8 มิ.ย. 2020 เวลา 02:25 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
วันที่ 5 มิถุนายน เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก
แม้ว่าจะมีคนโพสรูปหรือข้อความหรือคำขวัญอะไรมากมาย
ทุกคนตระหนักว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะขยะ มลพิษ ภัยแล้ง การตัดไม้ทำลายป่าล้วนมีอยู่จริงและเป็นเรื่องน่ากังวล
แต่ทำไมเรื่องสิ่งแวดล้อมดูเป็นเรื่องไกลตัวของพวกเรา(คนเมืองหลวง)
เสียเหลือเกิน ….
เรากลัวโลกร้อนแต่ก็ยังเปิดแอร์เย็นๆ
เรากลัวโลกร้อนแต่ขับรถไปปากซอยเพื่อซื้อน้ำขวดในร้านสะดวกซื้อ
เรากลัวว่าพลาสติกจะไปเป็นขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายหรือกำจัดได้แต่ก็ยังดูดน้ำจากหลอด ซื้อน้ำบรรจุขวดพลาสติก
อะไร? เป็นสาเหตุที่การกระทำของเราสวนทางกับความหวั่นวิตกของเราเสียเหลือเกิน
…. สงครามในซีเรียประทุคุกกรุ่นมายาวนานกว่า 7 ปี
มีคนตายไม่ต่ำกว่า 4 แสนคนพิการอีกเกิน 1.5 ล้านคน
อีกกว่า 6 ล้านต้องอพยพทิ้งบ้านตัวเองไปอยู่ที่อื่น
แต่เรา (คนไทย) จำนวนน้อยมากที่สะเทือนใจอย่างรุนแรงเทียบกับข่าวยิงสือดำหรือคดีฆ่าหั่นศพของสาวเปรี้ยว
เพราะอะไร? ทำให้คน 4 แสนคนที่ตายอยู่อีกฟากหนึ่งของโลกกระทบต่อจิตใจเราน้อยกว่าการตายของเพื่อนบ้านของเรา
วิทยาศาสตร์มีคำตอบ ….
มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมที่เป็น super social คือต้องพึ่งพาสังคมและกลุ่มของตัวเองอย่างมากในการจะมีชีวิตรอดได้ (อย่างน้อยก็ในสมัยอดีต)
การอยู่ตัวคนเดียวท่ามกลางธรรมชาติอันโหดร้ายในยุคโบราณเป็นความเสี่ยงมากพอๆกับการเผชิญหน้ากับผู้ล่า
ดังนั้นมนุษย์เราจึงมีแนวโน้มที่จะผูกพันธ์กับคนในสังคมเดียวกัน หรือคุ้นเคยกันมากกว่าคนที่อยู่ไกลๆ
เรามีความรู้สึกถึงการเป็นพวกเดียวกันหรือเชื่อมโยงกันมากกว่าคนที่หน้าตาไม่เหมือนกัน ใช้ภาษาไม่เหมือนกันหรืออยู่กันไกลคนละซีกโลก
เลยไม่แปลกใจที่ระดับความสะเทือนใจของการจากไปของคนใกล้ตัวจะรุนแรงกว่าการตายของคน 4 แสนคนในอีกซีกโลก ….
สิ่งแวดล้อมก็ไม่ต่างกัน…
“ออทีเกอต่อที ออก่อเกอตอก่อ”
เป็นสุภาษิต ปกาเกอญอ แปลว่า “กินน้ำต้องรักษาน้ำ อยู่ป่าต้องรักษาป่า”
กะเหรี่ยงปกาเกอญอ อยู่กับป่ามานานหลายร้อยปี
พวกเขาเรียนรู้ที่จะอยู่ใกล้ชิดป่า อาศัยและดูแลไปพร้อมๆกัน
เสมือนหนึ่งว่าป่าคือญาติสนิทของพวกเขา
ปกาเกอญอ มีธรรมเนียมมากมายเกี่ยวกับป่าและน้ำ
เช่น ห้ามทำไร่ในเขตต้นน้ำ ห้ามทำไร่สองฝั่งแม่น้ำ ห้ามทำไร่บนยอดเขา
ห้ามทำไร่ซ้ำๆกันไปเรื่อยๆ
ทั้งหมดสะท้อนความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดของชาวปกาเกอญอกับธรรมชาติ
ในขณะที่คนเมืองเพียงแต่เปิดก็อกก็มีน้ำไหล
เราไม่เคยสงสัยว่าน้ำมาจากไหน
เราเดินเข้าร้านสะดวกซื้อก็มีของกินมีแอร์เย็นๆ
โดยไม่ต้องรู้ว่าต้นทางของอาหารหรือไฟฟ้ามาจากที่ไหนและปลายทางของสิ่งที่เราซื้อจะไปที่ใด
เมื่อเรายังห่างไกลกับธรรมชาติ
คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะแคร์สิ่งแวดล้อมมากไปกว่าการแคร์แมวที่บ้าน
หรือแคร์ความสะดวกของตัวเอง
เพราะเราหาความเชื่อมโยงกับมันชัดๆไม่ได้
เมื่อไม่เชื่อมโยงเราจึงนึกไม่ออกว่าการกระทำของเรากระทบต่อสิ่งแวดล้อมแค่ไหน
ความหวังในการบอกว่าให้ทุกคนมาช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม หรือจัดตั้งวันสิ่งแวดล้อมโลกเลยกลายเป็นแค่กิจกรรมที่เปลืองเปล่า ที่ไม่มีวันเห็นผลได้เลยตราบใดที่ความเดือดร้อนยังไม่มาเยือนที่หน้าประตู …
แด่วันสิ่งแวดล้อมโลกอันแสนกลวงเปล่า
5 มิถุนายน 2563
โฆษณา