวาดจากในหนังสือค่ะ
ในญี่ปุ่นมีผีประเภทหนึ่งเรียกว่า "เทงงู" พวกมันจะมีจมูกที่ยาวมาก(ใครอยากรู้เรื่องนี้เพิ่มเติมคงต้องถามน้องแว่นแว่น จากเพจเรื่องเล่าในความมืดแล้วหละค่ะ วินดาเองก็อยากรู้ค่ะ คริคริ)
ครั้งหนึ่งมีเทงงูตัวน้อยๆสามตัวกำลังเล่นสนุกกันอยู่ในป่า ซึ่งพวกเทงงูจะมีพัดวิเศษอยู่เล่มนึง เมื่อใช้ด้านนึงพัดที่จมูกจะทำให้ยาวขึ้นๆ และเมื่อใช้อีกด้านนึงพัดจมูกจะหดลงเท่าเดิม
ระหว่างที่พวกเทงงูน้อยเล่นกันอย่างสนุกสนาน ก็มีจิ้งจอกตัวนึงผ่านมาเห็นเข้า มันอยากได้พัดนั้นของเทงงูน้อย เลยใช้ความสามารถของมันที่แปลงกายเป็นอะไรก็ได้แปลงเป็นเด็กหญิงถือขนมปังไส้ถั่วกวนมาด้วยสี่ชิ้น
แล้วเดินมาหาสามเทงงูน้อยพร้อมเอ่ยทักทายอยากเล่นด้วย และเอาขนมปังไส้ถั่วกวนมาฝาก พวกเทงงูน้อยต่างดีใจแต่ขนมมีสี่ชิ้นจะแบ่งยังไงให้ลงตัวและใครจะได้อีกชิ้นนึงไป
1
ทั้งสามเริ่มทะเลาะกัน เจ้าจิ้งจอกจึงเสนอว่าได้วิธีตัดสินแล้ว โดยให้เทงงูน้อยทั้งสามปิดตาและกลั้นหายใจ ใครทำได้นานที่สุดจะเป็นผู้ชนะและได้ขนมชิ้นสุดท้ายไป
สามเทงงูน้อยหลงเชื่อทำให้เจ้าจิ้งจอกที่แปลงร่างเป็นเด็กสาวมีโอกาสรีบฉวยเอาพัดวิเศษและวิ่งหนีหายไป เจ้าจิ้งจอกหัวเราะเยาะและสะใจเป็นอย่างมาก
เมื่อจิ้งจอกเดินมาจนถึงวัดหนึ่ง มันเป็นหญิงสาวสวยแต่งตัวดียืนอยู่คาดว่าเป็นคนมีฐานะร่ำรวย ซึ่งมันคิดถูกเพราะหญิงสาวคนนี้เป็นถึงลูกสาวของเจ้าเมืองที่มีทั้งเกียรติยศ ชื่อเสียง และสมบัติมากมาย
มันเลยแอบย่องไปข้างหลังหญิงสาวอย่างเงียบๆและพัดจมูกของหญิงสาวอย่างรวดเร็ว ทันใดนั้นจมูกของเธอก็ยืดยาวออกมาถึงหนึ่งหลา
ภาพวาดจากในหนังสือค่ะ
หญิงสาวและท่านเจ้าเมืองมีความเศร้าใจเป็นอย่างมาก หาหมอมารักษาทั่วประเทศแล้วแต่ก็ไม่ได้ผล เจ้าเมืองจึงประกาศออกไปว่า "ถ้าใครทำให้จมูกของลูกสาวข้ากลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ ข้าจะยกลูกสาวให้พร้อมทั้งทรัพย์สมบัติของข้าครึ่งนึงที่ข้ามี"
เจ้าจิ้งจอกได้ยินดังนั้นก็ดีใจเพราะเป็นสิ่งที่มันต้องการอยู่แล้ว มันจึงเข้ามาเสนอตัวที่จะช่วยลูกสาวเจ้าเมือง พอมาถึงมนแค่ยกพัดอีกด้านนึงพัดไปที่จมูกของเธอ จมูกของเธอก็หดกลับมาดังเดิม
เจ้าเมืองและลูกสาวดีใจมากเตรียมจัดงานแต่งงาน ระหว่างนั้นเจ้าจิ้งจอกก็ได้นอนรออย่างสบายใจและเริ่มพัดด้วยพัดวิเศษอย่างลืมตัว แค่เดี๋ยวเดียวจมูกของมันก็ยาวขึ้น ยาวขึ้น จนทะลุหลังคอไปบนฟ้า
ขณะเดียวกันด้านบนเหนือกลุ่มเมฆเหล่าเทวดาได้กำลังสร้างสะพานข้ามทางช้างเผือก เหล่าเทวดาเห็นจมูกของจิ้กจอกก็นึกว่าเป็นเสาไม้จึงพยายามช่วยกันดึงขึ้นมา
ภาพวาดจากในหนังสือค่ะ
ในขณะที่เจ้าจิ้งจอกเริ่มรู้สึกตัวเจ็บที่จมูกและพยายามที่จะพัดจมูกให้กลับมา แต่ก็สายเสียแล้วเพราะต้านพลังของเหล่าเทวดาไม่ไหวทำให้ทั้งตัวมันลอยหายขึ้นไปในกลุ่มเมฆ และหลังจากนั้นก็ไม่มีใครเคยเห็นเจ้าจิ้งจอกตัวนี้อีกเลย...
เป็นยังไงกันบ้างค่ะทุกคน ได้อะไรจากสองเรื่องนี้บ้าง ไม่แน่นะคะเราอ่านเรื่องเดียวกันแต่สิ่งที่ได้ หรือมุมมองอาจจะต่างกันก็ได้
อาจจะด้วยอายุ ประสบการณ์ หรือสถานการณ์ ณ ช่วงเวลาที่อ่าน ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยค่ะที่การอ่านระหว่างบรรทัดของเราจะต่างกัน
ได้อะไรเล่าให้วินดาอ่านกันบ้างนะคะ
แล้วพบกันใหม่ค่ะ👋🏻
1
#windasharing
อ้างอิงเรื่องราวจาก
หนังสือ นิทานพื้นบ้านญี่ปุ่น
ฟลอเรนซ์ ซาคาเดะ : รวบรวม
โยชิสุเกะ คุโรซากิ : ภาพประกอบ
ทิพวรรณ ลีละศิธร : แปล
โฆษณา