6 มิ.ย. 2020 เวลา 09:31 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
JURASSIC COAST : สวรรค์ของนักขุดค้นฟอสซิล
บนชายหาดยาวเหยียดของแนวชายฝั่งเกาะอังกฤษ นักขุดฟอสซิลทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพ ค้นพบขุมทรัพย์ทางบรรพชีวินอายุกว่า 200 ล้านปี
แม้จะเป็นเวลา 17.30 น. แต่วันนั้นเพิ่งผ่านพ้นปีใหม่มาไม่นาน ทั้งชายหาด Charmouth ในเขตมณฑล Dorset ประเทศอังกฤษจึงมืดสนิท มองเห็นแต่เพียงแสงวับแวมจากเมือง Lyme Regis ที่อยู่ไกลออกไป
แสงไฟฉายบนศีรษะของ James Carroll นักขุดค้นฟอสซิลผู้มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี สาดส่องไปทั่วพื้นหาด สำรวจอย่างละเอียดตั้งแต่ตะกอนกรวดทราย ไปจนถึงหินก้อนใหญ่
ทันใดนั้น Carroll ก็หยุดเดิน ก้มลงไปหยิบหินทื่อๆ สีเทาขมุกขมัว ขนาดเท่าผลเกรปฟรุ้ตขึ้นมา บรรจงแซะหินก้อนนั้นอย่างช่ำชองจนมันแตกเป็นสองเสี่ยง เผยให้เห็นขดก้นหอยของแอมโมไนต์อายุกว่า 190 ล้านปี ที่ซ่อนอยู่ข้างใน
ประมาณ 200 ล้านปีมาแล้ว แถบชายฝั่งทะเลบริเวณนี้ทั้งหมดจมอยู่ใต้มหาสมุทร ส่วนของพื้นดินในปัจจุบัน เวลานั้นยังอยู่แถวๆประเทศเม็กซิโก
กระแสน้ำอุ่นทำให้สิ่งมีชีวิตเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำ ตั้งแต่แอมโมไนต์ (สัตว์ในไฟลัมมอลลัสกา ไม่มีกระดูกสันหลัง ลำตัวซ่อนอยู่ในเปลือกหอยขดม้วน) ไปจนถึงสัตว์เลื้อยคลานดุร้ายลำตัวยาวกว่า 10 เมตร
วันเวลาผ่านไป น้ำทะเลถอยร่น เกิดการแปรสัณฐานของแผ่นธรณี แต่ตะกอนหินและดินโคลนจากก้นทะเลยังคงทับถมอยู่ที่เดิม
จากการกัดเซาะของน้ำทะเลและลมฝนเป็นเวลานาน ทำให้หน้าผาสูงที่ครั้งหนึ่งจมอยู่ใต้มหาสมุทร เต็มไปด้วยซากพืชซากสัตว์จากยุคดึกดำบรรพ์จำนวนมากมาย จึงมีการเรียกขานชายฝั่งนี้ว่า "Jurassic Coast"
Jurassic Coast มีความยาวถึง 155 กิโลเมตร กินพื้นที่ตั้งแต่มณฑล Dorset ไปจนถึงมณฑล Devon ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี 2001 และเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาของเหล่านักขุดค้นทางธรณีวิทยา บรรพชีวินวิทยา และนักเก็บสะสมฟอสซิล
สำหรับที่อื่นๆบนโลก ฟอสซิลทุกชิ้นจะถือว่าเป็นสมบัติของชาติ บางประเทศไม่อนุญาตให้ส่วนบุคคลหรือส่วนเอกชนครอบครองฟอสซิลเสียด้วยซ้ำ ซึ่งนับว่าทำความลำบากใจให้แก่นักขุดค้นฟอสซิลไม่น้อย
แต่ที่ Jurassic Coast กลับตรงกันข้าม มีฟอสซิลจำนวนมหาศาลถูกพัดขึ้นฝั่ง ก่อนที่จะถูกคลื่นกวาดซัดลงทะเลหายไปในวันเดียวกัน ฟอสซิลหลายชิ้นถูกคลื่นตีใส่ก้อนหินริมหาดจนแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แม้แต่นักวิทยาศาสตร์หรือนักบรรพชีวินก็ไม่อาจเก็บรักษาฟอสซิลทั้งหมดได้เลย
จึงเกิดไอเดีย "The Fossil Collecting Code" ที่จะดึงให้นักขุดค้นที่มีประสบการณ์มาช่วยค้นหาฟอสซิลเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยมีแนวทางจำกัดการครอบครองฟอสซิลของแต่ละบุคคล ซึ่งทำให้เกิดความสนอกสนใจจากนักท่องเที่ยวและประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อข่าวแพร่ออกไปในสื่อโซเชี่ยล และช่วงเวลาที่มีภาพยนต์เกี่ยวกับไดโนเสาร์ออกฉาย
"ประเด็นสำคัญของการให้ภาคประชาชนมาเข้าร่วม คือเราสามารถเก็บรักษาฟอสซิลสภาพสมบูรณ์ได้มากขึ้น" Phil Davidson หัวหน้าศูนย์มรดกโลกชายฝั่ง Charmouth ผู้พัฒนาโครงการกล่าว
The Fossil Collecting Code ในเขตชายฝั่งทางตะวันตกของมณฑล Dorset มีผลบังคับใช้ในพื้นที่หาดความยาว 17 กิโลเมตร ตั้งแต่เมือง Lyme Regis ไปจนถึงหมู่บ้านในตำบล Burton Bradstock ปัจจุบันมีการขยายโครงการไปยังชายฝั่งภาคตะวันออกของมณฑล Devon อีกด้วย
โครงการเริ่มต้นขึ้นในช่วงฤดูหนาวปี 1998 ภายหลังการหารือแบบบูรณาการของนักขุดฟอสซิล นักวิทยาศาสตร์ นักสะสม หน่วยงานราชการ และหน่วยงานทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีกฏเกณฑ์ให้ผู้ครอบครองหรือผู้ขุดค้น จะต้องเก็บรักษาชิ้นส่วนฟอสซิลเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ดู ห้ามนำไปทำลายหรือแยกชิ้นส่วนเด็ดขาด
ผู้ขุดค้นสามารถนำฟอสซิลชิ้นเล็กๆ หรือฟอสซิลธรรมดาทั่วไปกลับบ้านได้ แต่ต้องจัดทำเป็นคอลเล็กชั่น แยกประเภทหมวดหมู่ให้ชัดเจน หากประสงค์จะขายคอลเล็กชั่นนั้น จะต้องติดต่อไปยังพิพิธภัณฑ์ก่อนที่จะทอดขายสู่บุคคลทั่วไป และต้องบันทึกข้อมูลการขายรวมถึงข้อมูลผู้ซื้ออีกด้วย
ในแต่ละปี มีนักขุดค้นทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพนับร้อยหลั่งไหลไปยัง Jurassic Coast มีกลุ่มเฟซบุ้ค "The Dorset Fossil Hunters" สมาชิกกว่า 2,500 คนสำหรับร่วมแบ่งปันและช่วยระบุชนิดของฟอสซิลที่พบ มหาวิทยาลัยใกล้กับ Jurassic Coast มีจำนวนผู้ลงทะเบียนเรียนสาขาบรรพชีวินวิทยาเพิ่มเป็นสี่เท่านับตั้งแต่ปี 2000
ทุกๆวัน เมื่อไหร่ที่ศูนย์มรดกโลกชายฝั่ง Charmouth เปิดทำการ จะมีผู้คนพร้อมกับฟอสซิลมายืนรอลงทะเบียนนับร้อยราย ในแต่ละปี ฟอสซิลจากภาคประชาชนราว 20-30 ชิ้น กลายไปเป็นหลักฐานสำคัญทางบรรพชีวินวิทยา
"ฟอสซิลหลายชิ้นได้มาจากผู้เชี่ยวชาญก็จริง แต่ก็มีอีกหลายๆชิ้นที่เก็บได้จากมือสมัครเล่น บางคนไปเดินหาครั้งแรกก็เจอเลย" Davidson หัวหน้าศูนย์มรดกโลกชายฝั่ง Charmouth พูดด้วยรอยยิ้ม
เขาชี้ไปยังฟอสซิล Pholidophorus สภาพสมบูรณ์ ที่ฝังตัวแน่นอยู่ในหินปูนก้อนหนึ่ง "อย่างเจ้าปลานี่ก็ถูกพบโดยเด็กผู้หญิงอายุแค่ 5 ขวบเท่านั้นเองครับ ได้ลงข่าวหน้าหนึ่งของสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งชาติด้วย"
หากจะพูดถึงนักขุดค้นฟอสซิลที่ไม่ได้ร่ำเรียนอะไรมาก่อน คงต้องมี Mary Anning เป็นชื่อขึ้นมาอันดับแรก
ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 19 Mary Anning วัย 12 ปี และพี่ชายของเธอพบฟอสซิล Ichthyosaur สภาพสมบูรณ์เป็นครั้งแรกของโลก นอกจากนั้น Anning ยังใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเดินตามหาฟอสซิล จนมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโครงสร้างสัตว์ดึกดำบรรพ์ในระดับหนึ่ง (ซึ่งเวลานั้น ยังไม่เกิดคำว่า dinosaur เสียด้วยซ้ำ)
การค้นพบของเธอมีส่วนก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อแนวความคิดทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับชีวิตยุคก่อนประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ของโลก เธอกลายเป็นที่รู้จักดีในวงการธรณีวิทยา เป็นผู้ให้คำปรึกษาปัญหาด้านกายวิภาคศาสตร์ รวมทั้งเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมซากดึกดำบรรพ์ (via wikipedia) แต่ถึงกระนั้น โลกในศตวรรษที่ 18 ยังไม่ยอมรับคุณสมบัติ "ความเป็นผู้หญิง" และอาชีพ "เก็บของเก่าขายมาก่อน" Anning ไม่ได้รับเครดิตใดๆเลย จนกระทั่งเธอสิ้นชีวิตไปแล้ว
กลับไปที่ริมหาด... Carroll สำรวจฟอสซิลที่ตนค้นพบด้วยความพึงพอใจ ทั้งชีวิตเขาพบแอมโมไนต์มากมายจนจำไม่ได้ แต่ชิ้นนี้ดูน่าสนใจกว่าทุกที Carroll เก็บหินปูนชิ้นนั้นลงในกระเป๋า ก่อนมุ่งหน้าขึ้นไปยังชายฝั่ง
Carroll กลับไปที่สตูดิโอ ใช้เครื่องเป่าเศษหินออกหลังจากทำการกระเทาะตกแต่งเป็นอย่างดี Carroll จะขายฟอสซิลที่เก็บได้เป็นบางครั้ง แต่รายได้ส่วนมากมาจากการรับจ้างทำความสะอาดตกแต่งฟอสซิลให้แก่พวกมือสมัครเล่น Carroll บอกว่า ดูเหมือนเป็นงานง่าย แต่ความจริงแล้วเขาเป็นคนละเอียด เคยใช้เวลาไปกว่า 5,000 ชั่วโมง ในการตกแต่งฟอสซิลลอปสเตอร์ชิ้นเดียวมาแล้ว
Carroll ยังหยิบก้อนหินขนาดเท่ากล่องไม้ขีดให้ดู สำหรับมือสมัครเล่นอาจมองว่าก็แค่หินธรรมดา แต่ Carroll อธิบายว่ามันเป็นฟอสซิลของแมลงตัวหนึ่ง
"เมื่อไหร่ที่คุณมองสิ่งที่อยู่ในมือของตัวเอง แล้วตระหนักได้ว่า... ฉันเป็นคนแรก ที่ได้พบได้เห็นหลังมันตายมาเป็นล้านๆปีเชียวนะ! นั่นแหละ คือช่วงเวลาที่เจ๋งที่สุดของอาชีพคนขุดฟอสซิล"
บทความภาคภาษาอังกฤษฉบับเต็มเผยแพร่โดย: hakaimagazine
โฆษณา