8 มิ.ย. 2020 เวลา 03:59
กบข : บำเหน็จบำนาญเพื่อข้าราชการ(รุ่นใหม่)
บทความนี้จะพาคุณไปพบกับระบบบำเหน็จบำนาญที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย คือระบบเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
ระบบบำเหน็จบำนาญในประเทศไทยเริ่มมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2444 และต่อมาได้แก้ไขเป็นพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494
ระบบบำเหน็จบำนาญเดิมนี้มีลักษณะเป็นการกำหนดผลประโยชน์ทดแทนแน่นอน (Defined Benefit) ในรูปบำนาญ โยจ่ายผลประโยชน์เมื่อเกษียณอายุตามสูตรการคำนวณที่อิงจากเงินเดือนเดือนสุดท้ายและอายุงาน ข้าราชการไม่ต้องจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน รัฐบาลเป็นผู้รับภาระจากงบประมาณประจำปี
1
ในปี 2539 มีการออกพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 ทำให้กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข) เกิดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2540 เป็นต้นมา ปัจจุบันประเทศไทยจึงมีระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 2 ระบบคู่กันในปัจจุบัน
Credit : รายงานประจำปี 2562 กบข
กบข เป็นกองทุนระบบ Defined contribution ผลประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับจากกองทุนจะขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุนและผลประโยชน์ที่เกิดจากการนำเงินของกองทุนไปลงทุน กบข เป็นองค์กรอิสระที่มีคณะกรรมการกองทุนฯ (ฺBoard of Directors) เป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแล
ระบบบำนาญทั้งสองนั้นรัฐบาลยังคงรับภาระการจ่ายบำนาญต่อไป แต่ระบบ กบข เงินของรัฐบางส่วนถูกเปลี่ยนเป็นเงินสมทบ เงินชดเชย และเงินประเดิม เพื่อจ่ายในช่วงก่อนเกษียณเป็นการกระจายภาระที่จะกลายเป็นรายจ่ายขนาดใหญ่หลังเกษียณเพียงอย่างเดียวแบบระบบบำนาญเดิม จึงลดความเสี่ยงของการไม่สามารถจ่ายบำนาญในอนาคต และเป็นการสร้างวินัยการออมให้กับข้าราชการ
1
ข้าราชการที่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญแบบเดิมตั้งแต่ก่อน 27 มีค 2540 สามารถเลือกเป็นสมาชิก กบข หรืออยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญแบบเดิมต่อไปก็ได้ การสมัครเป็นสมาชิก กบข ในแบบบำนาญซึ่งมีสูตรการคิดเงินบำนาญที่ต่างจากเดิม(ลดลง) รัฐบาลก็ชดเชยส่วนต่างของเงินบำนาญให้ในรูปของเงินประเดิมด้วย
1
สำหรับการรับบำเหน็จ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสูตรคำนวณ จึงไม่มีส่วนต่างที่ต้องชดเชย
ข้าราชการทุกคนที่รับราชการหลังวันที่ 27 มีค 2540 ต้องเป็นสมาชิก กบข และสะสมเงินเข้ากองทุน 3% ของเงินเดือนทุกเดือน
💡 ปัจจุบัน ข้าราชการ 50% อยู่ในระบบ กบข ขณะที่อีก 50% ยังคงอยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญเดิม
จำนวนสมาชิก กบข มีประมาณ 1.1 ล้านคน สมาชิกที่อายุไม่เกิน 40 ปี คิดเป็นประมาณ 54% ของสมาชิกทั้งหมด การที่สมาชิกอายุตั้งแต่ 41 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนที่น้อยกว่าเนื่องจากส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญแบบเดิม
Credit : กบข
โครงสร้างอายุของข้าราชการไทยในปัจจุบันมีลักษณะส่วนใหญ่เป็นข้าราชการอายุมาก ประมาณการว่า 70-75% ของข้าราชการมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป (ข้อมูลจากบทความของ ผศ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ใน manageronline.com ปี 2562)
1
เราจึงประมาณการได้ว่าข้าราชการไทย 50% ยังคงอยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญเดิม ขณะที่อีก 50% อยู่ในระบบ กบข
เรายังประมาณได้ด้วยว่า จำนวนกว่า 2 ใน 3 ของข้าราชการที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เลือกอยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญเดิมซึ่งได้รับเงินบำนาญมากกว่าสูตร กบข แต่ไม่ได้รับเงินก้อนจากการออมผ่านระบบ กบข หากไม่ได้มีการเตรียมการออมเงินไว้ให้เพียงพอเมื่อเกษียณอายุ ข้าราชการกลุ่มนี้ก็คงจะต้องพึ่งพาเงินบำนาญเป็นแหล่งรายได้หลัก
Credit : manageronline.com (กราฟด้านซ้ายในภาพ)
💡 บำนาญแบบเดิม และ บำนาญสูตร กบข ให้ผลประโยชน์ต่างกันอย่างไร
ช่วงเดือนมีนาคม 2540 ที่มีการจัดตั้ง กบข ได้เปิดให้ข้าราชการที่อยู่ในระบบบำนาญเดิมสมัครเข้าเป็นสมาชิก กบข เพื่อเปลี่ยนวิธีการรับบำนาญใหม่และได้รับเงินประเดิมที่คำนวณจากส่วนต่างของสูตรการคิดบำนาญใหม่เพื่อชดเชยส่วนของบำนาญที่จะลดลง
ในช่วงเวลานั้นตลาดการเงินไทยมีผลตอบแทนการลงทุนที่สูงมาก ซึ่งเป็นยุคสมัยที่เงินฝากธนาคารให้ผลตอบแทนไม่แพ้ผลตอบแทนการลงทุนในปัจจุบัน ข้อมูลที่ กบข นำมาใช้เป็น จึงเป็นข้อมูลในช่วงที่อัตราผลตอบแทนต่างๆ อยู่ในระดับสูงมาก
เราคงไม่ลืมว่า ปี 2540 เป็นปีที่ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลกจากวิกฤตเศรษฐกิจ ต้มยำกุ้ง ฟองสบู่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ถูกสะสมมาก่อนหน้าหลายปีสะท้อนจากผลตอบแทนการลงทุนที่สูงมาก จนฟองสบู่แตกและมีการลอยตัวค่าเงินบาทในเดือนกันยายน 2540 (ขอบคุณภาพและข้อมูลประกอบจาก ลงทุนแมนครับ)
Credit : ลงทุนแมน
วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นภายหลังการก่อตั้ง กบข เพียงไม่กี่เดือน ทำให้ข้าราชการที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก กบข และรับบำนาญตามสูตรใหม่ ได้รับผลกระทบจากผลตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามที่ได้รับฟังมา รวมกับปัญหาผลการดำเนินงานติดลบในบางปี ทำให้รัฐบาลตัดสินใจให้มีการ UNDO และ REDO ในช่วงตั้งแต่ปลายปี 2557 จนถึงปี 2558 ให้ข้าราชการที่เริ่มรับราชการก่อน 27 มีนาคม 2540 ได้ตัดสินใจอีกครั้งว่าจะอยู่ในระบบ กบข ต่อไปหรือกลับไปอยู่ในระบบเดิม
2
หากเราจะลองนำระบบบำนาญแบบเดิม และ ระบบบำนาญสูตร กบข มาลองคำนวณเปรียบเทียบกันด้วยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย ณ สิ้นปี 2562 ซึ่ง ผลตอบแทนเฉลี่ย 5 ปีของแผนหลักที่สมาชิกส่วนใหญ่เลือกอยู่ที่ประมาณ 4% และดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 1.5% (สมมุติเพื่อคำนวณ) โดยเงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท เพิ่มปีละ 4% อายุราชการถึงเกษียณรวม 37 ปี
1
จะได้เงินบำนาญต่อเดือนเท่ากับ
- สูตรเดิม เดือนละ 45,443.65 บาท
- สูตร กบข เดือนละ 39,901.63 บาท
(เงินบำนาญส่วนต่างเท่ากับ 5,652.02 บาทต่อเดือน)
3
ระบบบำนาญสูตร กบข นั้น รัฐบาลมีการจ่ายเงินสมทบให้สมาชิก 3% และมีเงินชดเชยอีก 2% ของเงินเดือน หากใช้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4% มาคำนวณก็จะพบว่า ณ วันเกษียณ เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เราในระบบ กบข จะมีจำนวนเงินประมาณ 1.4 ล้านบาท หากนำไปฝากธนาคารและถอนมาใช้เดือนละ 5,652.02 บาท ให้เราได้รับเงินบำนาญเท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับจากระบบบำนาญเดิม เงินก้อนนี้ก็จะหมดไปในเวลาประมาณ 26 ปี หรือเมื่อเรามีอายุ 86 ปี
1
ระบบบำนาญทั้งสองแบบ จึงมีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกัน สำหรับระบบบำนาญแบบเดิมมีจำนวนเงินที่จ่ายต่อเดือนสูงกว่า แต่ก็ไม่มีเงินก้อนจากรัฐบาลให้ (ตามตัวอย่างคือ 1.4 ล้าน)
ความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับระบบเดิม จะขึ้นกับ อัตราผลตอบแทนที่ กบข นำไปลงทุนให้กับเรา และการบริหารจัดการเงินของเราทั้งในช่วงก่อนและหลังเกษียณอายุ
ระบบบำนาญทั้งสองแบบนั้นเราอาจไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าระบบใดให้ประโยชน์กับเรามากกว่า แต่ข้อดีของระบบบำนาญ กบข คือการสร้างวินัยการออม อย่างน้อย 3% ของเงินเดือน และยังได้รับเงินสมทบและชดเชยจากรัฐบาลรวมอีก 5% เสมือนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของภาคเอกชน(แต่เป็นภาคกึ่งบังคับ)
1
💡 ผลตอบแทนจากการบริหารของ กบข เป็นอย่างไร
นโยบายการลงทุนของ กบข เน้นความสมดุลระหว่างความปลอดภัยของเงินต้น (Preservation of capital) และ ผลตอบแทนการลงทุนภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และผลตอบแทนที่ได้ควรจะสูงกว่าที่สมาชิกลงทุนด้วยตัวเอง
กบข มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย มีแผนทางเลือกการลงทุนครอบคลุม และมีขนาดกองทุนใหญ่มาก (เฉพาะกองทุนจากเงินสมาชิกมีขนาดใหญ่ประมาณ 4 แสนล้านบาท และกองทุนในส่วนของรัฐบาลอีกประมาณ 6 แสนล้านบาท) โดยแต่ละแผนการลงทุนจะมีผลตอบแทนที่แตกต่างกันไป
Credit : กบข (รายงานประจำปี 2562)
บทความนี้ขอเทียบอัตราผลตอบแทนของ กบข ซึ่งทำได้ 5.73% ในปี 2562 กับกองทุนของประกันสังคม (ซึ่งคำนวณคร่าวๆ ไว้ในบทความก่อนหน้า) กองทุนของประกันสังคม มีผลตอบแทนการลงทุนที่ 4.3% ในปี 2562
เมื่อเทียบผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปีของ กบข และ ประกันสังคม ก็จะได้ตามภาพ แม้ผลตอบแทนของ กบข (เส้นสีฟ้า) จะมีแนวโน้มที่สูงกว่าของประกันสังคม (เส้นสีส้ม) และพบว่าผลตอบแทนมีความผันผวนสูงกว่าของประกันสังคม
1
ข้อมูลนี้เป็นการคำนวณเบื้องต้น ไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงนอกบทความ (การเปรียบเทียบนี้เพื่อให้เห็นภาพผลตอบแทนเท่านั้น กองทุนอาจมีสัดส่วนและนโยบายที่แตกต่างกัน และ กบข น่าจะไม่ได้นำข้อมูลส่วนของกองทุนสำรองที่เป็นเงินของรัฐบาลมาแสดง ทำให้เป็นการเปรียบเทียบส่วนเดียว)
💡 กบข บริหารการลงทุนของกองทุนอย่างไร
กบข ได้แบ่งกลยุทธการลงทุนตามภาพ ซึ่งรายงานไว้ในรายงานประจำปี
Credit : รายงานประจำปี 2562 กบข
กบข สามารถจ้าง บลจ เพื่อช่วยบริหารสินทรัพย์แต่ละประเภท ในรูปกองทุนระยะยาว และสามารถลงทุนทางเลือก (Alternative investment) ที่มีลักษณะต่างจากการลงทุนในตราสารการเงิน เช่น การร่วมลงทุนในกิจการที่น่าสนใจ การลงทุนในตราสารต่างประเทศ เป็นต้น เพื่อกระจายความเสี่ยง และสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้น
1
บทความที่เหลือช่วงสั้นๆ ต่อจากนี้ ผมอยากให้เป็นข้อมูลที่สมาชิก กบข (ส่วนใหญ่) ควรจะตระหนัก และคิดว่าเราควรจะทำอะไรหรือไม่ เพื่อให้แผนลงทุนของเราเหมาะสมกับตัวเรา
Credit : Pixels.com
💡 ปัญหาใหญ่ของสมาชิก กบข คืออะไร
กบข มีการพัฒนาด้านต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาด้านดิจิตอลเพื่อให้สมาชิกสามารถเข้าไปดูข้อมูลของตนเองได้ แต่ถึงปัจจุบันนี้ กบข ยังพบว่า สมาชิก กบข ส่วนมากไม่ได้ทราบหรือเข้าใจว่าตนเองควรจะเลือกแผนการออมแบบใดที่เหมาะสมกับตนเอง
ในการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณ รูปแบบการออมการลงทุนคือหัวใจสำคัญของความสำเร็จในการวางแผนการเกษียณ
Credit : กบข
สมาชิก กบข กว่า 97% อยู่ในแผนลงทุนหลักและไม่เคยเปลี่ยนแผนลงทุน สาเหตุหลัก ๆ คือ
- เข้าเป็นสมาชิก ตั้งแต่ กบข เริ่มต้น ซึ่งมีเพียงแผนหลักเท่านั้น
- ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจ จึงเลือกตามที่คนอื่นเลือกกัน
- ไม่ได้ทราบว่าสามารถเปลี่ยนแผนได้ และไม่ทราบว่า กบข นำเงินไปทำอะไร (ทราบเพียงถูกหักเงิน 3% ทุกเดือน)
สมาชิก กบข กว่า 69% เลือกแผนที่มีความเสี่ยงสูงกว่าความสามารถในการรับความเสี่ยง
- กลุ่มสมาชิก ที่อายุสูง เหลืออายุราชการไม่มาก
- กลุ่มที่ไม่มีความเข้าใจในเรื่องการลงทุน จึงรู้สึกเครียดเมื่อเห็นข้อมูลต่างๆ
สมาชิก 6% เลือกแผนการลงทุนที่ต่ำกว่าระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยเฉพาะสมาชิกที่อายุน้อย เหลืออายุราชการอีกนาน
Credit : กบข
คำแนะนำสำหรับสมาชิก กบข ที่เหลืออายุราชการไม่มาก และยังไม่เคยศึกษาความเหมาะสมของแผนลงทุนของตนเอง คือควรพิจารณาทบทวนแผนการลงทุนที่เลือกอยู่ในปัจจุบัน ยิ่งใกล้เกษียณคนส่วนใหญ่ก็ยิ่งมีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้ต่ำลง แต่ความเสี่ยงที่เหมาะสมไม่จำเป็นต้องใช้เกณฑ์อายุเป็นหลัก การทำแบบทดสอบและปรึกษาเจ้าหน้าที่ของ กบข จะช่วยให้เราได้แนวทางเบื้องต้นที่เหมะสมกับตัวเรา
นอกจากนี้อีกแนวทางคือการออมต่อไป โดยเฉพาะในกรณีที่ผลตอบแทนในเวลาที่เกษียณเกิดความผันผวนมาก
💡 การออมเพิ่ม เพื่อบรรลุเป้าหมายการเกษียณอายุ
1
เช่นเดียวกับการวางแผนการออมเพื่อการเกษียณของทุกคน กบข เปิดโอกาสให้สมาชิก สามารถออมเงินเพิ่มอีก 1%-12% ของเงินเดือน
เราควรศึกษาเพื่อหาเป้าหมายการเกษียณอายุ และวางแผนการออมการลงทุนให้บรรลุเป้าหมายของเรา การออมเพิ่มที่เหมาะสมจะช่วยให้เรามีความพร้อมในการเกษียณอายุ มีวินัยในการออม มีผลตอบแทนการลงทุนที่ดี รวมทั้งมีสิทธิลดหย่อนทางภาษี
นอกจากทางเลือกการออมเพิ่มกับ กบข ข้าราชการยังสามารถออมเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมกับ RMF หรือลงทุนในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมกับตัวเราเอง
เป้าหมายการออมเพื่อการเกษียณอายุของข้าราชการไทยอาจไม่ไกลเกินเอื้อมนัก เพราะยังมีเงินบำนาญจากรัฐที่จะได้รับไปตลอดอายุขัย แต่ก็สามารถสร้างการออมเพื่อการเกษียณที่มีคุณภาพอย่างที่ตนเองต้องการได้ครับ เพียงแต่ทำความเข้าใจ สร้างวินัยการเงิน และลงมือทำ ขอเป็นกำลังใจให้กับสมาชิก กบข ทุกคนครับ
ขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาถึงช่วงท้ายของบทความที่ยาวมากนี้ครับ หากมีความเห็นหรือประสบการณ์ในเรื่องนี้ สามารถแชร์แลกเปลี่ยนครับ ขอบคุณครับ
แหล่งที่มาของข้อมูล
จำนวนข้าราชการ และข้าราชการบำนาญ : https://mgronline.com/daily/detail/9620000036670
หมายเหตุ : ข้อมูลบางส่วนมาจากการนำข้อมูลหลายๆ แหล่งมาประมวลร่วมกัน จึงอาจไม่ตรงกับข้อมูลจริงทั้งหมด ไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา