5 มิ.ย. 2020 เวลา 09:13 • การเมือง
EP. 5 บริบทของการพัฒนาประชาธิปไตย (1)
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกมีการพัฒนามุ่งสู่ความเป็นประชาธิปไตย (democratization) ดังที่แซมมวล ฮันติงตัน (Samuel Huntington) สรุปว่าเป็น “คลื่นลูกที่สาม (the third wave)” ของกระบวนการมุ่งสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ค่อยๆ แผ่ขยายแนวคิดมาตั้งแต่ ค.ศ.1974 จากประเทศของชาวแองโกล-แซกซอนและประเทศต่างๆ ในยุโรปเหนือไปสู่ประเทศในแถบยุโรปใต้ ลาตินอเมริกา และในที่สุดได้เข้าสู่อดีตประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออก หลายประเทศที่เคยมีรัฐบาลแบบเผด็จการในเอเชีย รวมทั้งประเทศที่ปกครองด้วยรัฐบาลทหารในแอฟริกาด้วย [1]
The Trhird or the Fourth Wave?
กระแสแห่งการพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยดังกล่าวทำให้นักวิชาการบางท่าน เช่น ฟรานซิส ฟูกูยามา (Francis Fukuyama) ถึงกับยอมรับว่า “ประชาธิปไตยแบบเสรี (liberal democracy)” ได้กลายเป็นรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกว่ารูปแบบการปกครองแบบอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติไปแล้ว [2]
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2000 เป็นต้นมา ประชาธิปไตยของประเทศต่างๆทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ความล้มเหลวของการพัฒนาประชาธิปไตยในช่วงเปลี่ยนผ่านจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในยุโรปตะวันออก เช่น อดีตประเทศยูโกสลาเวีย ประเทศอดีตสหภาพโซเวียต และประเทศในกลุ่มอาหรับ ทำให้นักวิชาการจำนวนหนึ่งตระหนักถึงความไม่ราบรื่นของกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และสรุปว่าการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการอาจมิได้นำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเสมอไป
กล่าวอีกนัยหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงเพื่อมุ่งสู่ความเป็นประชาธิปไตยอาจให้ผลลัพธ์ในเชิงบวกคือการก่อร่างสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นแทนที่รูปแบบการปกครองแบบเผด็จการเดิมหรืออาจส่งผลในเชิงลบคือการเกิดขึ้นของระบอบเผด็จการรูปแบบใหม่หรืออาจเกิดประชาธิปไตยที่ไม่เข้มแข็งและยั่งยืนขึ้นแทนก็เป็นได้ นักวิชาการบางกลุ่ม เช่น ไมเคิล แม็คฟอล (Michael McFaul) โรล์ลิน ทูซาเล็ม (Rollin Tusalem) และลูแคน เวย์ (Lucan Way) เรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่าเป็น “คลื่นลูกที่สี่ (the fourth wave)” ของกระบวนการมุ่งสู่ความเป็นประชาธิปไตย [3]
อ้างอิง
[1] Samuel Huntington, The Third Wave: Democratization in the Late Twentieth Century (Norman:
University of Oklahoma Press, 1991).
[2] Francis Fukuyama, The End of History and the Last Man (New York: Free Press, 1992).
[3] Michael McFaul, “The Fourth Wave of Democracy and Dictatorship: Noncooperative Transitions in the Postcommunist World,” World Politics 54, no. 1 (2002): 212-244; Rollin F. Tusalem, “A Boon or a Bane? The Role of Civil Society in Third- and Fourth-Wave Democracies.” International Political Science Review 28, no. 3 (2007): 361-386; Lucan A. Way, “Authoritarian State Building and the Sources of Regime Competitiveness in the Fourth Wave,” World Politics 57, no. 1 (2005): 231-261.
โฆษณา