7 มิ.ย. 2020 เวลา 02:17
🔰"ฉันเป็นครูตายแล้วขอเป็นครูต่อไป"
พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ)
พระยาอุปกิตศิลปสารมีนามเดิมว่า นิ่ม กาญจนาชีวะ เป็นบุตรของ นายหว่าง และ นางปลั่ง เกิดวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2422
ศึกษาภาษาไทยเบื้องต้นที่วัดบางประทุนนอก อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี (ปัจจุบันคือจังหวัดกรุงเทพมหานคร) และที่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ต่อมาได้บวชเป็นสามเณรและเป็นพระภิกษุที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ ระหว่างที่บวชได้ศึกษาพระธรรมวินัย จนสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค และศึกษาวิชาครู
พระยาอุปกิตศิลปสารได้เริ่มเข้ารับราชการเป็นครูฝึกสอน ที่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์สายสวลี ต่อมาได้ย้ายไปสอนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ วัดมหาธาตุ และ โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยา
นอกจากเป็นครูแล้ว พระยาอุปกิตศิลปสารยังเคยดำรงตำแหน่งข้าหลวงตรวจการ พนักงานกรมราชบัณฑิต หัวหน้าการพิมพ์แบบเรียน หัวหน้าแผนกอภิธานสยาม ปลัดกรมตำราและอาจารย์ประจำกรมศึกษาธิการ
และได้เลื่อนยศบรรดาศักดิ์มาตามลำดับ จนในปี พ.ศ. 2467 จึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอุปกิตศิลปสาร มีตำแหน่งในกระทรวงศึกษาธิการ ถือศักดินา 1,000 และมียศเป็นอำมาตย์เอก
พระยาอุปกิตศิลปสารเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญทางภาษาไทย ภาษาบาลี และวรรณคดีไทย
อีกทั้งท่านยังเป็น อาจารย์พิเศษแผนกภาษาไทยและภาษาโบราณตะวันออกในคณะอักษรศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์พิเศษสอนภาษาไทยในชุดครูมัธยม และเป็นกรรมการชำระปทานุกรม ท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2484
พระยาอุปกิตศิลปสารเป็นนักเขียน ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาไทย ท่านใช้นามปากกาหลายนาม ที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ "อ.น.ก.", "อุนิกา", "อนึก คำชูชีพ" และยังเป็นผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาทางการแพทย์หรือที่เรียกว่าอาจารย์ใหญ่ เป็นท่านแรกของประเทศไทย โดยกล่าวว่า "ฉันเป็นครู ตายแล้วขอเป็นครูต่อไป"
#มีชื่อเสียงจาก
⏩ผู้ริเริ่มการใช้คำว่า “สวัสดี” สำหรับทักทาย
⏩อาจารย์ใหญ่คนแรกของประเทศไทย
⏩เป็นผู้เเต่งตำราไวยากรณ์ไทย 4 เล่ม ได้แก่ อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ และ ฉันทลักษณ์
⏩เป็นคนแปลบทกลอนของกวีอังกฤษ โทมัส
เกรย์ เป็นกลอนดอกสร้อย รำพึงในป่าช้า
ติดตามบทความดีๆเพิ่มเติมได้ที่ลิ้งค์ข้างล่างนี้นะครับ👇👇👇👇👇👇👇👇👇👇👇👇
ข้อมูลรูปภาพจาก : https://th.m.wikipedia.org
โฆษณา