7 มิ.ย. 2020 เวลา 12:43 • การเมือง
EP. 6 บริบทของการพัฒนาประชาธิปไตย (2)
หลักฐานจากการศึกษาความสำเร็จหรือล้มเหลวของประชาธิปไตยในรอบกว่าศตวรรษที่ผ่านมาบ่งชี้ว่ามีเงื่อนไขสำคัญบางประการที่จะทำให้การเมืองแบบประชาธิปไตยมีความยั่งยืน แต่เงื่อนไขเหล่านี้เกิดขึ้นในบางประเทศและไม่เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ เงื่อนไขดังกล่าว [1] ได้แก่
1. การเมืองแบบประชาธิปไตยจะมีความยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อรัฐมีความชอบธรรมทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ประชาชนส่วนใหญ่ต้องยอมรับว่าพรมแดนและระบบที่กำหนดไว้เพื่อจัดระเบียบองค์กรของรัฐเป็นสิ่งที่ถูกต้อง มิฉะนั้นจะเกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงต่อการเมืองแบบประชาธิปไตย เช่น อาจเกิดการปฏิวัติแล้วก็ปฏิวัติซ้อน เกิดการแยกดินแดนและสงครามกลางเมือง
protest against the third term of President Nkurunziza in Burundi (photo credit: Reuters)
2. การมีประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ จำเป็นต้องไม่มีการคุกคามอย่างร้ายแรงต่อการยอมรับอิทธิพลและอำนาจของรัฐจากองค์กรภายนอก เช่น จากกองกำลังหรือกองทัพส่วนบุคคล ในกรณีที่กองทัพดังกล่าวได้ถือกำเนิดหรือมีบทบาทในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย การสลายกองทัพดังกล่าวหรือการผนวกเข้าไปในกองทัพประจำการของระบอบใหม่ได้สำเร็จ จะมีผลอย่างมากในการเสริมสร้างเสถียรภาพของประชาธิปไตยที่เกิดใหม่
3. เนื่องจากว่าเงื่อนไขหนึ่งของประชาธิปไตยคือสังคมในวงกว้างจะต้องมีศรัทธาและภักดีต่อกระบวนการทำงานแบบประชาธิปไตย พรรคการเมืองที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งต้องยอมรับผลของการเลือกตั้งและยอมรับในสถานภาพ “ฝ่ายค้านที่ภักดี (loyal opposition)” กล่าวคือต้องไม่หันไปเข้ากับพวกต่อต้านประชาธิปไตย ไม่ขู่ที่จะล้มประชาธิปไตยโดยใช้กลวิธีทางประชาธิปไตยเองหรือไม่หันไปใช้ความรุนแรง
4. การทำให้การเมืองแบบประชาธิปไตยมีความยั่งยืนขึ้นอยู่กับความยับยั้งชั่งใจของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งว่าจะไม่วางนโยบายที่เน้นการเปลี่ยนแปลงมากจนเกินไป เพราะถ้ารัฐบาลใหม่วางนโยบายที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงและทำให้กลุ่มทางสังคมสำคัญๆ เสียผลประโยชน์อย่างรุนแรง ก็จะเป็นการคุกคามการเมืองแบบประชาธิปไตยได้เช่นเดียวกัน
5. เงื่อนไขข้อหนึ่งสำหรับการทำงานของการเมืองแบบประชาธิปไตยคือ ต้องมีประชาสังคม (civil society) ที่ประกอบไปด้วยหลากหลายกลุ่ม ประชาสังคมเป็นสังคมที่มีการจัดการกันเองในหมู่บุคคลและองค์กรอาสาสมัครต่างๆ ทำกิจกรรมด้านวัฒนธรรมการเมืองหรือเศรษฐกิจโดยไม่มีการควบคุมโดยตรงจากรัฐ ตัวอย่างของกลุ่มต่างๆ อาทิ กลุ่มยุวชน สหภาพแรงงาน องค์กรทางธุรกิจ กลุ่มผู้บริโภคและกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ซึ่งทั้งหมดมุ่งที่จะกดดันและพยายามจำกัดอำนาจของรัฐ อันเป็นการเสริมสร้างและเน้นย้ำแนวปฏิบัติแบบจัดการกันเองโดยวิถีทางประชาธิปไตยในบริบทของสังคมที่มีความสลับซับซ้อน
6. โดยทั่วไป การเมืองแบบประชาธิปไตยจะมีความยั่งยืนได้ยากในสังคมที่มีความแตกแยก มีความตึงเครียดระหว่างภูมิภาคภายในประเทศหรือมีความหลากหลายด้านชาติพันธุ์ ด้านวัฒนธรรม และด้านศาสนา โดยเฉพาะถ้ามีความไม่เท่าเทียมกันในทางวัตถุเพิ่มเข้าไปอีกปัจจัยหนึ่ง ประชาธิปไตยจะล้มเหลวถ้าไม่สามารถหาข้อยุติในความขัดแย้งต่างๆ โดยผ่านวิถีทางการเมืองหรือกลไกในเชิงสถาบัน และไม่มีฉันทมติในสังคมว่าจะระบุปัญหาและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมลงได้อย่างไร
7. การมีวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในอดีตได้ทำให้ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมที่มีอยู่แล้วเพิ่มมากขึ้นซึ่งเอื้ออำนวยให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างฉับพลัน วิกฤติการณ์ที่ร้ายแรงจะเป็นตัวกระตุ้นให้ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมมีมากขึ้นและจะไม่เป็นตัวเกื้อหนุนต่อประชาธิปไตย
อ้างอิง
[1] ประมวลจาก Robert A. Dahl, On Political Equality (New Haven, CT: Yale University Press, 2006); Juan J. Linz, The Breakdown of Democratic Regimes: Crisis, Breakdown, and Reequilibration (Baltimore, MD: Johns Hopkins University Press, 1978), 3-124; Adam Przeworski, Sustainable Democracy (New York: Cambridge University Press,1995).
โฆษณา