7 มิ.ย. 2020 เวลา 09:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
สุนัขสองหัวของวลาดิเมียร์ เดมิคอฟ
ไม่อยากจะเชื่อ ว่านักวิทยาศาสตร์โซเวียตสามารถผ่าตัดสุนัขให้มี 2 หัว ได้สำเร็จ แต่ภาพถ่ายใบนี้เป็นเครื่องยืนยันแล้วว่ามันเกิดขึ้นได้จริง
ปี 1955 ในการประชุมสมาคมศัลยศาสตร์แห่งกรุงมอสโค พวกเขาได้รับการบอกกล่าวว่า วันนี้มีจัดแสดงผลงานวิเศษสุดแห่งวงการศัลยศาสตร์ เป็นความก้าวหน้าและชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของโซเวียต
บนเวทีที่ไม่ยกสูงเกินไปกว่าผู้ชมนัก สุนัขตัวใหญ่ถูกนำขึ้นมา มันดูมีความสุข แข็งแรง แถมยังกระดิกหางให้แก่ผู้ชมแถวหน้าอีกด้วย สุนัขตัวนั้นไม่รู้เลยว่า ผู้ชมด้านล่างเวทีกำลังตื่นตะลึงอ้าปากค้าง เพราะคอของมันมีอวัยวะผิดแปลกที่ไม่ควรอยู่ตรงนั้นเย็บติดเอาไว้
ไม่กี่วันก่อนหน้าวันประชุม สุนัขตัวนี้ได้รับการผ่าตัดเอาหัวของลูกสุนัขขนสีน้ำตาลอีกตัวไปปลูกถ่ายไว้ โดยฝีมือของนักวิทยาศาสตร์มากประสพการณ์ นายวลาดิเมียร์ เปโตรวิช เดมิคอฟ
หมาตัวนั้นพร้อมกับหัวทั้งสองมีชีวิตรอดหลังการผ่าตัด และดูตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ดี แม้กระทั่งตอนนำไปโชว์ตัว ทุกคนสังเกตเห็นว่าหัวของลูกสุนัขสีน้ำตาลกำลังเงี่ยหูฟังโฮสต์ของมันส่งเสียงขู่คำราม
การจัดแสดงของเดมิคอฟสร้างความตื่นตระหนกให้แก่วงการแพทย์ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ดร.แฟรงค์เกนสไตน์แห่งโซเวียต ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอะไรแปลกๆมาก่อน
ปี 1937 เดมิคอฟอายุ 21 ปี ขณะนั้นยังเป็นเพียงนักศึกษา เขาทำให้อาจารย์ช็อกมาแล้วด้วยการเปลี่ยนถ่ายหัวใจของสุนัข ซึ่งมีชีวิตได้นานถึง 5 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด
เมื่อจบการศึกษา เดมิคอฟตั้งหน้าตั้งตาสานต่อโครงการต่อไป จนกระทั่งสามารถเปลี่ยนถ่ายหัวใจ ปอด ตับ และไต ของสุนัขและแมวเป็นผลสำเร็จ สัตว์ทดลองบางตัวมีอายุยืนยาวเป็นเดือน
แต่ที่ทำให้เขาภาคภูมิใจที่สุด คือการผ่าตัดทำบายพาสของเส้นเลือดแดงใหญ่ (Coronary arteries) สุนัขทดลองของเขาจำนวน 4 ตัว มีชีวิตรอดได้ถึง 2 ปี และสุนัขอีกตัวที่ได้รับการผ่าตัดในปี 1953 มีชีวิตได้นานถึง 7 ปี
จากผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง เขาจึงคิดทดลองอะไรที่ซับซ้อนและยิ่งใหญ่ไปกว่าเดิม ในปี 1954 เขาลงมือผ่าตัดอะไรบางอย่างที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงทางด้านจริยธรรมอย่างรุนแรง นั่นคือ การปลูกถ่ายหัวลูกสุนัขพร้อมกับขาหน้าทั้ง 2 ข้าง ลงบนคอของสุนัขโตเต็มวัยตัวใหญ่
"ในตอนที่ตัวโฮสต์ฟื้นจากยาสลบ หัวของลูกสุนัขก็ตื่นขึ้นพร้อมกับหาวออกมา เจ้าตัวใหญ่ดูงุนงงสับสน และพยายามสลัดหัวเจ้าตัวเล็กออกเป็นอย่างแรก" ข้อความรายงานจาก The Times
"หัวของลูกสุนัขยังมีนิสัยของเด็กๆอยู่ ถึงแม้มันจะปราศจากลำตัวเกือบทั้งหมด แต่มันก็ดูร่าเริงอยากวิ่งเล่นเหมือนลูกสุนัขทั่วไป มันเห่ายามเมื่อรู้สึกไม่พอใจหรืออิจฉา และเลียมือพี่เลี้ยงเมื่อต้องการอ้อนเอาใจ ส่วนเจ้าตัวโฮสต์ดูจะรู้สึกเบื่อมากกว่า แต่ท้ายที่สุดแล้วมันก็จำต้องยอมรับว่ามีอะไรบางอย่างงอกติดอยู่กับคอของมัน เมื่อไหร่ที่รู้สึกกระหาย เจ้าตัวเล็กจะกินนม เมื่อไหร่ที่ห้องแลปร้อนขึ้น พวกมันทั้งคู่จะแลบลิ้นและหายใจหอบเพื่อระบายความร้อน หลังจากผ่านไป 6 วัน ที่พวกมันใช้ชีวิตร่วมกัน เจ้าตัวเล็กและเจ้าตัวใหญ่ก็สิ้นลม"
เดมิคอฟยังคงตัดต่อปลูกถ่ายหัวสุนัขต่อไป จนกระทั่งสุนัขสองหัวตัวหนึ่งมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 29 วัน
เมื่อข่าวการปลูกถ่ายอวัยวะของเดมิคอฟแพร่ไปสู่โลกตะวันตก ทำให้ศัลยแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ต่างต้องเลิกคิ้วขึ้นไปตามๆกัน พร้อมกับคำถามเกี่ยวกับจริยธรรม ความเหมาะสม และประเด็นที่ว่า การเอาหัวหมาสองตัวเย็บติดเข้าด้วยกันมันสร้างประโยชน์อะไรให้กับวงการแพทย์งั้นหรือ?
เดมิคอฟผู้มองถึงอนาคตอันไกลโพ้นจดจารไว้ในงานเขียนของตัวเองว่า
"จริงๆแล้ว ประเด็นสำคัญของการทดลอง คือมุ่งหาหนทางที่จะปลูกถ่ายหัวใจ หรือแม้แต่อวัยวะอื่นๆให้กับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัยต่างหาก"
ปี 1960 เดมิคอฟตีพิมพ์หนังสือวิชาการในชื่อ "Experimental Transplantation of Vital Organs" ที่ซึ่งเขาได้บรรยายรายละเอียด ขั้นตอนการทดลอง และเทคนิคการผ่าตัดที่เขาคิดว่าอาจเป็นประโยชน์ หนังสือถูกแปลเป็นภาษาตะวันตกจำนวนมาก
ในหนังสือ "Landmarks in Cardiac Surgery" โดยสตีเฟน เวสเตบี้ ได้ระบุย้อนไปในปี 1962 หลังจากบทความของเดมิคอฟเรื่องการปลูกถ่ายหัวสุนัข ตีพิมพ์ใน The Cape Argos newspaper ว่า มีแพทย์หนุ่มชาวแอฟริกาใต้ชื่อ ดร.คริสเตียน บาร์นาร์ด เขาเป็นศัลยแพทย์ด้านหัวใจอยู่ที่โรงพยาบาล Groote Schuur ได้อ่านบทความของเดมิคอฟในหนังสือพิมพ์ และกล่าวกับเวสเตบี้ว่า "อะไรที่พวกรัสเซี่ยนทำได้ เราก็ทำได้เหมือนกัน!"
บ่ายวันนั้น เขาลงมือผ่าตัดปลูกถ่ายหัวสุนัขตัวหนึ่งลงในสุนัขอีกตัว สุนัขตัวนั้นมีชีวิตรอดได้นานสองสามวัน
ในอีกหลายปีต่อมา ชื่อของ ดร.คริสเตียน บาร์นาร์ด จะเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายหัวใจมนุษย์ได้สำเร็จเป็นคนแรก โดยใช้หัวใจจากบุคคลนิรนามที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะจนถึงแก่ชีวิต
ปี 1997 หนึ่งปีก่อนวลาดิเมียร์ เดมิคอฟจะเสียชีวิต ดร.บาร์นาร์ดเขียนจดหมายถึงเพื่อนร่วมงาน เขาให้เครดิตผลงานของตนว่ามาจากการทดลองต่างๆของเดมิคอฟ
"เขาควรเป็นบุคคลที่ต้องได้รับการจดจำ ในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยทางการแพทย์มากมาย ทั้งที่เวลานั้นยังไม่เกิดเครื่องมือช่วยการทำงานของหัวใจและปอดนอกร่างกายด้วยซ้ำ ผมพูดได้ว่า ถ้าอยากให้ใครเป็นบิดาแห่งการปลูกถ่ายหัวใจและปอดล่ะก็ เดมิคอฟนี่ล่ะที่สมควรได้รับคำยกย่องนั้น"
ถึงแม้จะมีผลงานทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์มากมาย แต่เดมิคอฟกลับไม่ค่อยมีชื่อเสียงเท่าที่ควร แม้แต่ในประเทศของตัวเอง จนกระทั่งปี 1998 เดมิคอฟเพิ่งได้รับรางวัล "Order for Services for the Fatherland" หรือ "การยกย่องให้แก่บุคคลที่รับใช้ประเทศชาติอย่างดียิ่ง" เป็นครั้งแรก
เดมิคอฟเสียชีวิตในวันที่ 22 พฤศจิกายน ปี 1998 ศิริอายุได้ 82 ปี (via wikipedia)
ฟุตเทจเดี่ยวกับสุนัข 2 หัวของเดมิคอฟ:
1
โฆษณา