7 มิ.ย. 2020 เวลา 00:58
"สมองฝ่อ" ไม่เท่ากับต้องเป็น "สมองเสื่อม" นะครับ !!!
สมองฝ่อ/เหี่ยว(Brain atrophy) หมายถึงปริมาณเซลล์สมองและการเชื่อมต่อมีการลดลงทำให้สมองมีขนาดหดตัวเล็กลง ซึ่งเกิดได้จากหลายสภาวะ โดยปกติเมื่ออายุมากขึ้นเซลล์ประสาทและสมองจะมีการถูกทำลายทำให้ปริมาณของเนื้อสมองลดลงอยู่แล้ว แต่หากมีการฝ่อเฉพาะบางส่วน หรือฝ่อลงมากกว่าอายุที่ควรจะเป็น ก็จำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุ โดยปกติเราคงไม่สามารถรู้ได้ว่าสมองเราฝ่อเล็กลงไหม เมื่อสงสัยจะมีการทำการตรวจสมองโดยการเอ็กซเรย์ ซึ่งเห็นภาวะนี้ได้จากทั้งการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง(CT scan) หรือการทำเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง(MRI-Brain) ซึ่งจะให้รายละเอียดของตัวเนื้อสมองได้ดีกว่า
สำหรับโรคที่พบว่ามีสมองฝ่อลงได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะได้รับสารพิษต่างๆ การได้รับความกระทบกระเทือนที่สมอง และ ภาวะโรคในกลุ่มความเสื่อมของสมองและระบบประสาท(Neuro-degenerative disease) เป็นต้น
โดยแต่ละโรคจะมีมีการฝ่อลงที่แตกต่างกันตามตำแหน่งและระยะของโรค อย่างไรก็ตามการฝ่อลงของสมองมิได้หมายรวมถึงการทำงานของสมองที่จะลดลงมากน้อย ต้องประเมินจากอาการทางคลินิก โดยสอบถามจากคนไกล้ชิดที่ดูแล หรือ ทำแบบทดสอบการทำงานของสมองและการตรวจทางระบบประสาทวิทยาร่วมด้วย เพื่อประเมินการทำงานของสมอง หากมีการทำงานของสมองที่แย่ลง จนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติแล้ว จึงจะเรียกว่ามีภาวะสมองเสื่อม ซึ่งพบได้หลายอาการ
อาการที่พบบ่อยในคนไข้สมองเสื่อม
ได้แก่
- ชอบถามคำถามเดิมซ้ำๆ
- ทำของหายบ่อยๆ
- หลงทางหรือสับสนเวลาไปในที่ไม่คุ้นเคย
- เรียกชื่อคน หรือสิ่งของไม่ได้
- สับสนเรื่อง วัน เวลา สถานที่
- ความสามารถในการตัดสินใจเรื่องต่างๆลดลง
- การทำกิจวัตรประจำวัน การประกอบอาชีพ หรือ งานอดิเรกตามปกติไม่ได้
- ทำกิจกรรมลดลง ลดการเข้าร่วมงานสังคม
- อารมณ์หรือพฤติกรรมผิดปกติ มีสับสน หวาดระแวง ซึมเศร้าได้
อย่างไรก็ตามอาการผิดปกติจะขึ้นกับตำแหน่งของสมองที่เสียไปตามตัวโรคแต่ละโรคแต่ละระยะ หากมีอาการผิดปกติจึงควรรีบหาสาเหตุ เพื่อจะได้รักษาให้เร็ว ผลการรักษาย่อมดีกว่าการละเลยปล่อยไว้ ซึ่งจะเกิดผลเสียโดยเฉพาะการเกิดความไม่เข้าใจกันในครอบครัว ซึ่งจะทำให้การรักษาทำได้ยากขึ้น
สรุป
สมองฝ่อ/เหี่ยว ไม่เท่ากับเป็น สมองเสื่อม แต่สามารถพบร่วมกันได้
กล่าวคือ
สมองฝ่อ/เหี่ยว(Brain atrophy) ดูจากการทำเอ็กซเรย์สมองแล้วพบมีการลดลงของขนาดและปริมาณเนื้อสมอง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจทำให้มีอาการสมองเสื่อมร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ต้องใช้การประเมินติดตามการทำงานสมองร่วมด้วยจึงจะวินิจฉัยได้ ไม่สามารถวินิจฉัยจากการดูภาพถ่ายของสมองเพียงอย่างเดียว
สมองเสื่อม(Dementia) ดูที่การทำงานของสมอง ว่ามีการทำงานที่แย่ลงส่วนใหนบ้าง และรบกวนการใช้ชีวิตหรือการทำกิจวัตรประจำวัน ซึ่งมีอาการและสาเหตุที่หลากหลาย อาจพบมีการฝ่อลงของสมองร่วมด้วยได้ ขึ้นกับระยะของโรค
ตอนนี้ใครเริ่มสงสัยว่าตัวเองสมองเสื่อมหรือเปล่า ทำแบบทดสอบThaiAZQ ด้วยตนเองได้เลยนะครับที่นี่ www.braincheck.net
สำหรับผู้ที่อยากรู้จักโรคสมองเสื่อมมากขึ้นดูเรื่อง
" มารู้จักโรคสมองเสื่อมและโรคหลอดเลือดสมองกัน “(VDO)
และสำหรับผู้ที่ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ท่านสามารถศึกษาเทคนิคการดูแลได้ที่ FB : สมองเสื่อมต้องรู้ by Dr.Dui
** เห็นว่ามีประโยชน์ ช่วยกัน กดLike กดShare ด้วยนะครับ **
อยากให้คุณมีสุขภาพดีและมีความสุข ^^
นพ.อดิศักดิ์ กิตติสาเรศ
ความรู้เกี่ยวกับโรคสมองดีๆเพิ่มเติมได้ที่
-> Fb: หมออดิศักดิ์ รักษ์สมอง
-> Blockdit : หมออดิศักดิ์ รักษ์สมอง
-> Youtube: Dr.Adisak Kittisares
#โรคสมองน่ารู้
#สมองฝ่อไม่เท่ากับสมองเสื่อม
โฆษณา