Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิรุฬหก
•
ติดตาม
6 มิ.ย. 2020 เวลา 09:36 • ปรัชญา
เวลาคืออะไร มีอยู่จริงหรือไม่? Part1
What is real time there?
เวลานับเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่มากับมนุษย์และประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เมื่อมนุษย์เกิดการรับรู้ ตระหนักรู้ และเริ่มมีความคิดหรือมโนภาพ (Idea) ในเรื่องเกี่ยวกับเวลาเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มนุษยชาติแล้ว
อริสโตเติล (Aristotle) ได้ให้ความเห็นว่าเดิมมนุษย์ไม่ตระหนักถึงการมีอยู่ของเวลา จนกระทั่งสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง
๑ มนุษย์ก็ต้องการอธิบายการรับรู้ในเรื่องนี้ของตนออกมาโดยอาศัยภาษาเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความรู้ เมื่อรู้สึกหรือรับรู้ได้ถึงความยาวนานแล้ว จึงได้เรียกชั่วขณะหรือการรับรู้ถึงความยาวนานนั้นว่า “เวลา” (Time) และเรียกชื่อของเวลาต่างไปตามแต่ละภาษา
เมื่อความรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงเวลาหรือความยาวนานเกิดขึ้น เท่ากับเป็นการบ่งบอกว่า “เวลา” นั้น มีอยู่จริง และเวลามีอยู่จริงได้เพราะความเปลี่ยนแปลงหรือเหตุการณ์ (อดีต ปัจจุบัน อนาคต)
อริสโตเติล (Aristotle)
แล้วธรรมชาติของ “เวลาที่ว่ามีอยู่จริง” นั้นเป็นยังไงกันแน่ล่ะ? ในสังคมหนึ่งๆ การจะให้คำอธิบายหรือการกำหนดคำนิยามเรื่องเวลาที่จะเป็นที่ยอมรับกันของคนในสังคมได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่ได้ขึ้นกับสำนึกรู้ของสิ่งมีชีวิต เพราะหากให้คำนิยามของเวลาโดยผูกอยู่กับ “สำนึก” (Sence) ของสิ่งมีชีวิตแล้ว เวลาในฐานะ “ชั่วขณะความยาวนานที่ไหลลื่นไป” ก็จะสัมพัทธ์อยู่กับสำนึกของสิ่งมีชีวิตนั้น
และเป็นที่รู้กันว่า เวลา ไม่ใช่ความรู้สึกหรือสำนึกของปัจเจก และหากความยาวนานดันไปถูกผูกอยู่กับความรู้สึกของปัจเจกเสียแล้ว
ความรู้สึกหรือสำนึกที่ไม่เท่ากันต่อความยาวนานนั้น คงไม่อาจนิยามออกมาจนเป็นที่ยอมรับตรงกันในสังคมได้ว่า
เวลา คืออะไร เพราะสำนึก (Sence) ของแต่ละปัจเจกหรือสิ่งมีชีวิตนั้นไม่เท่ากัน โดยเฉพาะมนุษย์ ดังคำกล่าวที่ว่า
“เวลาของผู้มีความสุขมักผ่านไปรวดเร็วกว่าเวลาของผู้ประสบทุกข์"
คำนิยามตามการรับรู้ของมนุษย์จึงมาสรุปอยู่ที่ว่า เวลานั้นเป็นนามธรรม มิใช่สิ่งรูปธรรม
เวลามิได้มีมวลหรือมีรูปร่างที่สามารถรับรู้ได้โดยอาศัยผัสสะหรืออายตนะ
1
เป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกชาติทุกภาษาต่างมีชุดคำอธิบายหรือคำนิยามเกี่ยวกับ “เวลา” เอาไว้ โดยคำอธิบายหรือคำนิยามนั้นเกิดจากการความพยายามของกลุ่มบุคคล (เช่นราชบัณฑิต) ใช้ภาษาของตนกำหนดขึ้น โดยเชื่อมโยงอยู่กับระบบของความคิดความเข้าใจ ความเชื่อความศรัทธาศาสนา และวิถีการดำเนินชีวิต
ด้วยเหตุนี้ความหมายของเวลา ในกรณีต่างชาติต่างภาษาจึงนิยามความหมายของ “เวลา” ออกมาได้แตกต่างกัน เมื่อพิจารณาโดยเนื้อความแล้ว พอจะมองภาพรวมได้ว่า “เวลา” ตามความเข้าใจของมนุษย์
คือ ชั่วขณะของความยาวนานที่ไหลเลื่อนไป
กระนั้นก็ดี ยังมีฝ่ายที่คิดและเห็นต่างออกไปอีกทางว่า
เวลา (Time) นั้นไม่ได้มีอยู่จริงเลย
เป็นแต่เพียงการบัญญัติศัพท์ขึ้นเพื่ออธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงของบางอย่างในสภาวะและชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น หากในเอกภพไร้ซึ่งสิ่งใดเลย (ก่อนเกิดการระเบิดครั้งใหญ่หรือบิ๊กแบง - Big Bang) เวลาก็ไม่ได้มีอยู่จริงเลย
มุมมองหรือทัศนะต่อเวลา ๒ แบบ
เพื่อให้เข้าใจตรงกันถึงธรรมชาติและความมีอยู่ของ “เวลา” (Time) ผู้เรียบเรียงใคร่ขอเรียนท่านผู้อ่านให้ทราบถึงพัฒนาการของการมองเวลา
โดยอิงกับประวัติของคำอธิบายเรื่องเวลานับแต่อดีตถึงปัจจุบันเสียก่อน
1
ตลอดประวัติศาสตร์ทางความคิดมนุษย์ มีนักปรัชญาสองกลุ่มที่พยายามอธิบายถึงธรรมชาติหรือสภาวะของความมีอยู่ของเวลา โดยบรรดานักคิดที่พยายามแสดงทัศนะของเวลาให้เป็นที่เข้าใจกันนั้น สามารถแบ่งทัศนะตามคำอธิบายของนักปรัชญาเหล่านี้ได้ ๒ กลุ่มคือ
1
๑. กลุ่มแนวคิดที่เชื่อว่าเวลาเป็นสิ่งมีจริง
ดำรงอยู่อย่างอิสระจากสิ่งต่างๆ ในเอกภพโดยสิ้นเชิง
๒. กลุ่มแนวคิดที่มองว่าเวลาเป็นสิ่งสมมติ
เป็นมายาภาพสำหรับเรียกความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ
เวลาไม่ได้ดำรงอยู่ หากปราศจากเอกภพ เวลาก็ไม่มี
ในมุมมองแบบที่ ๑. นั้น เป็นการอธิบายตามที่ผู้เรียบเรียงได้มุ่งเสนอไว้แต่ต้นก่อนขึ้นหัวข้อนี้ว่า “เวลาเป็นสิ่งมีอยู่จริง”
หมายรวมถึงเวลานามธรรมในแบบสัมบูรณ์ (Absolute Time)
และเวลานามธรรมในแบบสัมพัทธ์ (Relative Time)
หากลองพิจารณาตามมุมมองในแบบที่ ๑. นี้ นักคิดนักปรัชญาในอดีตของฝั่งตะวันออก ๒ ศาสนา (ศาสนาพราหมณ์ และ ศาสนาเชน) เชื่อว่าเวลานามธรรมมีอยู่จริง และเป็นอิสระต่างหากจากสรรพสิ่งในเอกภพ
ทางศาสนาเชนมองเวลาในฐานะสิ่งมีอยู่จริงโดยจัดแบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ เวลาแท้ (Real Time) และ เวลาสมมติ (Empirical Time)
โดยที่เวลาแท้ คือ เวลานามธรรมที่มนุษย์ไม่อาจสัมผัสได้ด้วยผัสสะหรืออายตนะทั้งห้า แม้เอกภพนี้จะว่างเปล่า หรือย้อนไปก่อนเกิดการระเบิดครั้งใหญ่ (Big Bang) เวลาแท้นี้ก็มีอยู่ของมันเอง (เวลาสัมบูรณ์)
ในขณะที่เวลาสมมตินั้นคือเวลาที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาโดยอาศัยเครื่องหมายบางอย่าง เช่น วัน เดือน ปี เวลาสมมตินี้จะมีได้ต่อเมื่อมีรูปธรรมสำหรับใช้กำหนดวัดความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น
หากเอกภพว่างเปล่าเสียแล้วเวลาสมมติก็จะหายไป เพราะไม่มีอะไรเป็นเครื่องมือกำหนดวัดความเปลี่ยนแปลงอยู่ให้สามารถนำมาใช้เป็นตัวกำหนดชี้วัดได้เลย
ผู้เขียนใคร่อยากขอให้ผู้อ่านลองนึกถึงตัวอย่างตามที่ได้คัดความและเรียบเรียงมานี้เพื่อพิจารณาเทียบกับมุมมองของศาสนาเชนเกี่ยวกับเรื่องเวลาแท้
และเวลาสมมติเพื่อความเข้าใจมากขึ้น ดังนี้
...สมมติว่าขณะนี้ผู้อ่านกำลังนั่งอยู่ท่ามกลางทุ่งหญ้าแห่งหนึ่ง เป็นเวลาเช้าตรู่ดวงตะวันกำลังโผล่พ้นขอบฟ้า เรารับรู้ได้ว่าขณะนี้เป็นเวลาเช้า เราทุกคนรู้ว่าตะวันขึ้นแล้วก็ตกเป็นการหมุนรอบตัวเองของโลกรอบดวงอาทิตย์ เรียกว่าหนึ่งวัน และวันที่ว่านี้เมื่อรวมกันเข้ายี่สิบแปด ยี่สิบเก้า หรือสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน สิบสองเดือนเป็นหนึ่งปี ร้อยปีเป็นหนึ่งศตวรรษ
ที่ทุ่งหญ้ามี่เดิม คราวนี้หากเกิดปรากฏการณ์ประหลาด พระอาทิตย์ไม่โผล่ขึ้นมาจากท้องฟ้าอีกเลย ผู้อ่านบางท่านคงตอบโดยไม่ต้องคิดว่าเวลาไม่ได้อยู่นิ่ง
แม้ไม่มีดวงอาทิตย์แต่เราก็มีนาฬิกาบอกเวลา นอกจากนั้นสิ่งต่างๆ รอบตัวก็ล้วนกำลังเปลี่ยนแปลงคลี่คลายไปข้างหน้าทุกขณะ เส้นผมยาวขึ้น เราแก่ขึ้นเรื่อยๆ หรือแม้ต่อมาเกิดปรากฏการณ์ประหลาดอีกคือไม่เหลือสิ่งใดอยู่เลยในเอกภพนอกตัวตัวของผู้อ่านเอง
1
ผู้อ่านก็ยังตอบได้ว่าตัวของผู้อ่านเองนี่แหละเป็นตัวชี้วัดได้เพราะมีการเปลี่ยนแปลง แก่ขึ้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเวลาไม่ได้หยุดนิ่ง
1
คราวนี้หากไม่เหลืออะไรเลยในเอกภพ ไม่มีแม้ตัวผู้อ่าน ผู้อ่านมีแต่เพียงสภาวะจิตที่เป็นนามธรรม ผู้อ่านก็อาจตอบได้ว่าแม้มีเพียงจิต จิตสำนึกของผู้อ่านก็รับรู้ได้ว่าเวลายังมีอยู่กำลังเคลื่อนไปข้างหน้าไปเรื่อยๆ
1
ไอแซก นิวตัน (Isaac Newton) นักวิทยาศาสตร์ชาวตะวันตก เชื่อว่าเวลามีอยู่จริงเช่นกัน เขาแบ่งเวลาเป็น ๒ แบบ แบบแรกเรียกว่า เวลาสัมบูรณ์ (Absolute Time) เทียบได้กับเวลาแท้ (Real Time) ในมุมมองศาสนาเชน
เวลาอีกแบบหนึ่งของนิวตันเรียกว่า เวลาสัมพัทธ์ (Relative Time) เทียบได้กับ เวลาสมมติ (Empirical Time) ในมุมมองศาสนาเชน
1
เวลาแท้นั้นเราวัดไม่ได้ สัมผัสไม่ได้
สมัยที่เอกภพว่างเปล่าเวลาก็มีอยู่ของมัน เวลาแท้ไม่เกี่ยวกับมนุษย์
ไอแซก นิวตัน (Isaac Newton)
ในวันหนึ่งเมื่อทุกอย่างในเอกภพถูกลบหาย เวลาสมมติก็จะหายไป เหลือเพียงเวลาแท้อันเป็นนามธรรมเร้นลับคงอยู่ท่ามกลางความเวิ้งว้างเงียบงันของเอกภพ เวลาแท้จะคงเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
เที่ยงตรง และสมํ่าเสมอ
1
ในมุมมองแบบที่ ๒. นั้นต่างจากมุมมองแบบที่ ๑.
เมื่อมุมมองแบบที่ ๑. เชื่อว่าเวลามีอยู่จริง
ในมุมมองแบบที่สองนี้ มีแนวคิดและสำนักปรัชญาที่ได้ให้ความเห็นต่างเอาไว้ว่า เวลาแท้หรือเวลาสัมบูรณ์นั้นไม่ได้มีอยู่จริง เวลาเป็นเพียงชื่อที่มนุษย์สมมติขึ้นเพียงเพื่ออธิบายถึงสภาพเหตุการณ์ (อดีต ปัจจุบัน อนาคต) หรือความเปลี่ยนแปลงไป (เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป) เท่านั้น ในภาวะที่เอกภพว่างเปล่าก็จะไร้ซึ่งเวลา นักคิดและสำนักที่ปฏิเสธเวลาสัมบูรณ์หรือเวลาแท้ได้แก่ จอห์น ล็อค (John Lock) และพุทธศาสนา
จอห์น ล็อค (John Lock)
เมื่อได้ทราบทัศนะหรือมุมมองเกี่ยวกับการมีอยู่ของเวลาว่ามี ๒ ทัศนะแล้วว่า ทัศนะหนึ่งมองว่าเวลามีอยู่จริง ส่วนอีกทัศนะหนึ่งมองว่าเวลาไม่มีจริงเป็นเพียงชื่อที่มนุษย์เรากำหนดขึ้น ในหัวข้อนี้ผู้เรียบเรียงใคร่ขอเสนอถึงวิธีการวัดเวลาในฐานะสิ่งที่มีอยู่จริง โดยขอนำเอาทัศนะของนิวตันมาขยายความ ขอให้ท่านผู้อ่านโปรดเข้าใจว่า สำหรับนิวตันแล้ว นิวตันเชื่อว่าเวลามีอยู่จริง และได้แบ่งเวลาออกเป็น ๒ แบบ คือ เวลาสัมบูรณ์ (มีอยู่จริง ดำรงอยู่ได้โดยธรรมชาติในตัวของมันเอง ไม่ข้องเกี่ยวกับปัจจัยภายนอกใดๆ ดำเนินไปเรื่อยๆ
และเวลาสัมพัทธ์ มีอยู่จริง แต่เป็นเวลาที่มนุษย์อุปโลกน์ขึ้นเพื่อกำหนดวัดความดำเนินไปของความยาวนานของเวลาสัมบูรณ์ เช่น วัดออกมาได้เป็นวินาที นาที ชั่วโมง วัน เดือน ปี ฯลฯ
การวัดค่าของเวลาในหัวข้อนี้ผู้เรียบเรียงจึงต้องการนำเอาเวลาสัมพัทธ์มาอธิบายเพิ่มเติม โดยจะชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการของการวัดเวลา ตามประวัติศาสตร์ของการวัดเวลา
มนุษย์เราได้กำหนดเอาสิ่งต่างๆ รอบตัวมาใช้ในการวัดค่าของเวลา นับแต่โบราณสิ่งที่นำมาใช้วัดเวลาได้แก่ พระอาทิตย์บอกเวลากลางวัน พระจันทร์บอกเวลากลางคืน และการครบรอบของพระอาทิตย์พระจันทร์ (การหมุนที่โลกหมุนรอบตัวเอง) เรียกว่าวัน ต่อมามีการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมในการบอกเวลาได้แก่ นาฬิกาแดด (Sundial) นาฬิกานํ้า (Water Clock) นาฬิกาทราย (Hourglass)
ในบางสังคมของมนุษย์ใช้ธูปหรือเทียนจุดไฟเพื่อเป็นตัวกำหนดการวัดเวลา จนกระทั่งการรับรู้เรื่องเวลาของมนุษย์ดีขึ้น สามารถบอกได้ว่าในหนึ่งวันมี ๒๔ ชั่วโมง และแบ่งเวลากลางวันกลางคืนเป็นอย่างละ ๑๒ ชั่วโมง
เกิดการประดิษฐ์คิดค้นนาฬิกาแบบกลไกขึ้น เมื่อมีสิ่งที่มนุษย์สามารถนำมาใช้วัดช่วงเวลายาวนานได้แล้ว นั่นยังไม่เป็นที่พึงพอใจ เพราะหลายครั้งที่นาฬิกาเหล่านั้นเดินผิดพลาด หรือ ไม่แม่นยำพอ จนเกิดการคิดค้นและพัฒนาอุปกรณ์วัดเวลาที่มีความแม่นยำในระดับสูงขึ้น เกิดเป็นนาฬิกาแบบลูกตุ้ม (Pendulum Clock) นาฬิกาเทคโนโลยีผลึกควอตซ์ (Quartz Clock) และวิวัฒนาการตามความแม่นยำของการเดินของเข็มนาฬิกาด้วยลูกตุ้มกลไกและควอตซ์ต่อมาจนเป็นนาฬิกาอะตอมแบบลำซีเซียม (Cesium-beam Atomic Clock) ที่มีความแม่นยำสูงและถูกนำมาใช้เป็นค่าความถี่มาตรฐานสำหรับพิกัดเวลาสากล (Coordinate Universal Time)
1
ปัจจุบันมีการค้นพบทางวิชาการที่บ่งชี้ว่ามนุษย์สามารถอาศัยร่างกายของตนเองเป็นนาฬิกาสำหรับบ่งบอกเวลาได้ เรียกว่า นาฬิกาชีวภาพ (นาฬิกาชีวภาพไม่ได้มีอยู่แต่เพียงเฉพาะกับมนุษย์เท่านั้น ยังเป็นนาฬิกาที่กระตุ้นให้สิ่งมีชีวิตเกิดการทำงานหรือทำปฏิกิริยาต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ความอยู่รอดของตน)
เครดิตภาพ:https://fatoutkey.com
นาฬิกาชีวภาพนี้เป็นเสมือนนาฬิกาบอกเวลามากกว่านาฬิกาจับเวลา และมีความเกี่ยวข้องกับกลไกการควบคุมเวลาของร่างกาย มีความสัมพันธ์กับสรีระ เซลล์ประสาท และสารเคมีในสมอง เป็นตัวอธิบายได้ว่าเหตุใดมนุษย์จึงรับรู้เรื่องความยาวนานของเวลา เช่น อะดรีนาลิน (ฮอร์โมนที่กระตุ้นทำให้ร่างกายตื่นตัว หัวใจเต้นแรงเร็ว ความดันเลือดสูงขึ้น) และฮอร์โมนกระตุ้นความเครียดอื่นๆ ทำให้นาฬิกาเดินเร็วขึ้น
อธิบายได้ว่า เหตุใดจึงรู้สึกราวกับว่าหนึ่งวินาทียาวนานเป็นชั่วโมงในระหว่างสถานการณ์อันไม่น่าพึงพอใจ
จั่วหัวไว้คร่าวๆก่อนนะครับ ค่อยต่อกันPart2 ใครที่อ่านแล้วยัง งง แนะนำให้ดูหนังเรื่อง interstellar อาจช่วยให้เข้าใจขึ้น
ภาพยนต์เรื่อง interstellar
แหล่งอ้างอิง
1. ศรพราหมณ์ วรอุไร,บริบทเรื่องเวลาและพื้นที่กับการรับรู้ของมนุษย์.
2. สมภาร พรมทา, ความเร้นลับของเวลา.
-วิรุฬหก-
25 บันทึก
28
5
22
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เวลาคืออะไร มีอยู่จริงหรือไม่? What is real time there?
25
28
5
22
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย