7 มิ.ย. 2020 เวลา 03:12 • ธุรกิจ
กระแส #saveวันเฉลิม เมื่อวานมาแรง ดารา นักแสดง คนดัง หรือแม้กระทั่งคนที่อยู่ในวงการแคสเกม สตรีมเกมยังโดนลูกหลงไปด้วยเลย คนหนึ่งที่โดนมากที่สุด เห็นว่าน่าจะเป็นเคสปู ไปรยา ที่โดนเข้าไปถล่ม Instagram โดนแคป IG มาด่าต่อๆกัน (และคาดว่าคงโดน DM ไปด่าด้วย)
ซึ่งฝ่ายที่ด่าก็อ้างเหตุผลที่ว่าคุณปู ไปรยานั้นรับหน้าที่เป็น “Goodwill Ambassador” จาก UNHCR (High Commissioner for Refugees) อันเป็นหน่วยย่อยขององค์การสหประชาชาติ แปลง่ายๆก็คือ “ทูตสันถวไมตรี” ที่สหประชาชาติเขามอบให้ดารา คนดัง ในการร่วมไดรฟ์ ผลักดันปัญหาสังคมนั่นแหละ
เรื่องมันเกิดขึ้นมาจากกรณีที่ปู ไปรยาไปตอบ IG โดยให้ความเห็นว่าเธอมีหน้าที่ผลักดันประเด็นที่เกี่ยวกับสันติภาพ แต่จะไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง เพราะตัวปูนั้นเน้นทำงานด้าน “Humanitarian work” เป็นนักช่วยเหลือ นักสังคมสงเคราะห์ทำหน้าที่ขยายโอกาสให้เพื่อนมนุษย์
1
ไม่ได้เป็นนักเรียกร้อง ไม่ได้เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง (Political activist) เรื่องวันเฉลิมนี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้า และเจ็บปวด แต่มันไม่ใช่หน้าที่ของปู ไม่ใช่เรื่องของปู ถ้าพวกคุณอยากให้ปูช่วย ปูสามารถออกตัวช่วยได้ในเรื่องที่มันเป็นประเด็นกว้างๆ ใหญ่ๆ อย่างเช่น Racism หรือการเหยียดสีผิว
2
หรือหากมีใครต้องการผลักดันให้เกิดสันติภาพอะไรก็ตามปูสนับสนุนได้เต็มที่ แต่ต้องไม่ใช่เรื่องที่มีความเป็นการเมืองสูงอย่างเรื่องนี้ปูทำให้ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าปูไม่สนใจ หรือไม่แคร์นะ ปูได้ตอบข้อความทุกข้อความไปแล้วทางช่องแชท IG แต่ต้องขอยืนยันว่าตอนนี้ปูไม่มีความรู้ หรือความเข้าใจต่อสถานการณ์มากเพียงพอ
ปูเลยช่วยอะไรไม่ได้ มันเกินขีดจำกัดที่ปูจะช่วยได้ ที่ปูเงียบต่อเรื่องนี้ ไม่ใช่เพราะปูปลอม หรือ Fake แต่ที่ปูเงียบต่อเรื่องวันเฉลิมนี้เป็นเพราะถึงปูออกความเห็น หรือใส่อารมณ์ไปมันก็ไม่สามารถช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้อยู่ดี
1
อันนี้คือข้อความทั้งหมดที่พอจะมีคนแคปเก็บมาได้ ก่อนคุณปูลบข้อความใน Instagram ทิ้งไป ผมว่าที่ปูพูดมาก็มีเหตุผลนะครับ ในมุมของปู คือ เวลาจะพูดอะไรทำนองนี้เราไม่ควรจะด่า หรือใส่อารมณ์ลงไปในทันทีที่เราเห็นเลย อย่างน้อยพิจารณาเหตุผลของอีกฝ่ายกันก่อน
2
ประเด็นนี้ผมเห็นว่าน่าสนใจดี คือ การที่ปูอ้างว่าตัวเองทำงานด้านการสังคมสงเคราะห์ (humanitarian works) ไม่ได้ทำงานการเมือง การเมืองจึงไม่ใช่หน้าที่ของปู ก็เป็นส่วนจริงครับ ถ้าสังเกตดีๆดาราหรือผู้มีอิทธิพลในแวดวงสังคมหลายคนที่เข้ามาทำงานในด้านนี้นั้นส่วนใหญ่มักพยายามระวังตัวเองไม่เข้าไปยุ่งกับการเมืองอย่างโจ่งแจ้งมากเกินไปทั้งนั้น
1
แต่ด้วยสภาพพื้นฐานของการเมืองไทยมันมีความแบ่งแยกสูง มันไม่เหมือนสหรัฐอเมริกาที่ดาราสามารถแสดงออกได้ชัดเจนตรงๆว่าชอบนักการเมืองคนไหน สนับสนุนการเมืองแบบไหน มีดาราใน Hollywood หลายคนประกาศตัวสนับสนุน Donald Trump สนับสนุนพรรค Republican โดยที่ไม่ถูกแบนในวงการบันเทิงได้
เพราะการเมืองที่สหรัฐอเมริกามันเป็นระบบเปิด มีวัฒนธรรมที่ยอมรับต่อการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่สำหรับสังคมไทย ต้องถามตัวเองก่อนว่าปกติเรายอมรับ หรือรับฟังในคนที่คิดเห็นต่างจากเรามากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเรื่องการเมือง เราด่าอีกฝ่ายว่าเป็นควายแดง ควายส้ม อีกฝ่ายก็ด่ากลับมาว่าเป็นสลิ่ม
1
โดนแปะป้าย โดนเอาตราฝักฝ่ายมาแปะ เสียฐานแฟนคลับ เสียฐานลูกค้าผู้ชมไปอีก ดาราไทยเขาหลายคนเขาเลยไม่ค่อยอยากออกตัวเรื่องการเมืองกัน เรื่องการเมืองมันเลยกลายเป็นของแสลงสำหรับบางคนไปน่ะ เพราะเขากลัวจะถูกเกลียด จากการที่สังคมมันมีภาวะการแยกฝักฝ่าย Factionalism สูง
ถ้าเลือกได้เขาก็เลยอยากจะหลีกเลี่ยงไปเลย ผมก็เข้าใจตรงนี้ของปู ไปรยานะ ว่าทำไมเขาไม่ค่อยอยากยุ่ง อีกอย่างคุณดูสภาพสังคมไทยตอนนี้ก่อนสิ คนในวงการบันเทิงมีทัศนคติทางการเมืองเป็นอย่างไร บริบทของวงการบันเทิงไทยนั้นเป็นอย่างไร
เคยลองสังเกตไหมว่า ชนชั้นนำในวงการบันเทิงไทย เขาเอนเอียงไปทางไหน กลุ่มนายทุนโฆษณา กลุ่มนายทุนช่อง กลุ่มผู้บริหารช่องทีวี ผู้บริหารสื่อกลุ่มต่างๆเขาเอนไปหาใคร และเขามีเครือข่ายคอนเนคชั่นผูกโยงกับใคร เอาง่ายๆลองดูดาราผู้ใหญ่หลายๆคนก็น่าจะเห็น และสะท้อนได้ดีว่าวงการบันเทิงมันเอนไปทางขั้วไหนมากกว่า
1
ดาราตัวเล็กตัวน้อย ดาราที่ยังไม่มีอาวุโส ไม่มีวัยวุฒิ คุณวุฒิแก่กล้ามากพอในวงการบันเทิงก็ไม่แปลกที่เขาจะปิดปากตัวเอง หรือ เซนเซอร์ตัวเอง อย่าลืมว่าวงการบันเทิงมันมีวัฒนธรรม “เด็กดี” อยู่ ดาราคนไหนทำตัวน่ารักในสายตาผู้ใหญ่ งานก็ป้อนเข้ามาเรื่อยๆ ใครที่เรื่องมากๆหรือทำตัวไม่น่ารักในสายตา “ผู้ใหญ่” ก็อาจจะอยู่ไม่ได้
1
ถ้าอ่านข่าวกอสซิปดาราบ้างก็คงเคยผ่านตานะครับ ว่ามันมีวัฒนธรรมการแบนดาราที่ทำตัวไม่น่ารักในหมู่นักข่าว ในหมู่กองถ่ายละคร กองถ่ายหนังอยู่จริงๆ ฉะนั้นดาราคนไหนที่เขาไม่เคยแสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองเลย ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะเขาก็คงมองความจริงและบริบทในส่วนนี้อยู่ จึงเลือกที่จะสงวนท่าทีเอาไว้ไม่พูดไรมาก
เขาก็ทำมาหากิน ดาราก็คนเหมือนมนุษย์ทั่วๆไปนั่นแหละ มีการรักตัวกลัวตาย ไม่ค่อยมีใครอยากจะทุบหม้อข้าวตัวเองทิ้ง วงการนี้นายทุนเป็นใหญ่ครับ ส่วนดาราคนไหนที่มั่นใจ หรือมีฐานดีๆมีลู่ทาง มีช่องทางทำมาหากินทางอื่น ก็อาจจะกล้าออกมาแสดงออกได้ แต่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดของแต่ละคนด้วยว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถทำได้
1
อีกอย่างคือ เป็นดาราเขาอยู่ในที่สว่างนะครับ เสียงที่เขาพูดออกมานั้นดังก็จริง แต่เขาก็สามารถตกเป็นเป้าในการโจมตีง่ายด้วยเช่นเดียวกัน เขาไม่ได้ใช้แอคเคาท์ปลอม บัญชีปลอมสร้าง Facebook สร้าง Twitter ใส่รูปการ์ตูนเอาไว้ด่าการเมืองเล่นๆโดยที่ไม่มีราคาที่ต้องจ่าย อะไรก็เกิดขึ้นได้ครับ ใครคุมอำนาจการเมืองไทยอยู่ก็น่าจะเห็น
การจะออกมาเรียกร้อง หรือออกตัวเรื่องการเมืองเต็มตัว เรียกร้องอะไรนั้นอาจส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานและ “ชีวิต” เขาด้วย มันก็ต้องมีการลังเลกันบ้าง และถ้าเลือกได้เขาก็คงไม่อยากเอาตัวเองมาเสี่ยงให้มันเสียหาย เรื่องแบบนี้ต้องให้คนที่พร้อมจะดีกว่าครับ คนที่ไม่พร้อมก็อย่าไปบังคับ ไปบีบอะไรเขา ปัจจัยข้อจำกัดในชีวิตแต่ละคนไม่เท่ากัน
1
สุดท้ายคือเรื่องตำแหน่ง UNHCR Goodwill Ambassador หรือทูตสันถวไมตรี ที่สหประชาชาติมอบให้แก่ปู ไปรยา ผมอยากจะบอกว่ามันเป็นตำแหน่ง “PR” และ PR ย่อมาจาก Public Relations หมายถึงการประชาสัมพันธ์ การเผยแพร่ การส่งต่อและกระจายข่าวสาร
1
เป็นตำแหน่งที่มีฐานอยู่บนหน้าตาเหมือนระบบ Brand Ambassador ในทางการตลาดเท่านั้น ไม่ได้มีสถานะใหญ่โต เทียบเท่าคนที่เป็นทูต เป็นเอกอัครราชทูตจริงๆ มันต่างกันมาก แค่ใช้คำคำเดียวกัน อันนี้ต้องทำความเข้าใจกันใหม่นะครับ ทูตสันถวไมตรีไม่ได้มีอำนาจอะไร มีแค่อำนาจทางด้านหน้าตา และบุคลิก
4
เอาไว้ใช้ในภารกิจการโฆษณา การ PR การรณรงค์ การส่งต่อสารรูปแบบต่างๆ ตามแต่องค์กรจะส่งหัวข้อ หรือธีมของงานมาให้ ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจของทูตจริงๆในเชิงระบบ ไม่มีอำนาจการตั้งคณะกรรมการอะไรน่ะครับ อย่าง Angelina Jolie ที่เขาพอจะมีอำนาจขยับขยายอะไรได้ อันนั้นคือ เขาเป็นทั้ง Goodwill Ambassador
1
และมีตำแหน่งเป็น Special Envoy ของสหประชาชาติด้วย อันนี้ต่างหากที่จะพอช่วยให้ Jolie เขามีอิทธิพลในเชิงระบบมากขึ้น เพราะเป็นคนกลางระหว่างคนทำงานภาคสนาม และฝ่ายการเมือง นี่ผมแจงไว้เป็นเกร็ดความรู้เฉยๆนะครับ มันเป็นเรื่องของระบบการทำงานในระดับการต่างประเทศ
ที่สำคัญนะครับ อย่าไปคาดหวังอะไรกับสหประชาชาติ และองค์กรอย่าง UNHCR ใครที่ติดตามการเมืองระหว่างประเทศมาก็คงทราบความจริงข้อนี้ดีว่า UN เป็นองค์กรเสือกระดาษ ไม่มีอำนาจในการ Take action หรืออำนาจในการจัดการปัญหาต่างๆบนโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง
1
ดูอย่างองค์กรอนามัยโลก (WHO) ก็ได้ออกแถลงการณ์เตือนเรื่องไวรัส COVID-19 แบบผิดๆถูกๆไม่แน่นอน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เอายกตัวอย่างที่ใกล้ตัวกว่านี้อีกนิดก็ได้คือเรื่องโรฮิงญา สหประชาชาติทำอะไร หรือช่วยเหลืออะไรได้หรือไม่ ล่าสุดส่งผู้ตรวจการณ์ และผู้สังเกตการณ์ลงพื้นที่ไปดูในพม่า เพื่อทำวิจัย ทำรายงาน
1
ว่าพม่าทำผิดอะไรบ้าง ใครทำร้ายโรฮิงญาบ้าง สุดท้ายก็คลอดรายงานฉบับที่เรียกว่า UN Fact-Finding Report ออกมา แต่แล้วไงต่อ ก็ไม่มีอะไรต่อ ทำอะไรไม่ได้ ถ้ารัฐบาลประเทศพม่าเขาไม่เอาด้วย ใดๆก็ตามของพวกนี้ตบมือข้างเดียวไม่ดัง การที่องค์กรอย่างสหประชาชาติจะเข้าไปปฏิบัติการอะไรในประเทศเป้าหมาย
ถ้าไม่มีประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาออกตัวหนุนหลัง หรือออกใบสั่งให้ทำ ก็แทบจะทำอะไรไม่ได้เลย ในไทยยิ่งแล้วใหญ่ ถ้ารัฐบาลไทยไม่หือไม่อือด้วย ใครจะทำอะไรได้ สิ่งที่องค์กรพวกนี้ทำได้ก็แค่รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ผลักดัน แต่ก็ต้องดูบริบทด้วยว่ามีข้อจำกัดตรงไหนบ้าง
1
การทำงานด้านสิทธิมนุษยชน การทำงานด้านการเรียกร้องสันติภาพ การทำงานด้านการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมมันไม่ได้ทำให้สำเร็จกันได้ง่ายๆครับ ต้องใช้เวลา ต้องใช้เงินทุน ต้องมีปัจจัยหลายๆอย่าง ในขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดระหว่างทางเกิดขึ้นด้วย
ผมเข้าใจนะว่า การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย งานอะไรเหล่านี้มันหลีกเลี่ยงความเป็นการเมืองได้ยาก แต่เราต้องพิจารณาเอาจากตัวแปรหลายๆชุด งานนี้มันไม่ได้หยุดแค่ที่สหประชาชาติ ถ้าคุณเป็นดารา เป็น Ambassador ด้านนี้ไปรณรงค์ที่ไหนก็ตาม หลังการรณรงค์เสร็จสิ้น คุณก็ต้องกลับบ้าน กลับฐานตัวเองอยู่ดี
1
คุณอาจจะมีสิทธิพูดบนเวทีโลก เวทีต่างประเทศ แต่เมื่อกลับมาอยู่ที่ไทย บริบทมันเปลี่ยนเลยนะ เอาปัจจัย และเงื่อนไขของเวทีระหว่างประเทศมาอ้างไม่ได้ อยู่ไทยก็จะเจอบริบทสภาพแวดล้อมแบบไทย ข้อจำกัดจากสังคมไทย ซึ่งมันแตกต่างกันลิบ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรที่ปู ไปรยาเขาจะพยายามหลีกเลี่ยงเรื่องการเมืองให้มากที่สุด
ถามว่าปูผิดไหม ก็คงอาจจะผิดที่ไม่สามารถทำงานได้ตามชื่อตำแหน่งที่ตัวเองได้รับในฐานะ UNHCR Goodwill Ambassador คนก็เลยคาดหวังกันกับปู ไปรยาว่าจะออกมาเป็นกระบอกเสียงให้แก่ผู้ลี้ภัย แต่ถ้าหันกลับมามองในสภาพความเป็นจริงมันก็ยากอยู่นะครับ มันมีข้อจำกัดเยอะ
พูดไปแล้วจะโดนอะไร พูดไปแล้วเสียฐานแฟนคลับไหม พูดไปแล้วต้องจ่ายค่าเสียโอกาสอะไรในชีวิตบ้าง พูดแล้วจะมีความเสียหายต่อชีวิตและหน้าที่การงานตัวเองไหม คือมันเป็นเรื่องที่ยากนะครับ การที่คนเราจะออกมาเดินงานเรื่องการเมืองด้วยตัวเองเต็มตัวแบบนักการเมือง นักเคลื่อไหวต่างๆเนี่ย
คนไม่พร้อมเขาก็คงไม่พร้อมจริงๆ คำแนะนำของผมก็คือ อย่าไปคาดหวังอะไรกับเขามาก เขาก็คนเหมือนเรา คนธรรมดาๆที่มีรายจ่ายในชีวิตประจำวัน มีครอบครัวต้องเลี้ยงดู มีธุรกิจที่ต้องดูแล มีร้านรวงที่ต้องพึ่งพาสังคม ต้องพาฐานลูกค้านั่นแหละ
1
** พูดง่ายๆก็คือปู ไปรยาไม่ได้เป็นรับแค่ตำแหน่งทูตสันถวไมตรีแค่ตำแหน่งเดียวในชีวิตไงครับ ถอดหมวกทูตแล้ว เขาก็อาจจะไปสวมหมวกแม่ค้าขายของ เจ้าของธุรกิจ บทลูกจ้าง บทดารา นักแสดงอะไรต่างๆนานา
1
โฆษณา