6 มิ.ย. 2020 เวลา 05:45
วิธีขายของเหมือนกันแต่แพงกว่าคู่แข่ง
จิ๊บสมยศ เชาวลิต เจ้าพ่อไอทีเจ้าของร้าน J.I.B บริษัทขายคอมพิวเตอร์ยอดขายหมื่นล้าน เริ่มธุรกิจจากแทบจะเรียกได้ว่าศูนย์ แถมต้องขายคอมพ์ที่แพงกว่าคนอื่น เป็นร้านเล็กๆทำเลไม่ดีและเพิ่มเปิดใหม่แถมมีต้นทุนของที่สูงกว่าร้านอื่นๆในละแวกเดียวกัน แต่จิ๊บเอาตัวรอดและเติบโตมาได้อย่างไร
จิ๊บเล่าถึงความฝันเล็กๆของพนักงานไอทีที่ทำงานอยู่ธนาคารแห่งหนึ่ง เป็นความฝันที่เกิดจากการช่วยเพื่อนซื้อคอมพ์ซ่อมคอมพ์ในยามว่าง จนถึงวันที่พอมีเงินเก็บอยู่บ้างและเริ่มอยากจะมีกิจการเป็นของตัวเอง ก็เลยลาออกจากงานมาแล้วไปเซ้งร้านเล็กๆคูหาเดียวอยู่ที่เซียร์ รังสิตที่มีห้องว่างราคาถูกอยู่เยอะเพื่อเปิดร้าน ถึงแม้เซียร์จะมีชื่อเสียงด้านเป็นศูนย์ไอทีชานเมืองแต่ก็มีร้านขายคอมใหญ่ๆอยู่ในเซียร์อีกเต็มไปหมด
จิ๊บเล่าว่า ชื่อร้านก็ตั้งจากชื่อตัวเองแต่รู้สึกว่าสั้นไปก็เลยใส่จุดให้ดูยาวขึ้นเป็น J.I.B ตอนเปิดร้านขายคอมพ์ก็มีทุนน้อย ไม่มีเงินพอที่จะซื้อของมาสต๊อกด้วยซ้ำ ถึงขนาดว่าต้องไปขอกล่องเปล่ามาเรียงไว้ให้ดูเหมือนร้านมีของเต็มไว้ก่อน แล้วใช้เทคนิคว่าพอมีลูกค้ามาสั่งซื้อ จิ๊บจะบอกว่าขอเวลาประกอบคอมพ์ก่อนแล้วให้ลูกค้าไปเดินเล่นรอ แล้วจิ๊บก็ใช้วิธีวิ่งไปซื้อส่วนประกอบแต่ละชิ้นตามร้านใหญ่มาประกอบให้ลูกค้าแทน ซึ่งวิธีที่ทำแบบนี้ ไปซื้อปลีกมาทีละชิ้นก็ทำให้ราคาคอมพ์ประกอบเสร็จของจิ๊บแพงกว่าคนอื่นห้าร้อยบาทบ้างพันบาทบ้างอยู่เสมอ
แล้วจิ๊บขายได้อย่างไร เพราะคอมพ์สเปกเดียวกันแต่ขายแพงกว่าร้านอื่นในห้าง ร้านอื่นก็ทำเลดีกว่าด้วยซ้ำ จิ๊บขายดีจนขนาดที่ต้องขยายสาขาสองและสามภายในเวลาไม่กี่เดือน และกลายเป็นผู้นำในวงการไอทีในที่สุด..
จุดเริ่มต้นของร้านเล็กๆ ต้นทุนแพงกว่าคนอื่นนั้นไม่ง่าย อาวุธที่จิ๊บใช้ก็คือการสร้าง “ความเกรงใจ”ให้ลูกค้า จิ๊บลงทุนอธิบายเอง ขายของเองทุกครั้ง บางครั้งคุยกันเป็นเกือบชั่วโมง อธิบายอย่างตรงไปตรงมา ให้ความรู้พื้นฐาน ถามความต้องการของลูกค้าว่าจะเอาไปใช้ทำอะไรแล้วออกแบบให้ได้ตามต้องการอย่างจริงใจโดยไม่ได้เน้นกำไรสูงสุด แน่นอนว่าลูกค้าพอฟังเสร็จแล้วก็จะเดินไปเช็คราคาร้านใหญ่และจะพบว่าร้านใหญ่จะถูกกว่าร้านจิ๊บอยู่เกือบพันบาท
แต่ด้วยความ “เกรงใจ” ที่จิ๊บอุตส่าห์อธิบาย ใช้เวลาอย่างอดทนในการให้ความรู้ อธิบายอยู่นานสองนาน ทำให้ลูกค้าแทบทุกคนจะรู้สึกไม่ดีถ้าไม่กลับมาที่จิ๊บก่อนตัดสินใจและจะให้โอกาสด้วยการเดินกลับมาที่ร้าน J.I.B อีกครั้งด้วยราคาร้านใหญ่เพื่อต่อราคาจิ๊บว่าถ้าให้เท่าร้านใหญ่ก็จะเอาของจิ๊บนะ จิ๊บก็จะได้โอกาสอธิบายตรงๆว่าเป็นร้านเล็กแต่ถ้ามีปัญหาอะไรรับรองว่าจะดูแลอย่างดี แล้วจิ๊บก็ดูแลอย่างดีจริงๆหลังจากนั้น ลูกค้าแทบทุกคนก็จะเห็นใจและยอมจ่ายแพงกว่านิดหน่อยด้วยความตั้งใจจริงของจิ๊บ และก็เป็นลูกค้าประจำแถมบอกต่อถึงบริการที่ดีอันนำมาซึ่งลูกค้าหน้าใหม่ๆอีกด้วย ธุรกิจขายคอมพ์เป็นธุรกิจที่ต้องการความน่าเชื่อถือสูง เพราะร้านที่ชอบย้อมแมวก็มีเยอะ พอมีเพื่อนแนะนำว่าร้านนี้เชื่อถือได้ ธุรกิจก็เริ่มมา การค้าก็เริ่มขยายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
2
ตอนนี้จิ๊บมีร้าน J.I.B อยู่หลายร้อยร้าน แถมขายสินค้าไอทีผ่าน jib.co.th จนกลายเป็น e-commerce อันดับต้นๆของประเทศ แต่วิธีคิดแบบร้านเล็กๆที่ดูแลลูกค้าอย่างถึงลูกถึงคนก็ยังอยู่ ถ้าใครเคยลองสั่งของ jib.co.th ในช่วงโควิดก็จะรู้ว่าสั่งได้ 24 ชั่วโมงแล้วมาส่งเร็วมาก 2-3 ชั่วโมงก็ได้แล้ว ผมเคยสั่งช่วงต้นปีก่อนโควิดลูกสาวผมทำรายงานอยู่ พริ้นเตอร์หมึกหมดตอนสี่ทุ่ม มีแต่จิ๊บเท่านั้นที่ช่วยได้ด้วยการสั่งและมาส่งตอนห้าทุ่มกว่าๆ ทันเวลาพอดี
ต่อให้ตอนนี้มีกี่ร้อยสาขา ยอดขายกี่หมื่นล้านเวลาฟังจิ๊บ สมยศ เชาวลิต บรรยายทุกครั้งก็จะพูดถึงเรื่องเล็กๆในการดูแลลูกค้าอยู่เสมอ และเจ้าพ่อไอทีคนนี้ก็ยังจะสรุปประโยคเดิมตั้งแต่สมัยเขาทำร้านเล็กๆร้านแรกที่เซียร์ ที่เป็นเสมือนปรัชญาของของตัวเองและของแบรนด์ J.I.B ไว้ก่อนจบบรรยายเสมอว่า
JIB..ร้านเล็กๆแต่ตั้งใจทำครับ
โฆษณา