Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ทนายน้อยหน่า
•
ติดตาม
7 มิ.ย. 2020 เวลา 10:39 • การศึกษา
เงินกับกฎหมายครอบครัว ตอน
"หนี้สินระหว่างสามีภรรยา"
เราได้ทราบเรื่องสินส่วนตัว/สินสมรสจากตอนที่1 และเรื่องการจัดการสินสมรสจากตอนที่2 มาแล้ว ในบทความนี้จะเขียนถึงหนี้สินระหว่างสามีภรรยา
เมื่อได้จดทะเบียนสมรสกันแล้ว สามีภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแม้ว่าไม่เคยก่อหนี้สินใดเลย วันดีคืนดีก็อาจมีหมายศาลมาที่บ้านในฐานะถูกฟ้องผิดนัดชำระหนี้จากการเป็นลูกหนี้ร่วมที่คู่สมรสอีกฝ่ายไปก่อไว้ก็ได้ ดังนั้นเราควรจะรู้ว่าหนี้แบบไหนที่กฎหมายถือว่าเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภรรยา
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 บัญญัติว่า “หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้
(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
(2) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส
(3) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน
(4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน”
หนี้ตามมาตรา 1490(1),(2),(3) อ่านเข้าใจไม่ยากความหมายตรงตามตัวอักษร มีที่ต้องทำความเข้าใจคือ มาตรา 1490(4) ที่ว่าอีกฝ่ายได้ให้สัตยาบันหมายความว่าอย่างไร อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือหนี้ที่สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ของฝ่ายนั้นฝ่ายเดียวแต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้การรับรองนิติกรรม
ตัวอย่างเช่น นายธีระกับนางลิลลี่เป็นสามีภรรยาจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย นายธีระได้ไปทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ให้นายวินซึ่งเป็นเพื่อนสนิท ในวันทำสัญญานายธีระได้ชวนนางลิลลี่ไปเป็นเพื่อนและเซ็นเป็นพยานในสัญญาค้ำประกัน ดังนั้นหากนายวินผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้ของนายวินสามารถฟ้องนายธีระและนางลิลลี่ในฐานะผู้ค้ำประกันได้แม้ว่านางลิลลี่จะไม่ได้เซ็นชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาก็ตาม แต่การเซ็นเป็นพยานทำให้นางลิลลี่กลายเป็นลูกหนี้ร่วมกับนายธีระโดยผลของกฎหมาย
การเป็นลูกหนี้ร่วมมีผลอย่างไร มาตรา 1489 ได้บัญญัติว่า “ถ้าสามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย” หมายความว่าหากสินสมรสยังไม่พอชำระหนี้ร่วมนั้น เจ้าหนี้ก็บังคับเอากับสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายได้ หรือจะบังคับพร้อมกันทั้งสินสมรสและสินส่วนตัวก็ได้ หรือจะบังคับเอาจากเฉพาะสินส่วนตัวก็ได้ อยู่ที่ตอนบังคับคดีว่าตอนนั้นเจ้าหนี้จะสืบทรัพย์เจอทรัพย์สินจากส่วนไหน
แต่หากเป็นหนี้ส่วนตัวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กฎหมายห้ามบังคับเอากับสินส่วนตัวของอีกฝ่าย โดยมาตรา 1488 บัญญัติว่า “ถ้าสามีหรือภริยาต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเพื่อชำระหนี้ที่ก่อไว้ก่อนหรือระหว่างสมรส ให้ชำระหนี้นั้นด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายนั้น”
จะเห็นว่ากรณีเป็นหนี้ส่วนตัวอย่างมากที่สุดที่เจ้าหนี้จะบังคับเอาได้ก็คือสินสมรส แต่จะไม่สามารถบังคับเอากับสินส่วนตัวของอีกฝ่ายที่ไม่ได้ก่อหนี้ได้เลย ดังนั้นการลงชื่อเป็นพยานในสัญญาต่าง ๆ ของคู่สมรสต้องตระหนักเลยว่านั่นคือการนำตัวเองไปเป็นลูกหนี้ร่วมด้วยแล้ว ข้อสำคัญอย่าไปคิดว่าตนเองไม่มีทรัพย์สินใดจะให้บังคับคดี เพราะการบังคับคดีสามารถอายัดเงินเดือนได้ และหากเจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ใด ๆ ได้ เจ้าหนี้ก็สามารถฟ้องลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายได้หากมีหนี้สินตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งการเป็นบุคคลล้มละลายจะไม่สามารถทำธุรกรรมใด ๆ ได้เลย แม้แต่ทำประกันชีวิตให้ตัวเองก็ยังทำไม่ได้
ดังนั้นการเป็นสามีภรรยากัน เรื่องเงินทั้งทรัพย์สินและหนี้สินจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องพูดคุยกันและคอยห้ามปรามกันหากเห็นว่าอีกฝ่ายจะใช้เงินไปในทางที่ไม่สมควร เช่นเล่นการพนัน เล่นแชร์ลูกโซ่ เป็นต้น
หมายเหตุ: ในทางปฏิบัติจะมีข้อเท็จจริงที่การลงชื่อเป็นพยานอาจไม่ใช่การให้สัตยาบันตามนัยของมาตรา 1490(4) แต่ในบทความนี้มีจุดมุ่งหมายให้ผู้อ่านเกิดความตระหนักและระมัดระวัง
#ทนายน้อยหน่า
7 มิถุนายน 2563
#FinanceAndLaw
เป็นกำลังใจให้นักเขียนด้วยการกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันค่ะ
อ่านสินส่วนตัว/สินสมรส กดติดตามใน blockdit
https://www.blockdit.com/articles/5ecbfd123e70b1180d862ff2
อ่านการจัดการสินสมรส กดติดตามใน blockdit
https://www.blockdit.com/articles/5ed36e6af488d90cadabf2b0
บันทึก
3
2
8
3
2
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย