Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สมาธิแก้ว
•
ติดตาม
12 มิ.ย. 2020 เวลา 08:30 • การศึกษา
ความในใจ
ความสุข memory คิดถึงสมาธิแก้ว
ดร.พรชณิตว์ แก้วเนตร รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
“ ถ้าหยาบยังไม่ละเอียด..แล้วละเอียดจะละเอียดได้อย่างไร..”
แม้เวลาจะผ่านพ้นมา ๑๘ ปีแล้ว แต่คำกล่าวนี้ยังคงดังก้องอยู่ในหัวใจเสมอและความทรงจำก็มาพร้อมกับความปีติอิ่มเอิบ เมื่อรำลึกได้ว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับชีวิตที่ได้มีโอกาส เข้าร่วมในโครงการ “สมาธิแก้ว”
จุดเริ่มต้นของการเป็น“นักปฏิบัติธรรม”
เพื่อเริ่มต้นการเป็น“นักปฏิบัติธรรม” อันเป็นเส้นทาง ที่ทำให้ชีวิต
เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีตลอดกาล คํากล่าวข้างต้นเป็นสิ่งที่ได้ยิน
พระอาจารย์และพี่เลี้ยงเน้นย้ำกับพวกเรานักปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ
เพื่อให้ทุกคนระลึกรู้ว่าแก่นแท้
อันเป็นจุดเริ่มแรกของการก้าวไปสู่
เส้นทางของนักปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง คือสิ่งใด..
แต่ก่อนข้าพเจ้า... มักนึกเอาเองว่าเราชอบนั่งปฏิบัติธรรมและอยากมี
ผลการปฏิบัติธรรมที่ก้าวหน้า เราต้องหาโอกาสหาเวลานั่งให้มาก
แต่โครงการนี้สอนให้รู้ว่า..
ไม่ใช่เลย.....
เพราะหากอยากมีผลการปฏิบัติธรรมที่ก้าวหน้า
เราต้องมุ่งมั่น ในการทำกิจวัตรกิจกรรมประจำวันของเรา
ให้ดีพร้อมด้วยและต้องไม่หยุดยั้งในการพัฒนาตนเอง
สิ่งนี้จะเกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรมของเรามาก
กิจกรรมหล่อหลอมลอกคลอง หน้าหมู่บ้านปฏิบัติธรรม
และนี่คือสิ่งสำคัญยิ่ง ที่ข้าพเจ้าต้องการพิสูจน์แสวงหาในหลักสูตรอบรม
“สมาธิแก้ว” รุ่นที่๓ปีพุทธศักราช๒๕๔๐ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าได้นำพาตัวเองมาสู่ดินแดนอันเปี่ยมไปด้วยความคำสอนและการปฏิบัติอันทรงคุณค่าแห่งนี้.....
“สมาธิแก้ว” ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเน้นการฝึกปฏิบัติธรรม ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับการฝึกฝนการปฏิบัติธรรม พร้อมทั้งมีชั่วโมงการทำใจหยุดนิ่งมากขึ้น
ฝึกให้ใจสงบ... วางเฉย ต่อสิ่งเร้าด้วยสมาธิที่ผูกรวมจิตให้คงที่
หยาบกับละเอียดไปคู่กัน..
ข้าพเจ้าตัดสินใจหลังจากสอบวิชาสุดท้าย ในปีสุดท้ายของการศึกษาระดับปริญญาตรีเสร็จก่อนที่จะสมัครงานใดๆทั้งสิ้น
ได้จัดเตรียมกระเป๋ามาเข้ารับการอบรม ณ ที่นี่ ด้วยคิดว่าอยากได้
บุญละเอียด ก่อนที่จะเข้าสู่ชีวิตการทำงาน
แพ็คกระเป๋าเข้าโครงการ
นับได้ว่า ณ เวลานั้นข้าพเจ้าเป็น “น้องเล็ก” ของรุ่น และมีเพื่อนร่วมรุ่น ต่างสถาบันแต่มีจิตใจเดียวกัน เข้ารับการอบรมเรียกว่าเป็น "แก๊งเด็ก" ของรุ่นก็ว่าได้
"แก๊งเด็ก"
พื้นฐานของข้าพเจ้านั้นมาจากครอบครัว ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ข้าพเจ้าจึงไม่ค่อยได้ทำงานบ้าน ไม่เคยจับมีดหั่นผัก ไม่ค่อยได้ล้างจาน ไม่ค่อยได้ถูบ้าน ซักผ้าเท่าใดนัก แม้ว่าข้าพเจ้าจะทำเป็นแต่....ก็ไม่ค่อยได้ทํา
เรียนรู้การซักผ้า
“สมาธิแก้ว” ทำให้ข้าพเจ้า กลายเป็นผู้ปรับตัวที่พร้อมจะทำทุกอย่าง
แบบสั่งซ้ายเป็นซ้าย สั่งขวาเป็นขวา
เรียนรู้การจัด พับ เก็บ
เพราะนี่คือ "การฝึกตัว"
การฝึกปฏิบัติธรรมไม่ใช่แค่...นั่งขัดสมาธิหลับตา
แต่.....คือการฝึกหักห้ามใจ
ให้ทำในสิ่งที่ไม่อยากทํา
และไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ
อันถือเป็นการฝึกหัดขัดเกลาตนเอง ให้กระจ่างแจ้งกับสัจธรรมที่ว่า
โลกนี้มิได้เป็นดั่งใจเราปรารถนาได้ทุกประการเสมอไป ...
ถอดมุ้งลวดออกมาทำความสะอาด
วันแรกที่ข้าพเจ้าต้อง "รับบุญ"
(ข้างนอกเค้าเรียกกันว่า "ทำเวร" แต่ที่นี่เขาเรียก "รับบุญ")
รับบุญขัดห้องน้ำทั้งล้วงลึกทั้งขัดทุกซอกทุกมุม..
รับบุญขัดวิมาน(ขัดห้องน้ำ)
ข้าพเจ้าค้นพบตัวเองเลยว่า "เราชอบล้างห้องนํ้ามาก"...
พระอาจารย์ท่านสอนว่า...
นี่คือการลดทิฏฐิมานะที่มีอยู่ในใจเรา
เรายิ่งล้วงเข้าไปในคอห่านลึกขนาดไหน
ความถือตนทะนงตนของเราจะลดน้อยถอยลงไปด้วย..
ข้าพเจ้าเข้าใจในคำสอนนั้นอย่างถ่องแท้
เป็นสิ่งที่ได้กับตัวเอง แบบชนิดที่ไม่มาลองทำเองก็คงไม่รู้
ฝึกทำงานหยาบๆให้ละเอียด
ระหว่างอยู่ในการอบรม ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม
ข้าพเจ้ามักได้รับบุญให้ทำหน้าที่ เป็นพิธีกรอยู่หน้างานเสมอๆ
ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้ปฏิบัติบุญนั้นอย่างดี
แต่เมื่องานวันวิสาขบูชาเวียนมาถึง ข้าพเจ้าตัดสินใจเลือกที่จะ
รับบุญที่ตนเองถนัด จึงยกมือขอไปอยู่ฝ่ายขัดล้างวิมานทั่วทั้งวัดและ
ข้าพเจ้าก็ได้ปฏิบัติบุญนั้นสมปรารถนา ทำให้รู้สึกมีความสุขอย่างมาก
สิ่งที่ฝึกฝน ณ วันนั้นยังคงติดตัวมาจนถึงวันนี้ และบ่มเพาะข้าพเจ้าไม่ให้เป็นคนที่นึกดูถูกดูแคลน หรือรังเกียจเดียดฉันท์คนที่พบเจอ
ช่วยกันรับบุญซักผ้า
ซึ่งอาจแตกต่างกันทั้งสถานะทางสังคมและชาติตระกูล
ข้าพเจ้าสามารถเข้าได้กับทุกคน ปรับตัวได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในฐานะที่
เป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน
สิ่งสำคัญยิ่งที่ได้มาจากการฝึกฝนก็คือการวางใจนิ่งๆเบาๆ
ที่ศูนย์กลางกลายฐานที่๗
ทำใจให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ “ดวงแก้วใส”
ถ้านิ่งอยู่ตรงกลางได้แล้ว เราทุกคนย่อมมี “องค์พระ” ที่กลางท้อง
เหมือนกันหมด
ฉะนั้นเราควรให้ความเคารพธรรมะในตัวของกันและกัน
พร้อมที่จะวางความยึดมั่นถือมั่นของตนเอง
เพื่อรับฟังผู้อื่นโดยปราศจากอคติใดๆ
มิตรภาพที่งดงาม
อีกสิ่งหนึ่ง...ที่ข้าพเจ้าพบและตระหนักอย่างยิ่ง ระหว่างการอบรมก็คือนักปฏิบัติธรรมต้องมีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง ที่นี่..เราเล่นโยคะกันทุกวันตอนเย็น
โยคะ ณ ห้องปฏิบัติธรรม
และวิ่งออกกำลังกายทุกวันตอนเช้า ภายใต้อากาศอันบริสุทธิ์
ของอรุณรุ่งในเช้าวันใหม่
ช่วงแรกของการวิ่งข้าพเจ้าเกือบแย่เหมือนกัน
เพราะข้าพเจ้าไม่ชอบการวิ่งและเคยได้รับตำแหน่งนักเรียนหญิงวิ่งช้าที่สุดในห้องเรียน สมัยเรียนประถม..ทำไมต้องวิ่งด้วย?
เหนื่อยเราไม่เหนื่อย วิ่งไปเรื่อยๆ เราไม่เหนื่อย เราไม่เมื่อย
ข้าพเจ้าเกิดคำถามนี้กับตนเองบ่อยๆ ในช่วงแรก ข้าพเจ้าอดไม่ได้ที่จะ
รันทด ท้อเพราะผู้ที่มาฝึกวิ่งให้เรา เป็นทหารผู้ดูชำนาญและรักในการวิ่ง
อันเป็นมาตรฐานของการออกกำลังกายในทุกเหล่าทัพ
ข้าพเจ้าค้นพบว่า..แม้จะเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า
รู้สึกเหมือนจะแตกแถวไปต่อไม่ไหว
แต่เอาเข้าจริงมันกลับไม่เป็นเช่นนั้น
สิ่งสำคัญที่ทำให้ข้าพเจ้าวิ่งต่อไปได้คือ
"เพื่อนที่วิ่งอยู่ข้างๆ" และนี่คือ "ทีม" ที่คอยประคับประคองกันไป..
ฝึกระเบียบแถว เพื่อสร้างความมีระเบียบวินัย
ไปเป็นทีม
คําพูดหนึ่งของครูฝึกแวบเข้ามาสู่มโนนึก..
แม้จนถึงวันนี้
“ความเร็วของกองทัพไม่ได้อยู่ที่คนวิ่งข้างหน้าสุด
แต่....อยู่ที่ speed ของคนท้ายแถว..”
ถ้อยคำที่ได้ยินแฝงความนัยไว้อย่างลึกซึ้ง
เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าการปฏิบัติธรรม
ก็จำเป็นต้องประคับประคองกันไปเป็นทีมการช่วยเหลือ
ให้กำลังใจกันเป็นสิ่งสำคัญ
โดยเฉพาะในยามที่ใครบางคนเหน็ดเหนื่อย
อ่อนล้าหมดสิ้น ทั้งเรี่ยวแรงและพลังใจ
รวมพลัง
อยู่เคียงข้างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
หากมีเพื่อนหรือคนที่อยู่เคียงข้างคอยประคับประคองไม่ทอดทิ้ง
เอื้อมมือมาให้ไขว่คว้าฉุดดึง มันจะเป็นคุณค่าวิเศษที่จะทำให้คนที่สิ้น
กำลังใจกลับฟื้นคืนมาได้
ด้วยเหตุนี้แม้วันเวลาจะผ่านพ้นมาเนิ่นนานข้าพเจ้าไม่มีโอกาสจะได้ร่วมวิ่งเป็นทีมกับใครอีกแล้ว..
แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงติดตัวและอยู่ในหัวใจของข้าพเจ้าเสมอมาก็คือ... ข้าพเจ้าจะไม่ทอดทิ้งคนที่ข้าพเจ้า รู้จักไม่เมินเฉยต่อคนที่รักข้าพเจ้า
ไม่ปล่อยให้ คนที่ข้าพเจ้าเคยเคียงข้างต้องเดียวดาย ทุกข์ระทมตามลำพัง
ข้าพเจ้าจะฉุดมือนำพาเขาฝ่าฟันช่วงเวลาอันยากลำบากไปให้ได้เหมือนที่
เคยมีคนนำพาข้าพเจ้าให้ไปพร้อมกับทีมและนี่เองที่เรียกว่า "กัลยาณมิตร”
"กัลยาณมิตร”
กิจกรรมที่ประทับใจ จำได้ไม่ลืมอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การลงไปลอกคลองที่มีดอกบัวอยู่สนุกมาก รู้สึกเหมือนวัยเยาว์ได้หวนคืนกลับมาขณะที่เท้าย่ำไปในเลนปลาช่อนปลาดุกเข้ามาตอดๆขาเหมือนกับจะมาขอบคุณ
ที่เราไปช่วยให้บ้านของเขาน่าอยู่ขึ้น..
ลงลอกคลองบัว
อยู่ที่นี่เรารักษาศีล ๘ ทานอาหารเพียง ๒ มื้อ
เหมือนที่พระอาจารย์ท่านฉัน
ตอนเย็นเราทานน้ำปานะ
ด้วยความเป็นห่วงลูกสาวแม่ของข้าพเจ้ามักมาเยี่ยมเยียนพร้อมนำอาหารที่เป็นของโปรดมาให้เสมอ รวมทั้งเพื่อนฝูงที่เรียบจบมาด้วยกันก็แวะเวียนมาเยี่ยมมิได้ขาด บางคนเอาขนมมาเอาอะไรมาให้ ด้วยความห่วงใยใส่ใจในทุกรายละเอียด ราวกับเป็นการมาเยี่ยม
บรรยากาศรับประทานอาหารร่วมกัน
ข้าพเจ้าผู้ซึ่งกำลังตกระกำลำบากต้องใช้ชีวิตเหมือนแร้นแค้นลำเค็ญในความเป็นจริง ด้วยความเข้าใจในบุญและกลไกการทำงานของบุญ
ข้าพเจ้าอนุโมทนาในจิตปรารถนาของทุกๆคนที่ดั้นด้นมาถึงที่นี่สิ่งนี้เป็นเหมือนบทเรียนที่สอนให้ข้าพเจ้า ได้ซาบซึ้งว่าความรักความอาทรห่วงใยจากคนที่รักเราเป็นอย่างไร
พิจารณาอาหารก่อนรับประทาน
แต่โดยแท้จริงแล้ว...
ข้าพเจ้าอยากให้เพื่อนฝูงและผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้าทุกคน ได้มาสร้างบุญให้กับตัวเอง อย่างที่ข้าพเจ้ากำลังทําข้าพเจ้าปรารถนา ที่จะให้พวกเขาได้รู้
และเข้าใจว่า ไม่มีบุญใดจะบริสุทธิ์ผุดผ่องและยิ่งใหญ่ไปกว่าบุญจากการปฏิบัติธรรมอีกแล้ว
บุญจากการปฏิบัติธรรม
เมื่อตะวันลาลับข้าพเจ้าต้องใช้ชีวิตในห้องนอน
ที่นี่...เรานอนรวมกันในห้องโถงใหญ่ๆ แต่ละคนมีตู้ใบเล็กคนละ๑ ตู้ไว้ใส่ของใช้ส่วนตัว รวมทั้งเสื่อที่นอนหมอนหนุนด้วย เรามีเพียงของใช้ที่จำเป็น
จริงๆเท่านั้น
ชีวิต ณ ห้องนอน
ส่วนของส่วนเกินที่หลวงพ่อท่านเรียกว่า "กะโหลกกะลา" นั้น
ไม่สามารถนำติดเข้ามาได้ เสื้อผ้าซึ่งเป็นเครื่องนุ่งห่มก็มีได้เท่าที่จำเป็น
เพียงคนละไม่กี่ชุดเท่านั้น
สิ่งนี้ทำให้เราได้ฝึกแยกแยะว่า “อะไรจำเป็น อะไรเกินความจำเป็น”
ฝึกหัด “ตัดใจ” จากสิ่งที่คุ้นชินหากเรา “ตัดใจ” ได้เร็วผลการปฏิบัติธรรม เราจะ ก้าวหน้าขึ้นมาก
เพราะเราจะเข้มแข็งในการปล่อยวาง ลดการยึดติด ตัดความฟุ้งซ่าน
รำคาญใจไปได้ โดยปราศจากการลังเล สิ่งนี้ถ้าจะรอฝึกในรอบของการปฏิบัติธรรมคงไม่อาจเพียงพอ ที่จะบรรลุความมุ่งหมาย
ดังนั้นข้าวของเครื่องใช้ตลอดจนกิจวัตรของเราต่างหากที่เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้ฝึกฝนตนเอง
ห้องพัก
ตัวข้าพเจ้าเองไม่ใคร่มีปัญหาในเรื่องการนอนเท่าใดนัก จึงสามารถนอนหลับสบายในทุกๆคืน ไม่ว่าที่นอนจะแข็งไปหมอนหนุนจะนุ่มนิ่ม
บอบบางไปแตกต่าง จากห้องนอนแสนสุขที่บ้านอย่างเทียบกันไม่ได้
หรือเพื่อนที่นอนถัดกันไปจะมีเสียงประหลาดเล็ดลอดออกมาให้ได้ยิน ทุกคนที่นี่กำลังฝึกฝนตนเองด้วยกันทั้งสิ้น เราเองก็ต้องระมัดระวังกิริยาวาจารวมทั้งความรู้สึกของเราไม่ให้ไปกระทบใครเช่นกัน
ห้องปฏิบัติธรรม
ศูนย์รวมใจของที่นี่คือห้องปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นห้องโถงลาดขนาดใหญ่ข้าพเจ้ารักห้องนี้มาก เพราะมีไออวลแห่งความอบอุ่น ชุ่มชื่นแผ่ซ่านอยู่ทุก
อณูในทุกครั้งที่ย่างเท้าเข้าไป
ข้าพเจ้าใช้ห้องปฏิบัติธรรม เป็นทั้งที่นั่งฝึกปฏิบัติสมาธิ นั่งฟังธรรม เล่นโยคะบ้างในบางครั้งหลับตื่นอยู่ในห้องนี้ มีความสุขและรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้มีบุญที่ได้มีโอกาสใช้ช่วงเวลาอันมีค่าในแต่ละวันในห้องนี้
เรียนรู้การคลายเส้น ด้วยโยคะ
สิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะได้กลับกลายเป็นสิ่งล้ำค่าที่ไขว่คว้าได้
จากการมาเข้าอบรมในโครงการสมาธิแก้ว ก็คือ....นิสัยดีๆที่ติดตัวมาจนถึง
ปัจจุบัน ทำให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนไปจากเด็กสาวเอาแต่ใจกลายเป็นผู้รักในบุญรักในการฝึกฝนอบรมตนเอง
ข้าพเจ้าสามารถมองดูตัวเองได้อย่างทะลุปรุโปร่งมากขึ้น การมองเห็นตัวเองรู้จักตัวเองอย่างลึกซึ้งถ่องแท้ เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะก่อนที่เราจะเข้าใจโลกชีวิตและผู้อื่น เราต้องเข้าใจตนเองเสียก่อน
เมื่อเข้าใจแล้ว เราก็จะสามารถจัดการกับชีวิตวางวิถีทางให้กับตนเองได้อย่างเหมาะสมและมีคุณค่า สิ่งที่คิดว่าได้จากโครงการนี้อีกอย่างหนึ่งและได้ไปอย่างเต็มเปี่ยมก็คือธรรมะดีๆใสๆที่มาพร้อมกับมิตรภาพความเป็น
กัลยาณมิตรจากพี่ๆเพื่อนๆผู้เข้ารับการอบรมด้วยกัน ..
"กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์" และเป็น
"สิ่งที่คอยประคับประคองเกื้อหนุนให้เราอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้องดีงาม"
นี่คือ.....คุณค่าสูงยิ่งที่โครงการอบรมสมาธิแก้วได้ให้แก่ข้าพเจ้าและยังคง
ดำรงอยู่จวบจนปัจจุบัน
"กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์"
แม้เวลาจะผันผ่านมานานสักแค่ไหน แต่ในทุกครั้งที่หวนคำนึงถึงชั่วโมงการทำใจหยุดใจนิ่งของโครงการนี้ ข้าพเจ้าจะระลึกรู้ได้เสมอว่านั่นเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าที่สุด
ผลของการปฏิบัติธรรมจะก้าวหน้าขึ้นตามลำดับแต่ถึงกระนั้นก็ตาม เราต้องตระหนักไว้เสมอว่า........ความละเอียดของใจสำคัญกว่าประสบการณ์ภายในที่เห็น เราต้องสั่งสมความละเอียดของใจให้มากและปรับใจปรับ
ท่านั่งทุกๆรอบที่นั่งสมาธิ
สิ่งเหล่านี้ติดตัวข้าพเจ้าพร้อมกับการเติบโตไปตามวันเวลากลายเป็นสิ่งล้ำค่าที่ทำให้ข้าพเจ้าผ่านพ้น
ใจสงบ
ความยากลำบากนานับประการ ที่แวดล้อมอยู่ในโลกภายนอกแม้ในช่วงที่ต้องจากบ้านไปศึกษาในต่างประเทศ
ข้าพเจ้าสามารถเผชิญกับทุกสิ่งได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง สงบนิ่งต่อสิ่งที่เป็นทั้งสุขและทุกข์วางใจอยู่กึ่งกลาง
ขณะที่ก้าวเดินไปตามปกติด้วยหัวใจที่ปลอดโปร่งอย่างแท้จริง
ปัจจุบันนี้ข้าพเจ้า มีหน้าที่การงานที่ต้องดูแลผู้คนและนักศึกษาจำนวนหลักพันคน ข้าพเจ้าตระหนักดีว่าความขัดแย้ง วุ่นวาย สับสน ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพวกเขาเหล่านี้ ขาดการฝึกฝนควบคุมใจของตนเองให้หยุดนิ่งคุ้นชินอยู่กับสิ่งรอบตัวที่วุ่นวาย ปล่อยตัวเองไปตามอำนาจความอยากได้
อยากมี อยากเป็น ของตนตลอดจนขาดความรู้ที่ว่า
"อะไรคือสิ่งที่ดีงามที่ถูกต้อง"
ถูกผิดดีชั่วยังไม่สามารถแยกแยะได้ ข้าพเจ้าคิดว่าการหาเวลาให้กับตนเองเพื่อมาพัฒนาใจของตนเองเป็นเรื่องสำคัญ
โครงการสมาธิแก้ว ทำให้สังคมสงบสุขได้ ด้วยการแก้ไขที่สาเหตุของปัญหาความขัดแย้งนั่นคือ “ใจ” ของคนเรา
ข้าพเจ้าได้ประจักษ์อย่างถ่องแท้
คอยเป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน
สิ่งที่ได้รับมาจากโครงการสมาธิแก้ว
ไม่ใช่คุณค่าของความดีงาม
เพื่อข้าพเจ้าเพียงผู้เดียว
หากยังเพื่อผู้คนอีกมากมายที่อยู่ร่วมผืนแผ่นดินเดียวกัน
ขอกราบขอบพระคุณพระอาจารย์ทุกๆรูป พี่เลี้ยงทุกท่าน ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการอบรมนี้ ทุกคนการสร้างคนให้เข้าใจเส้นทางการ
ดำเนินชีวิตให้ถูกต้องดีงาม
เป็นเรื่องสำคัญทุกท่านได้ทำอยู่และได้สร้างให้เด็กผู้หญิง
ในวันนั้นให้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ที่พร้อมจะเป็น
“กัลยาณมิตร”
ให้บุคคลรอบข้างต่อไป
ดร.พรชณิตว์ แก้วเนตร รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สมาธิแก้วรุ่นที่๓ปีพ.ศ.๒๕๔๐
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย