6 มิ.ย. 2020 เวลา 04:00 • กีฬา
ริคาร์โด้ กาเรก้า : โค้ชฟุตบอลทีมชาติเปรู ผู้โดน ‘ปาโบล เอสโคบาร์’ สั่งฆ่า
หากวันหนึ่งมีคนเดินมาบอกว่า คุณตกเป้าหมายสังหารของเจ้าพ่อยาเสพติด คุณจะรู้สึกอย่างไร?
หลายคนอาจรีบแจ้งตำรวจให้มาคุ้มกัน หลายคนอาจนอนไม่หลับจากภาวะวิตก ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรหากคุณจะทำอย่างนั้น อันที่จริง นี่เป็นสิ่งที่ควรจะทำด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นอันตรายถึงชีวิต
เรื่องดังกล่าวคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับ ริคาร์โด กาเรก้า เฮดโค้ชผู้กำลังเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้ฟุตบอลเปรู ที่ครั้งหนึ่งเคยใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ทั้งในและนอกสนามฟุตบอลของทวีปอเมริกาใต้
เขารอดชีวิตจากการตกเป็นเป้าหมายของ ปาโบล เอสโคบาร์ ได้อย่างไร? ติดตามเรื่องราวอันน่าเหลือเชื่อไปพร้อมกัน
คู่หูมาราโดน่า
เส้นทางในวงการฟุตบอลของ ริคาร์โด กาเรก้า เริ่มต้นขึ้นมาได้อย่างน่าประทับใจตั้งแต่ต้น เขาคือนักเตะเยาวชนของทีมโบคา จูเนียร์ส หนึ่งในสองสโมสรฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศอาร์เจนติน่า ก่อนเลื่อนขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ในวัย 20 ปี
Photo : www.americatv.com.pe
ปี 1981 หลังเลื่อนขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ได้หนึ่งปี กาเรก้าถูกส่งไปยืมตัวกับสโมสรซาร์มิเอนโต้ ทำให้เขาพลาดในการมีส่วนร่วมกับฤดูกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโบคา จูเนียร์ส เมื่อดาวรุ่งฝีเท้ามหัศจรรย์ ดีเอโก้ มาราโดน่า ระเบิดฟอร์มจนคว้าแชมป์เมโตรโปลิตาโน (Metropolitano Championship) มาครองได้สำเร็จ
แม้จะคว้าแชมป์เมโตรโปลิตาโน แต่ภารกิจของโบคา จูเนียร์ส ในฤดูกาลปี 1981 ยังไม่จบ เพราะระบบการแข่งขันของฟุตบอลลีกอาร์เจนติน่า ระหว่างปี 1967-1985 แบ่งการแข่งขันเป็นสองช่วง เรียกว่า การชิงแชมป์เมโตรโปลิตาโน และ การชิงแชมป์นาซิอองนาล (Nacional championship)
(อธิบายเพิ่มเติมให้เห็นภาพโครงสร้างการแข่งขันของฟุตบอลลีกอาร์เจนน สมัยนั้น คือ การแข่งขันแบบเมโตรโปลิตาโน เป็นการแข่งขันแบบลีกตามปกติทั่วไป ส่วนการแข่งขันแบบนาซิอองนาล แบ่งทีมเป็นกลุ่มย่อย เพื่อชิงแชมป์แบบทัวร์นาเมนต์ แต่ละรายการใช้เวลาแข่งขันครึ่งปี โดยไม่กำหนดตายตัวว่ารายการใดแข่งก่อนหลัง)
1
กาเรก้าไม่ต้องรอโอกาสนานในการพิสูจน์ตัวเอง หลังถูกปล่อยไปยืมตัวเพียงครึ่งปี เมื่อโบคา จูเนียร์ ตัดสินใจดึงตัวเขากลับสู่สโมสร เพื่อรับบทเป็นกองหน้าตัวสำรองของมาราโดน่า ในการแข่งขันนาซิอองนาล ในช่วงครึ่งหลังของปี 1981
การแข่งขันนาซิอองนาล ปี 1981 นี้เอง กาเรก้าพิสูจน์ว่าตัวเขามีค่าพอจะเล่นให้กับเสื้อสีน้ำเงิน-เหลืองของโบคา เขายิงไป 8 ประตูในการแข่งขันดังกล่าว กาเรก้าก้าวขึ้นมาเป็นอาวุธหลักของสโมสร เคียงคู่กับดีเอโก้ มาราโดน่า
Photo : Nestor Lauman
การแข่งขันนัดหนึ่งในศึกนาซิอองนาล ปี 1981 คือแมตช์ที่กาเรก้าและมาราโดน่า ไม่เคยลืมเลือน เขาลงเล่นศึกซูเปอร์กลาซิโก้ เจอกับคู่ปรับตลอดการ สโมสรริเวอร์ เพลต กาเรก้า และ มาราโดน่า แบ่งกันซัดคนละลูก แต่ยังไม่เพียงพอให้ทีมคว้าชัยชนะ โบคา จูเนียร์ แพ้ไปด้วยผลการแข่งขัน 3-2 และผลการแข่งขันนัดดังกล่าว ทำให้พวกเขาพลาดแชมป์นาซิอองนาลแก่ ริเวอร์ เพลต
ความแค้นที่ถูกสะสมไว้ ระเบิดออกมาในการแข่งขันนาซิอองนาล ปี 1982 เมื่อโบคา จูเนียร์ส บุกไปเอาชนะริเวอร์ เพลต ถึงบ้าน ด้วยผลการแข่งขัน 5-1 โดยกาเรก้าจัดการยิงไปสองประตูในเกมดังกล่าว เขาพิสูจน์ว่าตัวเองดีพอไม่แพ้มาราโดน่า
เมื่อผู้บริหารสโมสรเห็นความจริงดังกล่าว พวกเขาไม่รีรอที่จะเขี่ยตัวปัญหาอย่างมาราโดน่าทิ้ง เขาปล่อยตัวเสื้อเตี้ยให้กับบาร์เซโลน่า ในช่วงหน้าร้อนปี 1982 เพื่อมอบบทบาทดาวยิงหมายเลขหนึ่งในถิ่นลา บอมโบเนร่า ให้แก่กาเรก้าเพียงผู้เดียว
เขาตอบแทนความไว้ใจของผู้บริหารและแฟนบอลได้อย่างเต็มที่ จากผลงานการลงสนาม 165 เกม ยิงไป 65 ประตู จนได้รับฉายาจากแฟนโบคาว่า “ไอ้เสือ” (Tigre) แม้จะขัดกับรูปร่างที่ผอมแห้งแรงน้อย จนไม่น่าเล่นกีฬาได้ของเขา
ความสำเร็จส่วนตัวอาจทำให้หลายคนพอใจ แต่ไม่ใช่กับกาเรก้า ตั้งแต่เขากลับมาสู่ทีมในปี 1981 โบคา จูเนียร์ส ไม่เคยคว้าแชมป์ลีกอาร์เจนติน่าได้เลย เขาต้องการความเปลี่ยนแปลง เพื่อแสวงหาความสำเร็จที่มากกว่านี้
ปี 1985 กาเรก้าจึงตัดสินใจทำในสิ่งที่แฟนโบคา จูเนียร์ส ทุกคนคาดไม่ถึง
ไอ้ขี้โรคทรยศ
ในช่วงเวลาที่โบคา จูเนียร์ส ตกต่ำ สโมสรคู่ปรับตลอดกาลของพวกเขา ริเวอร์ เพลต ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ไม่แพ้กัน นับตั้งแต่พวกเขาก้าวไปคว้าแชมป์นาซิอองนาล ปี 1981 ริเวอร์ เพลต ไม่สามารถกลับไปคว้าแชมป์ลีกอาร์เจนติน่าได้อีกเลย
ริเวอร์ เพลต ต้องการความเปลี่ยนแปลงเพื่อกู้ชื่อเสียงของสโมสรคืนมาอีกครั้ง พวกเขาแต่งตั้งชายที่ชื่อว่า ฮิวโก ซานติยี่ ขึ้นเป็นประธานสโมสรคนใหม่ ผู้มีวิสัยทัศน์และนโยบายสุดแปลกประหลาด ที่จะเปลี่ยนเรื่องราวของโบคา จูเนียร์ส และริเวอร์ เพลต ไปตลอดกาล
นโยบายที่ว่าของซานติยี่ คือการซื้อนักเตะจากโบคา จูเนียร์ส พร้อมกันถึงสองคน ไม่มีประธานสโมสรคนใดกล้าทำแบบนี้มาก่อน เนื่องจากแฟนบอลเสื้อแดง-ขาว ไม่มีทางยอมรับนักเตะที่ย้ายมาจากฝั่งตรงข้ามได้ แต่ซานติยี่มองว่าถึงเวลาแล้วที่สโมสรต้องกล้าคิดใหม่ทำใหม่ เพื่อสร้างยุคทองของสโมสรใหม่อีกครั้ง
ต้นปี 1985 ริเวอร์ เพลต เปิดตัวสองนักเตะที่ดีที่สุดของโบคา จูเนียร์ส เข้าเป็นสมาชิกใหม่ของทีม คนแรกคือออสการ์ รูกเกรี ปราการหมายเลขหนึ่งของโบคา อีกรายคือ ริคาร์โด กาเรก้า ศูนย์หน้าตัวความหวังแห่งลา บอมโบเนร่า
Photo : www.pasionfulbo.net
ทันทีที่ข่าวการย้ายทีมเข้าสู่หูของแฟนโบคา ความโกรธแค้นมากมายเกิดขึ้นต่อกาเรก้า ทันทีที่การแข่งขันฤดูกาล 1985 เริ่มขึ้น เสียงเพลงดังกระหึ่มไปทั่วสนามลา บอมโบเนร่า พวกเขาจงใจร้องเพลงเพื่อรำลึกถึงกาเรก้า แต่เพลงดังกล่าวไม่ได้สรรเสริญความสามารถของเขาอีกต่อไป
“ไอ้เสือ” ที่แฟนโบคา จูเนียร์ส หลงรักและศรัทธาได้จากไปแล้ว เขาหักหลังจิตวิญญาณของผู้ยากไร้ในบัวโนส ไอเรส ไปอยู่กับทีมมหาเศรษฐีร่วมเมือง แฟนโบคาตั้งฉายาใหม่ให้กาเรก้าว่า “ไอ้ขี้โรค” (Flaco) และมันเป็นฉายาติดตัวเขานับตั้งแต่นั้น
“ผมคิดว่าคิดว่านี่คือกลาซิโกที่น่าตื่นเต้นที่สุดในโลก พวกเขาอาจพูดว่ามันคือการเจอกันระหว่าง บาร์เซโลน่า และ เรอัล มาดริด แต่ผมไม่คิดว่าพวกเขาจะมีความบ้าคลั่งในรูปแบบเดียวกันกับ โบคา และ ริเวอร์” กาเรก้าพูดถึงความขัดแย้งของซูเปอร์กลาซิโก
ความรัก, ความบ้าคลั่ง หรือ ความเกลียดชัง กาเรก้าได้สัมผัสจากทั้งสองฝ่าย และมันส่งผลถึงฟอร์มการเล่นของเขาในริเวอร์ เพลต เขาตกเป็นสำรองยาว ลงเล่นเพียง 12 นัด และยิงไป 4 ประตู
เพื่อหนีจากความขัดแย้งทางฟุตบอลในบ้านเกิด กลางปี 1985 กาเรก้าตกลงย้ายไปร่วมทีมอเมริกา เด กาลี หนึ่งในทีมฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศโคลอมเบีย เพื่อหลีกหนีจากเหตุการณ์วุ่นวายในอาร์เจนติน่า
การตัดสินใจครั้งนี้ของกาเรก้า เขาไม่รู้เลยว่ามีอันตรายจนเกือบพรากชีวิตของเขารออยู่…
1
เหยื่อของสงคราม
อันตรายที่เข้ามาคุกคามชีวิตของกาเรก้า ไม่ได้มาจากแฟนบอลเหมือนในอาร์เจนติน่า สโมสรอเมริกา เด กาลี ไม่ได้มีคู่ปรับทางฟุตบอลที่จงเกลียดจงชังขนาดนั้น แต่ในทางกลับกัน พวกเขามีความเกลียดชังในรูปแบบที่ใหญ่กว่า นั่นคือ “สงครามยาเสพติด”
Photo : @AmericadeCali
เมืองกาลีที่กาเรก้าไปอยู่ ถูกปกครองด้วยแก๊งยาเสพติดชื่อว่า “องค์กรกาลี” (Cali Cartel) ซึ่งถูกปกครองโดยพี่น้องโรดริเกซ พวกเขาคือพ่อค้ายาเสพติดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเขตโคลอมเบียใต้
ข้ามฝั่งขึ้นไปทางเหนือยังเมืองเมเดยิน เมืองขนาดใหญ่อันดับสองของประเทศโคลอมเบีย มีแก๊งยาเสพติดอีกหนึ่งแก๊งชื่อว่า “องค์กรเมเดลิน” นำโดยปาโบล เอสโคบาร์ เจ้าพ่อธุรกิจยาเสพติดหมายเลขหนึ่งของโลกในยุค 80
ปัญหาทางธุรกิจนำมาซึ่งสงคราม มีคนตายไม่เว้นแต่ละวันจากการปะทะกันของทั้งสองฝ่าย เรื่องบานปลายเกิดขึ้น เมื่อปี 1988 องค์กรกาลีทำปฏิบัติการคาร์บอมบ์ ส่งรถบรรทุกระเบิดพุ่งชนบ้านของเอสโคบาร์ ในเมืองเมเดยิน
Photo : www.apnews.com
ผลคือมีผู้เสียชีวิตสองราย ผู้บาดเจ็บอีกห้าราย บ้านของเอสโคบาร์พังยับ เขาโกรธถึงขีดสุดที่คู่แข่งทำร้ายครอบครัว และบุกมาหยามหน้าศักดิ์ศรีของเขาถึงถิ่น เอสโคบาร์ต้องการทำให้เมืองกาลีอับอายถึงขีดสุด และไม่มีสิ่งใดที่จะสำคัญไปกับชาวอเมริกาใต้ มากกว่าฟุตบอล
1
“เอสโคบาร์คิดถึงการใช้คาร์บอมบ์เล่นงานสโมสรกาลี เหมือนกับที่องค์กรกาลีเล่นงานครอบครัวของเขา” จอน วาสเกซ อดีตนักฆ่ามือขวาของเอสโคบาร์ เปิดเผยถึงแผนการในช่วงเวลาดังกล่าว
“ริคาร์โด กาเรก้า อยู่ในสายตาของปาโบล เอสโคบาร์ เสมอ อันที่จริงนักเตะทุกคนของอเมริกา เด กาลี อยู่ในความคิดของเขา ตอนนั้นเรากำลังอยู่ในภาวะสงคราม”
กาเรก้ากลับมามีผลงานที่ยอดเยี่ยมอีกครั้งในโคลอมเบีย เขาพาต้นสังกัดคว้าแชมป์ลีกสองสมัยซ้อน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก หากเขาจะตกเป็นเป้าหมายของเอสโคบาร์ ในเมื่อกาเรก้า เป็นนักเตะตัวหลักของทีมเสียขนาดนั้น
จนแล้วจนรอด ไม่มีเหตุการณ์คาร์บอมบ์พุ่งชนสนามซ้อมหรือสโมสรอเมริกา เด กาลี ความหลงใหลในกีฬาลูกหนังของเอสโคบาร์ ทำให้เขาได้สติ และมองว่าเรื่องนี้ ไม่เกี่ยวกับบรรดาพ่อค้าแข้งแม้แต่น้อย
1
Photo : www.businessinsider.co.za
“ความรักที่เอสโคบาร์มีต่อกีฬาฟุตบอล รักษาชีวิตของริคาร์โด กาเรก้า เอาไว้ ก็นะ ทั้งชีวิตของเขาและนักเตะอีกหลายคนของอเมริกา เด กาลี” วาสเกซกล่าวกับ เอล ป๊อบปูล่า
2
แต่จนแล้วจนรอด ความแค้นของเอสโคบาร์หนีไม่พ้นวงการฟุตบอลจนได้ วาสเกซเปิดเผยว่าเอสโคบาร์ เคยลักพาตัวนักเตะบางคน เพื่อส่งคำเตือนถึงองค์กรกาลี และสังหารครอบครัวของเปโดร ซามิเอนโต้ นักเตะของอเมริกา เด กาลี ในขณะนั้น โทษฐานไม่ให้ความร่วมมือกับเขา
“สงครามระหว่างแก๊งทำร้ายฟุตบอลโคลอมเบียมากจริงๆ” วาสเกซกล่าวทิ้งท้ายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น
1
ดวงแข็ง หรือ ใจแข็ง
เวลาผ่านไป 30 ปี นับตั้งแต่เอสโคบาร์วางแผนสังหาร ริคาร์โด กาเรก้า เจ้าตัวยอมรับว่าเพิ่งได้รู้ความจริงเมื่อปีที่ผ่านมา ว่าเขาเกือบไม่มีชีวิตรอดออกจากประเทศโคลอมเบีย จากการเปิดเผยของวาสเกซที่พ้นโทษจำคุกออกมาไม่นาน
Photo : www.beinsports.com
อดีตอันน่าหวาดกลัว อาจทำให้หลายคนเสียวสันหลังจนนอนไม่หลับ แต่ไม่ใช่กับกาเรก้า เขาไม่มีความเห็น หรือแม้กระทั่งความรู้สึกใดต่อการตกเป็นเป้าหมาย ของราชายาเสพติดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
“เรื่องพวกนี้คือบางสิ่งในชีวิต ที่ตัวผมเองไม่มีคำตอบใดให้กับมัน” กาเรก้ากล่าว
“ถ้าคุณจะให้ผมพูดถึงประเทศโคลอมเบีย ผมคงบอกแค่ว่าผมมีหลายปีที่น่ามหัศจรรย์ในชีวิตที่นั่น”
กาเรก้าแสดงให้เห็นถึงจิตใจที่แน่วแน่ในการทำงาน เขาไม่สนใจเรื่องนอกสนามใดทั้งนั้น สงครามยาเสพติดในโคลอมเบีย หรือ ความเกลียดชังจากแฟนบอลในอาร์เจนติน่า กาเรก้าแสดงความคิดเห็นชัดเจนว่ามันไม่มีความสำคัญอะไรกับเขาเลย
Photo : ar.marca.com
“แฟนบอลโบคาเคยเข้ามาหาผมแล้วบอกว่า ถ้าผมสวมเสื้อโบคา แล้วแสดงให้ทุกคนเห็นว่าผมยังสนับสนุนพวกเขาอยู่ พวกเขาจะให้อภัยที่ผมย้ายไปเล่นกับริเวอร์ เพลท” กาเรก้ากล่าว
“ผมเข้าใจจุดประสงค์ของพวกเขานะ แต่ผมไม่ทำแบบนั้นหรอก เพราะว่าผมไม่เคยมีส่วนร่วมอะไรกับแฟนบอลอยู่แล้ว ต่อให้พวกเขาจะเกลียดผมทั้งสองฝ่ายก็เถอะ”
อาจเป็นคำตอบที่ใจร้าย แต่นั่นคือเหตุผลให้กาเรก้ายืนหยัดได้จากทุกวันนี้ หลังรอดประสบการณ์เฉียดตายในฐานะนักเตะ กาเรก้ากำลังทำงานในฐานะเฮดโค้ช เพื่อเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับทีมชาติเปรู
ปี 2018 เขาพาทีมชาติเปรูเข้าสู่การแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกในรอบ 36 ปี และสานต่อความยิ่งใหญ่ของตัวเองด้วยการเข้าชิงแชมป์ โคปา อเมริกา 2019 หากพวกเขาเอาชนะทีมชาติบราซิลในการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ กาเรก้าจะพาเปรูคว้าแชมป์ทวีปเป็นครั้งแรกในรอบ 44 ปี
“การเอาชนะบราซิลเป็นเรื่องยาก แต่เกมนี้จะเป็นการแข่งขันที่แตกต่างออกไป” กาเรก้าพูดถึงความพร้อม ก่อนการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตการคุมทีมของเขา
“เราทำตัวติดดินเสมอ เราพยายามทำงานหนักในเกมที่เราไม่ได้เป็นต่อ และเรื่องนั้นทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นไปเรื่อยๆ”
ความแข็งแกร่งไม่ได้สร้างขึ้นเพียงข้ามวัน กาเรก้ารู้เรื่องดังกล่าวดี เส้นทางฟุตบอลท่ามกลางความขัดแย้งตลอดชีวิตของเขา สอนให้กาเรก้าแข็งแกร่ง และพร้อมกล่าวผ่านทุกอุปสรรค เพื่อคว้าความสำเร็จที่รออยู่เบื้องหน้าหลังจากนี้
กาเรก้ารอดชีวิตจากเอสโคบาร์เพราะดวงแข็ง? อาจจะใช่ แต่หากให้เลือกเพียงหนึ่งเหตุผลที่กาเรก้า รอดชีวิตจากความเกลียดชังและประสบความสำเร็จได้แบบทุกวันนี้ เราขอเลือกคำว่า “ใจแข็ง” เป็นคำตอบสุดท้าย
บทความโดย ณัฐนันท์ จันทร์ขวาง
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา