6 มิ.ย. 2020 เวลา 03:53
บันทึกธรรม บทที่ 19
วันนี้เป็นวันเพ็ญเดือน 7 (ตรงกับเดือน 9 เหนือ) อีก 1 เดือนก็จะเข้าพรรษา
เมื่อวานเป็นวันโกน การปลงผมของพระมีข้อดีหลายอย่าง อันแรกก็คือทำให้ปลงในร่างกาย อันดับต่อไปคือไม่ให้เป็นภาระในการดูแล ไม่ต้องเลือกทรงผม เลือกสีผม ไปไหนไม่ต้องเซท ซอย ตัด ย้อม ยืด หวี ไม่ต้องหลงในทรงผม
พอบวชมานานๆ หากผมเริ่มยาวจะคันศีรษะ หนักหัว ถ้ามีอาการเหล่านี้แสดงว่าใกล้วันโกนแล้ว ตอนบวชใหม่ๆ ก็ขอสามเณรรุ่นพี่เป็นคนโกนให้ ผลัดเปลี่ยนกันโกนบ้าง บางคนมือเบามาก โกนไม่รู้สึกเจ็บ แต่บางคนมือหนักจะเจ็บ โกนเสร็จจะแสบไปทั้งหัว
สมัยก่อนโกนผมเสร็จชอบแกล้งกันโดยการเอาผ้าขนหนูไปคลุมหัวเพื่อนแล้วกระตุก คอแทบหัก เพราะเส้นผมเป็นตอจะติดกับผ้าขนหนู พอโดยกระชากแรงๆ เรียกว่า ล้มทั้งยืน นึกถึงตอนนี้แล้ว น่ากลัวอยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่เคยมีข่าวพระเณรมรณภาพด้วยการเล่นแบบนี้นะ
พออาตมาบวชเป็นพระ (เป็กตุ๊) คนที่ปลงผมให้อาตมาคือ มงคล พนาพงษ์ไพร พอมงคลกลับไปอยู่บ้านที่สบเมย ก็เริ่มฝึกปลงผมเอง ครั้งแรกเลือดอาบไปทั้งหัว "วีรบุรุษ 100 แผล" โกนเองได้สัก 2-3 รอบ ก็เริ่มดีขึ้น จากนั้นก็โกนผมเองมาตลอด มันสบายใจดี ยิ่งตอนที่อาตมาไปอาศัยอยู่ที่วัดหาดเชี่ยว (ฝั่งวิปัสสนา) ตอนนั้นอยู่คนเดียว เตชินก็โกนไม่เป็น โชคดีที่ฝึกซ้อมมาก่อนจึงไม่มีปัญหาอะไร ไปอยู่ที่นั่น 2 ปี ได้ฝึกฝนฝีมือในการปลงผมด้วยตนเองจนชำนาญ
ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com
การปลงผมเองจะต้องใช้สติและสมาธิอย่างมหาศาล จิตใจอย่าวอกแวก อย่าเผลอไปคิดเรื่องอื่นเด็ดขาด ไม่งั้นเลือดอาบหัว อาตมาฝึกแบบไม่ดูกระจก เพราะถ้าดูกระจกภาพมันกลับ วางมีดวางมือไม่ถูก ยิ่งดูยิ่งงง วิธีที่ทำคือใช้มือซ้ายคลำศีรษะเพื่อให้รู้แนวผม แล้วมือขวาถือมีด โกนไปตามมือที่คลำนั้น ใช้เวลาสัก 10 นาทีก็เสร็จ จะยากหน่อยก็ตรงบริเวณใกล้ๆ หูด้านซ้าย เพราะต้องเอี้ยวมือขวาไปโกน ไม่ถนัดมือ โกนไม่ระวัง หูอาจหาย
การโกนผมต้องโกนไปตามแนวเส้นผม ดูจากขวัญกลางกระหม่อม หากโกนย้อนจะเจ็บ วางใบมีด 45 องศา ลากใบมีดเบาๆ ไปตามแนวเส้นผม จากกลางกระหม่อมลงมาจนสุดตีนผม แล้วกลับไปเริ่มใหม่ เสร็จแล้วโกนคิ้ว โกนหนวดให้เรียบร้อย
ใบมีดที่ใช้โกนนั้นต้องเป็นใบมีดใหม่เท่านั้น แกะออกจากกล่องเลย ยี่ห้อที่ใช้กันโดยทั่วไปคือ "ขนนก" ผลิตมาจากประเทศญี่ปุ่น ยี่ห้ออื่นอาจใช้โกนหนวดได้ แต่ปลงผมไม่ได้ ความคมไม่พอ
เวลาจะโกนต้องสระผมและพอกยาสระผมไว้แบบนั้น ไม่ต้องล้างออก จะทำให้ผมนิ่ม โกนง่าย แต่ยาสระผมมักไหลเข้าตา ทำให้แสบมากอักโขอยู่ ก็ต้องคอยระวังเอา ค่อยๆ ซับไปด้วยหากรู้สึกมีน้ำไหลมาใกล้ตา แต่หากล้างออกจะทำให้ผมแห้งและแข็ง เวลาโกนจะเจ็บมาก
ฝากบอกผู้ที่จะมาบวช บางคนคิดว่าไปตัดผมสั้นๆ มา โดยคิดว่าจะทำให้โกนง่าย คุณคิดผิดนะ ยิ่งสั้นยิ่งเจ็บ เพราะมันเป็นตอแข็ง ปล่อยยาวๆ มาแบบนั้น โกนง่ายกว่า ยาวแค่ไหนก็โกนง่าย อย่าผมสั้นติดหนังหัวมาก็พอ
ช่วงนี้อาตมาให้หลวงพี่โรจน์ปลงผมให้ นานๆ จะปลงเองที (บางครั้งแกไปเรียนกลับค่ำ ต้องปลงเอง) เพราะมือสั่น มือไม่นิ่งเหมือนเดิมแล้ว ยกแขนนานๆ ก็แขนล้า สังขารคงเสื่อมไปมากแล้ว 555
แม้หลายวัดจะเปลี่ยนเป็นบัตตาเลี่ยน แต่ที่วัดพระธาตุศรีมงคล อาตมายังให้ใช้มีดโกนอยู่ มันเปิง
วันเวลาช่างรวดเร็ว อาตมาโกนผมไปทั้งหมด 351 ครั้งแล้ว นับจากบวชเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2534 ปีนี้เป็นปีที่ 29 ปีหน้า (30 มีนาคม 2564) อาตมาตั้งใจทำบุญครบ "3 ทศวรรษในร่มเงาพระศาสนา" ญาติโยมทั้งหลายก็รออ่านรายละเอียดของงาน ซึ่งจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะๆ
ว่าด้วยการปลงผมเสียยาวเลย นี่หละที่เขาว่า "บวชนานนิทานเยอะ" หากจะว่าเรื่องอื่นอีกก็กลัวจะยาว
โฆษณา