6 มิ.ย. 2020 เวลา 10:32
(3) ค่านิยมก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นจุดสนใจของนิยายชุดนี้ เพราะความเป็นพีเรียดผสมกับความเป็นเชื้อพระวงศ์ของตัวเอก ซึ่งหลายๆคนคงรู้กันดีว่าละครจักรๆวงศ์ๆของไทย มักจะให้พระเอกเป็นเชื้อพระวงศ์สูงศักดิ์แต่นางเอกดันเป็นคนธรรมดาซะงั้น กลายเป็นอุปสรรคของเรื่องคือความแตกต่างของชนชั้นและม่านประเพณีที่ส่งผลต่อความรัก(แต่เรื่องความรักจะกล่าวในตอนถัดไป) ความเป็นผู้หญิงถูกกดให้ต่ำกว่าผู้ชาย ผู้เขียนไม่ได้บอกว่านักเขียนเขาตั้งใจกดความเป็นผู้หญิงนะ แต่เพื่ออรรถรสของนิยายจึงต้องมีเรื่องราวเช่นนั้น ถึงอย่างนั้นทุกท่านของทราบดีว่าผู้หญิงมักถูกตีกรอบให้ภายใต้คำว่า"กุลสตรี" ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าในสมัยนั้นค่านิยมของผู้หญิงควรเป็นแบบไหน อย่างในยุคคุณชายที่เริ่มมีอารยธรรมตะวันตกเข้ามาความเป็นผู้หญิงก็ถูกคาดหวังขึ้นไปอีกขั้นจากแค่เป็นแม่บ้าน เป็นช้างเท้าหลัง ไม่ต้องเรียนสูงมาก แต่ผู้หญิงในสมัยพ.ศ.2500 ควรมีการศึกษา เป็นผู้หญิงสมัยใหม่แต่ขณะเดียวกันแม้ว่าคุณจะแต่งตัวทันสมัยแค่ไหน มีชาติตระกูลสสูงส่งหรือมีการศึกษา คุณก็ยังต้องอยู่ในกรอบของคำว่า "กุลสตรีที่ดี"
“สำหรับกรองแก้วหลานสะใภ้คนที่สามของฉัน ถึงแม้ว่าเธอจะไม่มีเชื้อมีสาย แต่ก็มีตำแหน่งเป็นถึงนางสาวศรีสยามซึ่งทุกคนยอมรับ เป็นกุลสตรีที่ประพฤติปฎิบัติตนอย่างเหมาะสมอยู่ในกรอบประเพณีอันดีงาม และมีมานะอดทนที่จะปรับปรุงตัวให้ทัดเทียมสามีด้วยการเรียนต่อพยาบาลสมกับที่คุณชายพุฒิภัทรเป็นถึงนายแพทย์ เธอคงเห็นแล้วว่าสะใภ้ของจุฑาเทพทุกคนมีคุณสมบัติพรั่งพร้อมด้วยกันทั้งสิ้น” (แพรณัฐ, คุณชายรณพีร์, น.247)
สุภาพบุรุษจุฑาเทพ ตอน คุณชายรณพีร์
เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงคุณสมบัติของผู้หญิงของยุคนั้นได้ดีทีเดียว ซึ่งนางเอกทั้ง 5 ของคุณชายก็เป็นเหมือนตัวแทนของผู้หญิงในยุคนั้นอย่างหม่อมหลวงระวีรำไพ จากเรื่องคุณชายธราธร ที่มียศเป็นหม่อมหลวง ได้เรียนในมหาวิทยาลัยและเป็นผู้หญิงยุคใหม่ มีทั้งความมั่นใจ การศึกษาดี ความสามารถรอบด้าน แต่เธอก็ยังไม่สามารถตัดสินใจเรียนได้อย่างที่ใจต้องการ
จากเว็บไซต์ MGR online (2556) ในบทความสุภาพบุรุษจุฑาเทพ คุณชายธราธร ตอนที่ 2 บอกว่า “จริงๆปรางชอบประวัติศาสตร์แต่คุณพ่อบอกว่าผู้หญิงเดินทางออกนอกพื้นที่ลำบาก ท่านก็ไม่อนุญาตค่ะ” แม้ว่าอาชีพนักโบราณคดีจะเป็นสิ่งที่เธอใฝ่ฝันแต่ความเป็นลูกที่ดีต้องเชื่อฟังพ่อแม่และความเป็นผู้หญิงที่ถูกมองว่าอ่อนแอ ข้อแม้เต็มไปหมด ก็ทำให้เธอไม่ได้เดินตามความฝันตัวเอง
หรือบทสนทนาในตอนของคุณชายปวรรุจ “คุณชายจะรังเกียจลูกฉันหรือไม่ ที่เคยผ่านการหมั้นหมายเป็นม่ายขันหมากมาก่อน” (ร่มแก้ว, 2554, น.315) เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าผู้หญิงที่มีคู่หมั้นแล้วแต่ถูกถอนหมั้น ไม่ว่าจะเหตุผลอะไรก็ตามก็โดนตราหน้าว่าเป็นม่ายขันหมาก แต่ผู้ชายกลับลอยตัวไม่โดนว่าอะไร
สุภาพบุรุษจุฑาเทพ ตอน คุณชายปวรรุจ
จากตัวอย่างที่กล่าวมาก็เป็นสิ่งที่สะท้อนได้ว่าผู้หญิงในยุคนั้นถูกสังคมจำกัดทั้งความคิด ความฝัน ความก้าวหน้าและมักจะโดนดูถูกว่าทำตัวไม่เหมาะสมหากปฎิบัติตัวผิดแผกไปจากค่านิยมของสังคมแต่ค่านิยมของผู้หญิงก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆดังนั้นผู้เขียนจึงเชื่อว่าถ้าผู้หญิงทุกคนมั่นใจในตัวเอง เราเองก็ไม่ได้ด้อยกว่าใคร นอกจากค่านิยมเรื่อง ความเป็นผู้หญิงในยุคพ.ศ.2500แล้วยังมีค่านิยมอย่าง การคลุมถุงชน การแต่งงานกับคนชนชั้นเดียวกัน การยึคมั่นในจารีตประเพณีและความรักชาติ เป็นต้น การอ่านนิยายนอกจากได้ความน่ารักของเรื่องราวความรักแล้ว เราก็ยังได้สัมผัสกับมนต์เสน่ห์ของยุคเก่า ทำให้เราเข้าใจความคิดของคนสมัยก่อนที่ถึงจะขัดใจเราไปบ้างแต่ความคิดเหล่านั้นก็พัฒนามาเป็นความคิดในปัจจุบัน ทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
อ้างอิง
โฆษณา