28 ธ.ค. 2020 เวลา 06:20 • ประวัติศาสตร์
“ตามล่าฆาตกรผู้คุมค่ายกักกัน เอาชวิธ หลังสงคราม”
หนังสือเล่มนี้เล่าถึงคนสองคนในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่อยู่ตรงข้ามกัน คนหนึงชื่อ Rudolf Hoss ผู้บัญชาการค่ายกักกันเอาชวิทโรงงานอุตสาหกรรมเข่นฆ่ามนุษย์ของนาซี ในขณะทีอีกคนหนึ่งคือ Hann Alexander คนเยอรมันเชื้อสายยิวที่ต้องหนีการตามล่าของนาซีไปอยู่ในอังกฤษ และต่อมาทำงานกับกองทัพบกอังกฤษเพื่อตามล่าหา Rudolf ผู้ซึ่งสร้างเวรกรรมไว้มากที่ค่ายกักกันเอาชวิท หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องราวตั้งแต่เด็กของคนทั้งสอง และวิถีโคจรมาชนกันของพวกเขาน่าติดตามมากครับ
รูดอลฟ เกิดในชนบทในรัฐบาเด่นบาเด่นทางตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนี ใกล้กับป่าดำที่มีชื่อเสียง ตอนเป็นเด็กเขาเคยถูกพวกยิบซีจับไปขาย แต่โชคดีที่มีคนไปพบเสียก่อน ในปี ๑๙๑๖ เขาได้สมัครเป็นทหารไปรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยร่วมเป็นพลทหารในกรมทหารม้าที่ ๒๑ ของบาเด่น อายุเขาตอนนั้นแค่ ๑๔ ปีเท่านั้น กรมของเขาถูกส่งไปรบในตะวันออกกลางโดยร่วมรบกับตุรกี เพื่อต่อต้านอังกฤษในอิรักเพื่อช่วงชิงน้ำมันจากที่นั่น
รูดอลฟมีลักษณะผู้นำทางทหารที่กล้าหาญมากคนหนึ่ง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายอย่างไร เขาสามารถควบคุมสติและต่อสู้กับกองทัพอังกฤษได้อย่างทรหดทีเดียว กรมทหารม้าของเขารบไปทั้วตะวันออกกลางตั้งแต่อิรักจนกระทั่งเยรูซาเลม ซูเอส และจาฟฟา
วันที่ ๑๑ ตุลาคม ปี ค.ศ. ๑๙๑๘ เยอรมนี ยอมเซ็นสัญญาสงบศึกกับฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่๑ เยอรมันยอมแพ้สงคราม มีผู้เกี่ยวข้องกว่า ๗๐ ล้านคน และเสียชีวิตไป ๙ ล้านคน ตอนนั้น รูดอลฟยังรบอยู่ในดามัสคัส กองทัพบกเยอรมมันบอกให้เขายอมจำนน แต่ลูดอลฟกับทหารของเขาไม่ยอมจำนน กลับสู้รบต่อไปเพื่อไม่ให้เป็นเชลยศึก เขามียศเป็นแค่จ่าซึ่งยังหนุ่มมาก แต่เขาบอกทหารของเขาว่าเขาจะพาพวกเขากลับบ้าน ในทันที่ที่เขาบอกเช่นนั้น ทหารของเขาอายุอยู่ระหว่าง ๒๐ ถึง ๓๐ ยอมสาบานว่าจะร่วมรบกับเขาต่อไป ทั้งที่เขามีอายุเพียง ๑๖ ปีเท่านั้น เขาใช้เวลานาน ๓ เดือน กว่าที่จะสู้รบตลอดทางเพื่อกลับไปยังเยอรมนี
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ยังมีการต่อสู้กันต่อไปอีก โดยเฉพาะในโปแลนด์ และประเทศในกลุ่มบอลติก คือ ลัตเวีย ลิทัวเนีย โดยมีการจัดตั้งหน่วย Freikorps ซึ่งรวบรวมอาสาสมัครทหารผ่านศึกเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ ๑ นำโดย Gerhard Rossbach เป็นกองทัพอิสระ ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลเยอรมนีในสมัยนั้น โดยนักรบพวกนี้ส่งไปต่อสู้กับรัสเซียในลัตเวีย และลูดอลฟก็สมัครเป็นทหารในไฟร์คอร์ปเพื่อไปรบที่ลัตเวีย มีกำลังพลมากถึง ๒ แสนนาย อุดมการณ์ก็คือการป้องกันการคืบคลานของคอมมิวนิตส์ สภาพเบอร์ลินหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ มีแต่ความวุ่นวาย มีการเดินขบวนมากมาย และมีการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายขวาจัด กับ ฝ่ายซ้ายคอมมิวนิตส์ รัฐบาลตอนนั้นคือ Friedrich Ebert ซึ่งต้องอาศัยทหารผ่านศึกต่อสู้กับพวกปฏิวัติ เรียกว่าหลังสงครามแล้วเยอรมนียังคงยุ่งเหยิงกับการต่อสู้กันเอง ทุกวันมีนักการเมืองถูกสังหารเป็นศพลอยในคลองในกรุงเบอร์ลินแทบทุกวัน
สถานการณ์ในลัตเวียโกลาหลมาก เพราะมีการต่อสู้กันระหว่าง เยอรมันกับรัสเซียน ลัตเวียน กับลัตเวียนกันเอง และที่นี่เองที่เป็นสงครามที่โหดร้ายมาก เพราะเป็นสงครามระหว่างประชาชนกับประชาชน มีการเผาคนทั้งเป็นในหมู่บ้านที่เป็นปฏิปักษ์ไม่เว้นเด็กและผู้หญิง และใครก็ตามที่ทรยศกับกลุ่มของพวกเขาจะถูกยิงทิ้งทันที ขณะที่เขารบอยู่ที่ลัตเวีย เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในกรุงเบอร์ลิน และรัฐบาลใหม่นี้ประกาศรัฐธรรมนูญใหม่ ก่อตั้ง Weimar Republic รัฐบาลนี้สนับสนุนอาวุธให้กับไฟรคอร์ป แต่ประกาศต่อสาธารณชนว่าเป็นพวกนอกกฏหมาย และนีก็เป็นสาเหตุให้รัฐบาลไวมาร์กลายเป็นศตรูของไฟร์คอร์ป
โฆษณา