7 มิ.ย. 2020 เวลา 02:58 • ประวัติศาสตร์
“เจ้าพระยาจักรี” ขั้วอำนาจใหม่ที่เร้นกายในราชสำนักพระเจ้ากรุงธนบุรี
ขุนนางผู้ถวายตัวรับใช้เบื้องยุคลบาท ในราชสำนักอยุธยาตั้งแต่ยังเยาว์วัย สู่ขุนศึกผู้ยิ่งใหญ่ในราชสำนักกรุงธนบุรี และก้าวขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ผู้เกรียงไกรแห่งราชวงศ์จักรี
ในสำนึกเช่นนี้ของข้าพเจ้าที่เป็นมนุษย์ปุถุชนอันแสนธรรมดาคนหนึ่งนี้ ข้าพเจ้าอดรู้สึกศรัทธาและชื่นชมต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ได้ ยิ่งข้าพเจ้าได้ค้นคว้าและศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์มากขึ้นเท่าไร มันยิ่งทำให้ข้าพเจ้าเกิดความศรัทธาและชื่นชมผลงานของพระองค์ท่านตลอดรัชสมัยอันแสนสั้นของพระองค์
ที่สำคัญไปกว่านั้น มันทำให้ข้าพเจ้ามองพระองค์อย่างเชิงลึกมากขึ้น จนมองเห็น หรือคิดว่ามองเห็น ทั้งความกลัว อ่อนแอ ความเข้มแข็ง ความโกรธเกรี้ยว ความปรารถนา ตลอดจนความรักในพวกพ้องและครอบครัวดังเช่นที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะกระทำ มนุษย์ธรรมดาผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่ใช่ทวยเทพอวตารลงมาจุติเพื่อดับทุกข์เข็ญแก่มวลมนุษย์ ดังที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กล่าวไว้ว่า
พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเป็นมนุษย์ที่มีทั้งกิเลสตัณหาและความสง่างามของการเสียสละอันรุ่งโรจน์ คละเคล้าปะปนกันในการกระทำเหมือนมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่คนอื่นๆ ซึ่งภาพที่แจ่มชัดขึ้นเหล่านี้ทำให้เกิดปิติที่ได้สัมผัสทิพยวิมานของนักประวัติศาสตร์ นั่นคือ การได้เห็นคนเป็นคน ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าพวกเราทั้งหลายก็ควรมองทั้งเจ้าพระยาจักรีและพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นดั่งมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งเช่นเดียวกัน เพียงแต่มนุษย์ผู้นี้มีบารมีสูงส่งมากนัก ถึงขั้นได้เป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินปกครองราชอาณาจักรสยามในกาลต่อไป
ลูกผู้ดีของขุนนางชาวกรุงเก่าผู้หนึ่งนามว่า ทองด้วง เมื่อเจริญวัยเขาได้ถวายตัวเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กเหมือนลูกผู้ดีคนอื่นๆ ในกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกับน้องชายของเขา บุญมา และในขณะทองด้วยอายุได้ 25 ปี เขาได้รับการอวยยศในตำแหน่ง "หลวงยกกระบัตร” ที่เมืองราชบุรี" ส่วนน้องชายของเขา บุญมา ก็ได้เป็นที่นายสุดจินดาหุ้มแพร มหาดเล็กในสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หรือพระเจ้าเอกทัศน์ผู้เป็นใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา [1]
ขุนนางในราชสำนักอยุธยา
ครั้นถึงคราวอวสานของกรุงอโยธยาศรีรามเทพนคร ทองด้วงได้พาครอบครัวของเขาหลบหนีพม่าเข้าไปอยู่ในป่าที่บางกุ้ง ตามพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ขึ้นครองบัลลังก์แล้ว บุญมา น้องชายของเขาซึ่งเป็นพระสหายสนิทของพระเจ้ากรุงะนบุรี ในขณะได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้ากรุงธนบุรีให้เป็นพระมหามนตรี สมุหพระตำรวจขวา ถือศักดินา 2,000 ได้กราบทูลขอให้พี่ชายเข้ามาทำราชการด้วยในปี พ.ศ.2311
เมื่อทองด้วงถวายตัวรับราชการ พระราชพงศาวดารได้บันทึกเอาไว้ว่า โปรดฯให้เป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวามีศักดินา 1,600 แต่ที่น่าสังเกตุก็คือ ในขณะที่บุญมาเจริญรุดหน้าในงานราชการไปอย่างรวดเร็วนั้น นายทองด้วงกลับไต่เต้าในระบบราชการอย่างช้าๆ จนเป็นที่น่าประหลาดใจนัก ทั้งๆที่นายทองด้วงต่างก็ช่วยงานราชการสงครามแก่พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ดีไม่น้อยไปกว่าน้องชายของเขา และนี่จึงเป็นมูลเหตุที่พวกเราจะได้มาร่วมกันวิเคราะห์และชำแหละประวัติศาสตร์ไปพร้อมๆกัน ในตอน “เจ้าพระยาจักรี ขั้วอำนาจใหม่ที่เร้นกายในราชสำนักพระเจ้ากรุงธนบุรี”
 
ในเวลาต่อมาโปรดฯให้พระมหามนตรี (บุญมา) เลื่อนเป็นพระยาอนุชิตราชา จางวางพระตำรวจขวา ถือศักดินา 3,000 และแม้ว่าไม่ได้ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าได้ทำผลงานอะไรบ้างในช่วงก่อน พ.ศ.2311 จากหลักฐานจะเห็นได้ว่านายบุญมารับความไว้พระทัยอย่างมากในราชการสงคราม เช่น โปรดฯ ให้ยกทัพไปตีเขมรเพื่อช่วยพระรามราชาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์กัมพูชาในปี พ.ศ. 2311-2312 ซึ่งเพียงในช่วงไม่กี่ปีนี้เองก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยายมราช อันเป็นตำแหน่งถึงหนึ่งในเสนาบดีจตุสดมภ์ในปี พ.ศ.2312
4
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระนามเดิม บุญมา
อย่างไรก็ตาม เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปราบหัวเมืองเหนือได้สิ้นแล้ว ก็ได้โปรดฯ ให้พระยาอนุชิตราชา (บุญมา) ขึ้นเป็นเจ้าเมืองพิษณุโลก ปกรองหัวเมืองเหนือในปี พ.ศ.2313 ครั้นในปีรุ่งขึ้นหลังการปราบเมืองพุทไธมาศแล้ว ก็โปรดฯเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ ส่วนนายทองด้วงผู้พี่ในขณะนั้นอาจจะได้เป็นเพียงพระยาอภัยรณฤทธิ์ ซึ่งกว่านายทองด้วงจะได้ขึ้นเป็นพระยายมราชก็ปาเข้าไปในช่วงก่อนที่พระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพเสด็จไปตีพุทไธมาศเสียแล้ว
พุทไธมาศ หรือบันทายมาศ หรือฮาเตียน
แม้ว่าตำแหน่งพระยายมราชจะเป็นถึงเสนาบดีจตุสดมภ์ แต่ในแผ่นดินของพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น เสนาบดีจตุสดมภ์มีอำนาจน้อยเสียยิ่งกว่าเจ้าเมืองมากนัก เพราะคนที่จะได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าเมืองนั้นจะต้องเป็นคนที่พระเจ้ากรุงธนบุรีไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอันมาก ซึ่งแม้แต่ยศของเสนาบดีจตุสดมภ์จะเห็นได้ว่าต่ำกว่าเจ้าเมืองที่เป็นลูกน้องคนสำคัญๆของพระเจ้ากรุงธนบุรีเสมอ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีแทบไม่ค่อยแต่งตั้งให้เสนาบดีจตุสดมภ์คนอื่นๆเป็นเจ้าพระยาเลย ในขณะที่เจ้าเมืองจะได้ยศเป็นเจ้าพระยาอยู่หลายคนนัก
แม้ว่าพระยายามราช (ทองด้วง) จะได้รับความไว้วางพระทัยให้เป็นนายทัพอยู่บ่อยๆร่วมกับเจ้าพระยาสุรสีห์น้องชาย ซึ่งน่าจะมีคนในสังกัดมากกว่า และโปรดฯให้พระยายามราช (ทองด้วง) ช่วยจัดระเบียบราชการในเมืองกัมพูชาเมื่อตั้งพระรามราชาขึ้นเป็นกษัตริย์เขมรแล้ว แต่พระยายามราชก็มิได้เลื่อนตำแหน่งหรือยศสูงขึ้นไปกว่านี้ โดยตำแหน่งจักรียังคงเป็นของเจ้าพระยาจักรี (หมุด) อยู่ในขณะนั้น
1
ร่างท้องตราสองฉบับใน พ.ศ.2316 แสดงให้เห็นว่า นายทองด้วง ยังคงรั้งตำแหน่งอยู่ที่พระยายมราชและถูกสั่งให้ไปราชการสงครามกับเจ้าเมืองต่างๆแถบใกล้กรุงธนบุรีจำนวนหนึ่ง เพื่อไปสกัดหลังทัพของกองทัพผสมพม่า-ลาวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา
ในปี พ.ศ.2317 ในขณะที่มีการตระเตรียมกองทัพเพื่อยกขึ้นไปตีเชียงใหม่นั้น เจ้าพระยาจักรี (หมุด) ยังไม่ถึงแก่อนิจกรรม เข้าใจว่าเจ้าพระยาจักรี (หมุด) ถูกกำหนดให้ร่วมกองทัพหลวงขณะที่พระยายมราชเป็นนายทัพหรือแม่ทัพหน้า กองทัพหลวงมีกำหนดออกจากเมืองธนบุรีในวันแรม 11 ค่ำ เดือน 12 มีการประกาศร่างท้องตราจักรีถึงหัวเมืองต่างๆเพื่อตระเตรียมกองทัพ ซึ่งในช่วงเดือน 12 นี้เอง น่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเจ้าพระยาจักรี (หมุด) เพราะในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 ปรากฏว่าหมื่นศรีสหเทพ ปลัดบัญชีมหาดไทยเป็นผู้กราบทูลบอกเมืองสวรรคโลกแทนที่จะเป็นหน้าที่ของเจ้าพระยาจักรี (หมุด) หนังสือตอบเจ้าพระยาสวรรคโลกนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงเป็นผู้ตอบเอง โดยให้พระยาพิพัฒนโกษาเป็นผู้เขียน ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่มีหลักฐานของเจ้าพระยาจักรี (หมุด) อีกเลย จนกระทั่งปี พ.ศ.2319 ในบัญชีช้างหลวงปีนั้นมีหมวดหนึ่งว่าด้วย “มรดกเจ้าพระยาจักรี (หมุด)” ประกอบกับพระราชพงศาวดารก็กล่าวถึงบทบาทของพระยายามราชในสงครามคราวตีเชียงใหม่ โดยเรียกพระยายามราชว่า “พระยายามราชผู้ว่าที่สมุหนายก” หรือเรียกว่า พระยาจักรีไปเลย
เหตุนี้จึงเชื่อได้ว่าเจ้าพระยาจักรี (หมุด) คงถึงแก่อนิจกรรมในช่วงก่อนที่กองทัพหลวงจะยกขึ้นไปตีเชียงใหม่ใน พ.ศ.2317 และพระยายามราช (ทองด้วง) ก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นว่าที่สมุหนายก ในขณะที่เลื่อนพระยาอภัยรณฤทธิ์ บุตรชายของเจ้าพระยาจักรี (หมุด) เป็นพระยายามราช (แขก)
แผนที่เส้นทางเดินทัพกลับในคราวไป “ปราบเชียงใหม่” ปี 2317 ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
แม้ว่าพระราชพงศาวดารจะกล่าวได้ถูกต้องว่าพระยายามราช (ทองด้วง) ได้เลื่อนเป็นพระยาจักรีในปีใด แต่ที่น่าสังเกตุก็คือ ยศของพระยาจักรีนั้นไม่ได้เป็นเจ้าพระยาสืบมาอีกหลายปี ดังปรากฏในหลักฐานชั้นต้นหลายแห่ง เช่นในคราวถวายพระเพลิงพระบรมศพกรมพระเทพามาตย์ พ.ศ.2318 ก็ยังปรากฏว่าเป็นเพียงพระยาจักรีอยู่ และในปีพ.ศ.2319 หลังศึกใหญ่ที่เลื่องลือกับแม่ทัพอันดับหนึ่งของพม่าที่มีชื่อว่า อะแซหวุ่นกี้ ซึ่งพระยาจักรี (ทองด้วง) ได้สร้างความดีความชอบมากมายนัก หรือจากหลักฐานที่ปรากฏในรับสั่งเรื่องพระราชทานเพลิงศพเจ้าแสง พระยาสุโขทัยและพระยาพิชัยไอศวรรย์ หรือหลักฐานจากบัญชีช้างหลวงว่าเป็นเพียงพระยาจักรอยู่ในปี พ.ศ.2320
2
จนกระทั่ง พ.ศ.2323 เมื่อได้จัดการศพมารดาเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ จึงปรากฏในหมายรับสั่งว่าเป็นเจ้าพระยาจักรี หากจะวิเคราะห์กันตามจริงๆแล้ว พระยาจักรีได้เป็นแม่ทัพยกคนไปปราบปรามอริราชศัตรูให้แก่พระเจ้ากรุงธนบุรี และชนะศึกกลับมาเกือบทุกปี จะได้เลื่อนขั้นเป็นเจ้าพระยาในปีใดก็ย่อมได้ทั้งสิ้น เพราะมีความดีความชอบและผลงานเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งมีข้อน่าสังเกตุอีกจุดด้วยว่า เจ้าพระยาจักรีได้รับการเลื่อนยศช้ามาก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเจ้าพระยาสุรสีห์ผู้เป็นน้อง ซึ่งได้เลื่อนขั้นเป็นเจ้าพระยาตั้งแต่ พ.ศ.2314 แล้ว หรือเจ้าพระยาอนุรักษ์ภูธร เจ้าเมืองนครสวรรค์ และเจ้าพระยาพิชัยราขา เจ้าเมืองสวรรคโลกซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าได้เป็นเจ้าพระยาตั้งแต่ พ.ศ.2313 ในขณะที่นายทองด้วงกว่าจะได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรีในช่วงปี พ.ศ.2323 ซึ่งต่างกันถึงสิบปี
1
ภาพเขียนอะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวพระยาจักรี
อย่างไรก็ตามในช่วงปลายรัชกาลของพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น เจ้าพระยาจักรีคงได้รับยศพิเศษบางอย่างด้วย โดยเป็นไปได้ว่า เจ้าพระยาจักรีคงถวายธิดา (เจ้าฟ้าฉิมใหญ่) เมื่อราว พ.ศ.2321 และเจ้าพระยาจักรีตีเวียงจันท์และได้พระแก้วมรกตมาถวายในปี พ.ศ.2322 ซึ่งธิดาของท่านอาจมีพระราชโอรสกับพระเจ้ากรุงธนบุรีในช่วงนี้ เพราะฉะนั้นก็คงได้รับพระราชทานเครื่องยศเป็นพิเศษในช่วงนี้เอง อย่างไรก็ตาม ในหมายรับสั่ง พ.ศ.2323 ก็มิได้เอ่ยถึงเจ้าพระยาจักรีไว้เป็นพิเศษเพื่อให้รู้ถึงสถานะที่สูงกว่าเจ้าพระยาธรรมดาแต่อย่างใด
จะเห็นได้ว่าประวัติการรับราชการของเจ้าพระยาจักรีว่าในบรรดาเชื้อสายผู้ดีกรุงเก่าที่ไม่ใช่ลูกน้องดั้งเดิมของพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น การที่จะฝ่าด่านจากธรรมเนียมปฏิบัติในสมัยธนบุรีแล้วไต่เต้าขึ้นถึงจุดสูงสุดของข้าราชการในได้ นั้น ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะเจ้าพระยาจักรีชำนาญในราชประเพณีแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ท่านยังมีความสามารถในการศึกที่เก่งกาจ เป็นนายทัพที่เฉลียวฉลาดมากที่สุดคนหนึ่งของกองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นคนที่มีความเข้มแข็งดุดัน จนได้รับมอบหมายให้บัญชาการกองทัพในงานราชการสงครามอยู่เสมอ เหตุนี้คงมีส่วนที่ทำให้เจ้าพระยาจักรีมีอำนาจเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เป็นแหล่งฝากเนื้อฝากตัวของบรรดาเชื้อสายผู้ดีทั้งหลายเพื่อให้ได้ใช้สอยใกล้ชิด ไม่ต้องถูกจับสักเอาลงไปเป็นไพร่
1
เพราะฉะนั้นเฉพาะเชื้อสายตระกูลขุนนางต่างๆซึ่งได้สมัครทำราชการกับเจ้าพระยาจักรีเท่าที่ปรากฏจากหลักฐานต่างๆก็นับว่ามีจำนวนไม่น้อย ดังเช่นพระยาธรรมา ซึ่งเป็นบุตรของพระยามนเทียรบาลครั้งกรุงเก่า บุตรพระยาจ่าแสนยากรครั้งกรุงเก่าที่เหลือรอดอยู่ทั้งสองคนก็ได้เข้าฝากตัวกับเจ้าพระยาจักรี หรือนายบุนนาคได้ฝากตัวกับเจ้าพระยาจักรีเป็นทนายรับใช้ จึงได้เป็นพระยาอุทัยธรรม์เมื่อผลัดแผ่นดิน หรือหลวงสรวิชิตบุตรเจ้าพระยาสุรบดินทร์ครั้งกรุงเก่า ก็ได้ฝากตัวกับเจ้าพระยาจักรีเละได้เป็นเจ้าพระยาพระคลังในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งสายสัมพันธ์ในเครือญาติและการฝากตัว ทำให้เจ้าพระยาจักรีเป็นเสมือนคลื่นใต้น้ำลูกใหม่ และเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจที่เร้นกายในแผ่นดินของพระเจ้าพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
1
แจ่ง (มุม) ศรีภูมิ (กำแพงเมืองเชียงใหม่) และแผนที่เมืองเชียงใหม่
ข้าพเจ้าในฐานะมนุษย์ปุถุชน ผู้มีความรัก ความโลภ ความโกรธ และความหลงคนหนึ่งเหมือนมนุษย์ธรรมดาสามัญทั่วไป หากข้าพเจ้าทำงานอย่างขยันขันแข็ง สร้างผลงานและความดีความชอบมาโดยตลอด แต่กลับไม่ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ต้องใช้เล่ห์เพทุบายต่างๆนานา จึงจะสามารถไต่เต้าไปอยู่ในจุดที่สูงขึ้นได้ ใช้ความพยายามอย่างหนัก เสียเหงื่อ เสียน้ำตาไปเท่าไรนัก กว่าจะได้มาซึ่งโอกาสและอนาคตอันสดใสในหน้าที่การงาน
แต่ในขณะที่พวกเลียนาย หรือพวกเด็กนายทั้งหลายทั้งแหล่ กลับใช้ความพยายามเพียงน้อยนิด ออกแรงอีกนิดหน่อย แต่กลับมีหน้าที่การงานที่ดี เจริญรุ่งเรืองไปถึงไหนถึงหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ก็สามารถบั่นทอนกำลังใจของผู้ทุ่มเททั้งหลายได้อยู่บ้างไม่มากก็น้อย และมันสามารถสร้างรอยร้าวเล็กๆขึ้นภายในจิตใจอย่างเงียบเชียบของคนคนหนึ่งได้ และในไม่ช้า รอยร้าวนี้จะแตกออกเมื่อถึงขีดจำกัดของความอดทนของคนผู้นั้น
ข้าพเจ้าไม่อาจทราบได้ว่า มูลเหตุเหล่านี้จะสามารถสร้างรอยร้าวในจิตใจของเจ้าพระยาจักรีผู้แข็งแกร่งผู้นี้ได้หรือไม่ แต่ข้าพเจ้าคาดเดาได้ว่า ในบริบทของสังคมไทย การที่เห็นคนอื่นเจริญก้าวหน้ามากกว่าตนเอง โดยเฉพาะคนที่ใช้การพูดมากกว่าการกระทำ คนที่เรื่องงานการนั้นต่ำตม เหลาะแหละ ขี้เกียดสันหลังยาว ไร้ประโยชน์ ขาดสามัญสำนึกและน่ารังเกลียดเป็นที่สุด แต่เรื่องเอาใจนายนั้นเรียกได้ว่าระดับ “เปิ๊ดสะก๊าด” (first class) นั้นมันช่างหน้าหมั่นไส้ยิ่งนัก
1
เหตุการณ์อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี และทำนายว่าจะได้เป็นกษัตริย์พร้อมทั้งมอบสิ่งของกำนัลให้
เมื่อถึงจุดหนึ่ง ข้าพเจ้าคิดว่ามนุษย์ปุถุชนทั้งหลายย่อมมีความคิดเปรียบเทียบถึงความยุติธรรม-ความอยุติธรรมความเท่าเทียม-ความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้นภายในก้นบึ้งของจิตใจอยู่บ้าง แม้เพียงเสี้ยวเดียวก็ตามที และข้าพเจ้าไม่อาจทราบว่ารอยร้าวเหล่านั้นได้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่รู้ตัวอีกทีมันได้ปริแตกออกและล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิงไปพร้อมๆกับกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรของพระมหากษัตริย์พระองค์แรก เป็นพระองค์เดียวและเป็นพระองค์สุดท้ายของอาณาจักรแห่งนี้
ส่วนชะตากรรมของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เมื่อครั้นกรุงเก่าและได้ขึ้นมาเป็นมาเป็นเจ้าพระยาในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เป็นคนที่ฝักใฝ่อยู่ข้างเจ้าพระยาจักรี เมื่อผลัดแผ่นดินแล้วในปี พ.ศ.2326 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดฯ ให้ประชุมกันเพื่อช่วยกันแต่งตำราพระบรมราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยาปรากฏชื่อขุนนางในตำรานั้นเพียงเจ้าพระยาเพชรพิชัย เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี พระยาราชสงคราม และพระยาอุทัยมนตรี เท่านั้น โดยขุนนางทั้งหมดเหล่านี้หาได้มีบุคคลใดที่ได้เป็นขุนนางระดับเจ้าพระยามาแต่ครั้งรัชการของพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ แสดงว่าพวกขุนนางเจ้าพระยาของพระเจ้ากรุงธนบุรีเหล่านั้นถูกปลดหรือล้างบางไปจนหมดเมื่อสิ้นรัชกาลของพระเจ้ากรุงธนบุรี [2] [3]
พระบรมสาทิสลักษณ์พระเจ้าตากสิน ภายในโบสถ์น้อย วัดอรุณราชวราราม
กล่าวโดยสรุปคือ เจ้าพระยาจักรีผู้ซึ่งไม่ใช่ข้าเก่าเต่าเลี้ยงของพระเจ้ากรุงธนบุรีเหมือนขุนนางคนอื่นๆ ทำให้มีการเลื่อนตำแหน่งในหน้าที่การงานเป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่ทั้งนี้ก็เพราะความสามารถของเจ้าพระยาจักรีเองที่มีความสามารถด้านการศึกและการเมือง มีการรับลูกขุนนางที่เข้ามาฝากตัวไว้เป็นจำนวนมาก หรือกระทั่งการส่งธิดาของตัวเองไปรับใช้เบื้องยุคลบาทพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ตาม สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้เจ้าพระยาจักรีมีอำนาจเพิ่มพูนขึ้นมาได้เฉกเช่นข้าเก่าเต่าเลี้ยงของพระเจ้ากรุงธนบุรีคนอื่นๆ จึงกล่าวได้ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีและพระยาจักรีนั้นต่างก็เป็นศูนย์กลางของกลุ่มการเมืองสองกลุ่ม แต่กลุ่มการเมืองกลุ่มใดที่ขึ้นมามีอำนาจในเวลาต่อไปนั้น ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้ให้คำตอบไว้แก่พวกท่านทั้งหลายแล้ว
1
แหล่งอ้างอิง
[1] Chula. (2020, June 3). สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท. (Online) สืบค้นจาก
[2] นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2019) การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพมหานคร. โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด. สำนักพิมพ์มติชน. หน้า 281-295
[3] พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) (2019, July 2). พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี. พิมพ์ครั้งที่ 2. พิมพ์ที่ โสภณการพิมพ์. สำนักพิมพ์ศรีปราชญ์. หน้า 380-431
โฆษณา