7 มิ.ย. 2020 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา จุดตายของธุรกิจที่มี “ต้นทุนคงที่สูง”
สายการบิน โรงแรม โรงพยาบาล
รูปแบบการให้บริการของธุรกิจเหล่านี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทั้ง 3 ธุรกิจมีเหมือนๆ กัน
ก็คือการมี “ต้นทุนคงที่สูง”
แล้วการมีต้นทุนคงที่สูง มันมีจุดตายอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ถ้าให้แบ่งต้นทุนตามขนาดหรือปริมาณการให้บริการ จะแบ่งได้เป็นสองส่วน คือ
1. ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost)
2. ต้นทุนผันแปร (Variable Cost)
ในส่วนของต้นทุนคงที่ (Fixed Cost)
คือ ต้นทุนที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามขนาดหรือปริมาณการให้บริการ
ไม่ว่าการให้บริการจะมาก หรือ น้อย
ธุรกิจก็ต้องเสียต้นทุนในส่วนนี้เท่าๆ เดิม
ในเชิงบัญชี
ต้นทุนคงที่ส่วนหนึ่งจะมาจากค่าเสื่อมราคา ของสินทรัพย์ถาวรที่เราซื้อมา
ยกตัวอย่าง
สายการบินมีสินทรัพย์ถาวร เช่น เครื่องบิน
โรงแรมมีสินทรัพย์ถาวร เช่น อาคารที่พักของโรงแรม เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์ภายในห้องพัก
โรงพยาบาลมีสินทรัพย์ถาวร เช่น อาคารรักษาผู้ป่วย เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์
Cr. Bangkok Hospital Pattaya
ไม่ว่าธุรกิจเหล่านี้จะมีผู้ใช้บริการหรือไม่ ค่าเสื่อมราคาก็จะเกิดขึ้นในแต่ละงวดบัญชีอยู่ดี
ถ้ารายได้ที่รับน้อยกว่าค่าเสื่อมราคาที่เกิดขึ้น ธุรกิจเหล่านั้นก็มีโอกาสขาดทุนในบัญชีที่เรียกว่างบกำไรขาดทุน
แต่ถ้าเรามองในมุมกระแสเงินสด
ค่าเสื่อมราคาเหล่านี้จะไม่ได้เป็นเงินสดที่เราจ่ายจริง
ดังนั้นธุรกิจเหล่านี้อาจดำเนินต่อไปได้ถึงแม้ว่าจะขาดทุนทางบัญชี
อย่างไรก็ตาม แต่ละธุรกิจก็ยังมีต้นทุนคงที่อื่นในการดำเนินธุรกิจอยู่อีก
ซึ่งการวัดว่าธุรกิจจะยังได้กำไรในการดำเนินงานอยู่หรือไม่
ในทางการเงินจะใช้คำว่า EBITDA หรือ กำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ภาษี และดอกเบี้ย
Cr. greedisgoods
ยกตัวอย่าง
สายการบิน มีต้นทุนค่าน้ำมัน ค่าจ้างนักบิน และพนักงานในทุกครั้งที่บิน
ไม่ว่าจะมีผู้โดยสารเต็มลำหรือครึ่งลำ
ดังนั้นถ้าผู้โดยสารไม่พอ ก็อาจทำให้ขาดทุนที่ระดับ EBITDA
โรงแรม มีต้นทุนค่าจ้างพนักงาน ค่าดูแลสถานที่ต่อเดือนคงที่
ไม่ว่าจะมีคนเข้ามาพักเต็มทุกห้อง หรือไม่มีใครเข้ามาพัก
ดังนั้นถ้าแขกที่มาพักไม่พอ ก็อาจทำให้ขาดทุนที่ระดับ EBITDA
Cr. Mandarin Oriental Hotel
โรงพยาบาล มีต้นทุนค่าจ้างหมอ และพยาบาลคงที่
ไม่ว่าจะมีผู้ป่วยเดินทางมาใช้บริการมาก น้อย หรือไม่มีเลย
ดังนั้นถ้าผู้ป่วยมาใช้บริการไม่พอ ก็ทำให้ขาดทุนที่ระดับ EBITDA เช่นกัน
นับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับธุรกิจที่มีต้นทุนคงที่สูงเหล่านี้ และต้องติดตามกันต่อไปว่าแต่ละธุรกิจจะปรับตัวได้ดีแค่ไหนในความไม่ปกติครั้งนี้
ถ้าธุรกิจเหล่านี้มีการขาดทุนที่ระดับ EBITDA แปลว่า “ยาก” ที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป เพราะทุกๆ นาทีที่ผ่านไป เราจะต้องจ่ายเงินออกไปเรื่อยๆ เสมือนเลือดที่ไหลไม่ยอมหยุด
ร่างกายเรามีเลือดที่จำกัด และบริษัททุกบริษัทก็มีเงินที่จำกัดเช่นกัน..
โฆษณา